โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
กลยุทธ์การโกงของมิจฉาชีพมีหลากหลายรูปแบบจริงๆ ไม่ว่าจะมาในรูป “มีของส่งไปรษณีย์มาถึงเรา” “บัญชีเราจะถูกระงับการเดินบัญชี” “มีใบสั่งจากกองบังคับการตำรวจจราจร” “บัญชีต้องสงสัยการฟอกเงิน” “เสียภาษีให้สรรพากร” ฯลฯ เราคงตามไม่ทันนะว่าพวกมิจฉาชีพจะหลอกเราด้วยเรื่องอะไร แต่อย่างน้อยเราก็น่าจะตามทันว่ามิจฉาชีพหลอกเรายังไง ด้วยการศึกษา จิตวิทยาการโกง โดยจิตวิทยาการโกงอันถัดไปที่อยากแชร์ ก็คือ Success Factor ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนทุกคนต้องการความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน คือ อยากรวย อยากมีชื่อเสียง อยากเที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ มีคำกล่าวว่า “อำนาจและความน่าเชื่อถือมาพร้อมความสำเร็จเสมอ แค่เราแต่งตัวดี ดูแลตัวเองดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง” ซึ่งแปลว่า เรามักจะตัดสินความสำเร็จของคนจากเปลือกนอกที่เขาแสดง เช่น การแต่งกาย บุคลิก การใช้จ่าย ฯลฯ เราจึงเห็นพวก “รสนิยมหรู รายได้ต่ำ” เต็มไปหมดในสังคมไทย และกลายเป็นปัญหาหนี้ของคนไทยโดยเฉพาะวัยรุ่นในที่สุด
เมื่อการมีรสนิยมสูง มีรถหรูขับ คือ สัญลักษณ์ของความสำเร็จ เราจึงสังเกตได้ง่ายๆ กลยุทธ์หนึ่งที่ใช้กันมากจนเป็นวัฒนธรรมในการเชิญชวนคนร่วมทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการชวนมาเป็นตัวแทนประกันชีวิต ชวนมาลงทุน ชวนมาเป็นสมาชิกในธุรกิจขายตรง ฯลฯ จะใช้ความร่ำรวยของคนเก่า เช่น มีเงินเก็บ 10 ล้านได้ใน 3 ปี หรือ ปลดหนี้ 50 ล้านได้ใน 5 ปี และมักจะมีการถ่ายรูปคู่กับรถหรู
บางงานถึงกับให้ทีมงานเช่ารถหรูขับมาโชว์ในงาน มีการถ่ายหน้าสมุดบัญชีเงินฝากโชว์ตัวเลขยอดรายการเดินบัญชี หรือโชว์ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย ฯลฯ เพื่อหลอกให้คนเข้าใจว่าความสำเร็จมีจริงทำได้ง่าย โดยงานเชิญชวนมักจะจัดในโรงแรมหรู มีโปสเตอร์หน้างานอลังการ เปิดเพลงสร้างความฮีกเหิม สร้างบรรยากาศของการประสบความสำเร็จตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไปในงาน และเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือก็คือ วิทยากร ซึ่งมักจะเป็นคนหนุ่มสาว แต่งตัวใส่สูทดูดีมีรสนิยม พูดจาฉะฉาน มีพลัง ไม่เชื่อเราลองไปดูคดีแชร์ลูกโซ่ที่ผ่านมาสิ มิจฉาชีพล้วนเป็นพวกดูดี มีสกุลทั้งนั้น จนเราเองก็หลงคิดไปว่า พวกนี้รวย มีชื่อเสียง คงไม่มาโกงเราหรอก ซึ่งก็เพราะพวกมิจฉาชีพรู้ว่าเราคิดแบบนี้ ก็เลยใช้กลยุทธ์นี้มาหลอกเราไง
ทั้งนี้ก็เป็นไปตามหลักจิตวิทยาเช่นกัน มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (University of California, Los Angeles:UCLA) โดยดอกเตอร์ อัลเบิร์ต เมราห์เบียน (Albert Mehrabian) ที่ได้ทำการวิจัยพฤติกรรมของมนุษย์ พบว่ามี 3 องค์ประกอบหลักที่ทำให้คู่สนทนาเกิดการรับรู้และจดจำข้อความหรือการสื่อสารจากฝ่ายตรงข้ามที่ส่งผลมากที่สุด โดยได้เสนอกฎ “93-7” ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
• 7% คือ คำพูด
• 38% คือ น้ำเสียง
• 55% คือ บุคลิกภาพ หรือ ภาษากาย ซึ่งรวมถึงการแต่งตัว
แปลว่าหากแต่งตัวดี บุคลิกดี น้ำเสียงดี คนก็พร้อมที่จะเชื่อไปแล้วถึง 93% เคยมีรายงานวิจัยอันนึงที่สนับสนุกฎนี้พบว่า แค่ใส่สูท ผูกไทค์เดินข้ามถนน จะมีคนข้ามตามถึง 350%
มีสำนวนฝรั่งอันนึงที่เตือนใจเรื่องนี้ได้ดีเลยทีเดียว คือ “Don’t judge a book by its cover.” แปลว่า อย่าตัดสินหนังสือที่หน้าปก เพื่อกล่าวเตือนสติว่าอย่ามองอะไรจากภายนอกเพียงอย่างเดียว ด้วยว่าหนังสือเล่มหนึ่งจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาภายใน มิใช่เปลือกนอกที่ห่อหุ้มห่มคลุมมันเอาไว้ หรือหากอธิบายให้เข้าใจกว่านี้ก็คือ อย่าตัดสินคนที่ภายนอก เป็นสำนวนน่าคิดที่สอนให้เรารู้ว่า การที่เราจะมองใครก็ตามอย่าพึ่งตัดสินหรือด่วนสรุปว่าคนๆ นั้นจะเป็นแบบนั้นจะเป็นแบบนี้ เพียงแค่มองจากภายนอก โดยไม่ได้มองลึกเข้าไปภายในจิตใจ
ผมมีสัมภาษณ์เรื่องนี้ใน “รู้ทันปากท้อง” กับตลาดหลักทรัพย์ ตอน “ระวัง! กลโกงแอบอ้างผู้มีชื่อเสียง เอกสารหลอก” “อาแปะ” สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP® ที่ https://fb.watch/fpxkVjssv4/ ครับ
#กูรูปลดหนี้ บอกว่า มิจฉาชีพมีกลโกงหลากหลายรูปแบบ เริ่มจากแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียง เสนอผลตอบแทนสูง ใช้หน้าม้าหลอกล่อ ใช้เอกสารหลักฐานปลอมมาแสดง เรื่องเงินทองอย่าหลงเชื่อใครง่ายๆ นะครับ ต้องตรวจสอบให้ดี
ติดตามรายการ #รู้ทันปากท้อง กับ #ตลาดหลักทรัพย์ ได้ที่ LINE “SET ทั่วไทย” กดเพิ่มเพื่อน https://lin.ee/8XMjNPQ
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : จิตวิทยาการโกง รู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา 1
ความจริงความคิด : ภาษีคลีนิค
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : อย่าเชื่อเพียงเพราะเป็นโฆษณาบนสื่อที่เชื่อถือได้
ความจริงความคิด : 600,000 ปล่อยกูไปตามทางของกูเถอะ
ความจริงความคิด : ภาษีลาภลอย
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน
>ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ