โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
วันนี้เรามาคุยสรุปกันถึงเรื่องที่ค้างไว้เมื่อครั้งที่แล้ว ว่ามีวิธีง่ายๆในการบริหารภาษีการรับมรดกหรือไม่ แบบที่ไม่ต้องโอนสัญชาติ ไม่ต้องย้ายบ้านออกนอกประเทศ
จริงๆ ก็มีวิธีนะและบางวิธีก็กล่าวถึงไปบ้างแล้ว อย่างเช่น การให้มรดกในสิ่งที่ไม่ใช่มรดก อย่างเช่น การทำประกันชีวิตระบุชื่อ ทายาทเป็นผู้รับประโยชน์ สินไหมกรณีเสียชีวิต บริษัทประกันจ่ายให้ผู้รับประโยชน์หลังผู้เอาประกันถึงแก่ความตาย จึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย เมื่อไม่ใช่มรดก ผู้รับประโยชน์ก็ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก แถมผลประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตยังได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมายด้วย หรือ อย่างเช่น การทิ้งมรดกในรูปทรัพย์มรดกที่ไม่มีทะเบียน ก็เป็นอีกทางเลือก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอื่นอีกที่น่าสนใจ ดังนี้
ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีมรดก
• ผู้รับมรดกที่เจ้ามรดกตายก่อนวันที่ พรบ. นี้ใช้บังคับ
• คู่สมรสของเจ้ามรดก
• ผู้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนา หรือ เห็นได้ว่าประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา การศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
• หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
• บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญาหรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
จากกฎหมายกำหนดให้คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก ดังนั้น การทำพินัยกรรมระบุให้คู่สมรสเป็นผู้รับมรดกเพียงคนเดียว ก็จะช่วยยืดระยะเวลาการเสียภาษีการรับมรดกได้ เพราะอย่างไร คู่สมรสในที่สุดก็ต้องเสียชีวิต มรดกก็ต้องตกทอดไปสู่ทายาทอยู่ดี แต่อย่างน้อย ก็ยังช่วยให้มีเวลามากขึ้นในการวางแผนการเสียภาษ๊
วิธีการยื่นแบบฯ และกำหนดเวลาการยื่นแบบฯ
1. ต้องยื่นแบบฯ ภายใน 150 วันนับแต่วันที่ได้รับมรดก
2. ต้องไปยื่น ณ สรรพากรพื้นที่สาขาหรือ สถานที่อื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
3. เจ้าพนักงานสรรพากรมีอายุความการตรวจสอบความถูกต้อง 1 ปีนับแต่วันยื่นแบบ แต่อาจขยายอายุความได้และสูงสุดไม่เกิน 3 ปี
4. หากมีการคำนวณผิดพลาดภายในระยะเวลาตาม 3. ให้นำเงินมาเสียโดยไม่มีเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม
5. แต่หากผิดพลาดเพราะหลบรายการ ให้ประเมินภาษีโดยมีเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม หรือ เงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ต้องเสียโดยไม่รวมเบี้ยปรับ
6. ถ้าผู้รับมรดกตายในระหว่างระยะเวลาตาม 3. ให้ผู้จัดการมรดกรีบดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการตามอายุความ หากเกินกำหนดอายุความต้องเสียเบี้ยปรับ 1 เท่าและเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนตามที่กล่าวมาแล้วภายใน 150 วันนับจากวันแต่งตั้ง หากเกินกำหนดต้องเสียเบี้ยปรับเป็น 2 เท่า และ เงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน
7. อายุความสูงสุด 10 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี
8. เงินเพิ่มต้องไม่เกินเงินภาษีที่ต้องเสียโดยไม่รวมเบี้ยปรับ
9. สามารถผ่อนชำระภาษีได้ไม่เกิน 2 ปี โดยไม่ต้องมีเงินเพิ่ม
10. หากผ่อนฯ เกิน 2 ปีแต่รวมแล้วไม่เกิน 5 ปี อาจต้องเสียเงินเพิ่ม
11. หากมีการยื่นแบบฯแล้วเสียภาษีเกิน ย่อมสามารถขอคืนได้ โดยมีระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันชำระภาษี
12. เจ้าหน้าที่มีระยะเวลาในการตรวจขอคืนภายใน 150 วันนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืน และมีระยะเวลาต้องคืนภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ตรวจเสร็จเรียบร้อย
13. การขอคืนภาษีมรดกไม่มีดอกเบี้ย ต่างจากการขอคืนภาษีเงินได้
14. ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย อาจถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาจ่ายภาษี โดยกรมสรรพากรไม่ต้องขออำนาจศาล
สิทธิโต้แย้งการประเมิน
• ไม่เห็นด้วยต้องรีบอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับการแจ้งการประเมิน
• คณะกรรมการอุทธรณ์มีเวลาพิจารณา 180 วันนับแต่วันได้รับคำอุทธรณ์แต่อาจขยายออกไปอีกได้มากสุดอีกไม่เกิน 90 วัน
• หากยังพิจารณาไม่เสร็จภายในเวลาที่อนุญาต ฟ้องศาลได้เลยไม่ต้องรอผล หากต้องการ
• หากพิจารณาเสร็จแล้วในกำหนดเวลา แต่ยังคงไม่เห็นด้วยอีก ให้ฟ้องศาลแต่ต้องฟ้องภายใน 180 วันนับแต่วันทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์
• การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษี ต้องขออนุมัติเพื่อทุเลาการเลียภาษีเท่านั้น หากไม่ต้องการเสียภาษีในช่วงรออุทธรณ์
บทลงโทษ เบี้ยปรับ – เงินเพิ่ม
ไม่ยื่นแบบภายในกำหนดเวลา
• เสียเบี้ยปรับ 1 เท่าของเงินภาษี
• เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ
ยื่นแต่ไม่ครบ
• เสียเบี้ยปรับ 0.5 เท่าของเงินภาษี
• เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ
บทลงโทษทางอาญา
• เจตนาเลี่ยงไม่ยื่นแบบฯ ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
• แจ้งความเท็จ หรือแนะนำให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว หรือใช้กลอุบายพยายาม ฉ้อโกง หลีกเลี่ยงการเสียภาษี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
• ผู้ใดทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นทรัพย์สินมรดกไปให้ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 4 แสนบาท
กลยุทธ์การวางแผนภาษีการรับมรดก
• บริหารมรดกสุทธิต่อผู้รับมรดกให้ไม่เกิน 100 ลบ. ด้วยวิธี
• ให้ก่อนเสียชีวิตไม่เกิน 20 ลบ./ปี
• กระจายผู้รับ หรือ กระจายผู้ให้
• เปลี่ยนรูปการถือครองทรัพย์สินไปทรัพย์สินที่ไม่มีทะเบียน เช่น เงินสด ทองคำ อัญมณี เพชร ฯลฯ
• ถ้าผู้รับมรดกยังไม่มีเงินมาเสียภาษี เก็บมรดกไว้ในกองมรดก เมื่อไม่มีการรับมรดก ก็ไม่เสียภาษีการรับมรดก แต่ถ้ากองมรดกมีเงินได้ กองมรดกก็ต้องเสียภาษีเงินได้ในฐานะ “กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง”
• มอบในสิ่งที่ไม่ใช่มรดกให้ทายาท อย่างเช่น การทำประกันชีวิตโดยให้ลูกหลานเป็นผู้รับผลประโยชน์ แทนที่จะทิ้งเป็นเงินฝากให้ลูกหลาน เพราะสิทธิในการได้รับเงินประกันชีวิต เกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย (ฎีกาที่ 4714/2542)
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 2
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 1
ความจริงความคิด : เงินเกษียณ ประกันสังคม เกณฑ์ใหม่ที่ควรรู้
ความจริงความคิด : สัญญาณอันตราย เมื่อกระแสเงินสดเข้าน้อยกว่ากระแสเงินสดจ่าย
ความจริงความคิด : ทักษะทางการเงิน
ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน