ความจริงความคิด : กองทุนเงินทดแทน และ กองทุนประกันสังคม ต่างกันอย่างไร

โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

มนุษย์เงินเดือนทุกคนเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมโดยกฎหมาย โดยต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 5% ของค่าจ้าง และนายจ้างจ่ายสมทบอีก 5% แถมรัฐบาลจ่ายสมทบให้อีก 2.75% รวมแล้วเท่ากับ 12.75% (ฐานค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท) เท่ากับลูกจ้างมีเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมสูงสุดเดือนละ 1,912.50 บาท

แต่ปรากฎว่าลูกจ้างส่วนใหญ่แทบไม่รู้เลยว่าตนเองได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกประกันสังคมอะไรบ้าง และจะใช้ประโยชน์ต้องทำอย่างไร

และหากกล่าวถึง กองทุนเงินทดแทน หลายคนยิ่งงงใหญ่ ไม่รู้เลยว่า คือ อะไร หลายคนสับสนว่าเป็นอีกชื่อหนึ่งของกองทุนประกันสังคมไปซะอีก เพราะหน่วยงานที่บริหาร ก็คือ สำนักงานประกันสังคม เหมือนกัน แล้วจริงๆ กองทุนเงินทดแทน กับกองทุนประกันสังคม คือ กองทุนเดียวกัน หรือ คนละกองทุนกัน

กองทุนเงินทดแทน

เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เพื่อเป็นทุนในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย สูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพในการทำงาน ของร่างกาย ทุพพลภาพ ตาย หรือสูญหาย อันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โดยนายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพียงฝ่ายเดียว เพียงปีละ 1 ครั้ง มีลักษณะเหมือนเบี้ยประกัน และเมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างแล้วเกิดประสบอันตราย ลูกจ้างก็จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งประกอบด้วยค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนรายเดือน ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพ

เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมจะทำการเรียกเก็บจากนายจ้างเป็นรายปี โดยแจ้งจำนวนเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้ทราบตามใบแจ้งเงินสมทบ เงินสมทบนี้จะคิดจากค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างทั้งปีรวมกัน คูณกับอัตราเงินสมทบของประเภทกิจการนั้นซึ่งนายจ้างแต่ละประเภทจะจ่ายในอัตราเงินสมทบหลักที่ไม่เท่ากัน ระหว่างอัตรา 0.2 % – 1.0 % ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเสี่ยงภัยตามลักษณะงานของกิจการของนายจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบตามอัตราหลัก 4 ปี ติดต่อกันและในปีที่ 5 เป็นต้นไป จะมีการคำนวฯอัตราส่วนการสูญเสียเพิ่มลด -เพิ่ม อัตราเงินสมทบให้นายจ้าง

นายจ้างในทุกประเภทกิจการและทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน และนายจ้างผู้ใดมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบกองทุนแล้วยังคงมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบต่อไป แม้ว่าภายหลังจะมีลูกจ้างไม่ถึง 10 คนก็ตาม

กองทุนเงินทดแทน จะมีสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองที่ได้รับ 4 กรณี ได้แก่

1. ค่ารักษาพยาบาล

– ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง จ่าย 50,000 บาท
– บาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรังจ่ายไม่เกิน 150,000 บาท
– หากไม่เพียงพอจ่ายเพิ่มได้อีก 300,000 บาท
– หากไม่เพียงพอจ่ายเพิ่มได้อีก 500,000 บาท
– หากไม่เพียงพอจ่ายรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 บาท

ทั้งนี้ยกเว้นแต่ ลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษา หรือกรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

2. ค่าทดแทนรายเดือน ได้ค่าทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือน ไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน (ค่าจ้างสูงสุด 20,000 บาท)

– แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว ตั้งแต่วันแรก รวมไม่เกิน 1 ปี
– สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายไม่เกิน 10 ปี
– ทุพพลภาพตลอดชีวิต
– ถึงแก่ความตายหรือสูญหาย 10 ปี และค่าทำศพ

3. ค่าทำศพ จ่ายตามที่กระทรวงกำหนด อัตราที่กำหนดในกฏกระทรวง(ค่าทำศพ 50,000บาท)

4. ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน สำหรับลูกจ้างที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ได้รับตามอัตราดังนี้

– ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัดไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัดไม่เกินวันละ 100 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 24,000 บาท

– ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษา และการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานไม่เกิน 40,000 บาท หากมีความจำเป็นให้จ่ายเพิ่มอีกไม่เกิน 140,000 บาท แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 180,000 บาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์เป็นผู้มีอำนาจพิจารณา
– ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 160,000 บาท
– ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการไม่เกิน 24,000 บาท

กองทุนประกันสังคม คือ กองทุนที่ให้หลักประกันแก่ผู้ที่ประกันตน โดยได้รับเงินสมทบจาก นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล มีสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองที่ได้รับ มี 7 กรณี ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน

1. ประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย
2. คลอดบุตร
3. ทุพพลภาพ
4. สงเคราะห์บุตร
5. ว่างงาน
6. ชราภาพ
7. ตาย

ข้อแตกต่างระหว่างกองทุนเงินทดแทน และกองทุนประกันสังคม

กองทุนเงินทดแทน จะดูแลเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย สูญเสียอวัยวะหรือสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย ทุพพลภาพ ตาย หรือสูญหาย อันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง แต่กองทุนประกันสังคมให้หลักประกันแก่ผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือที่เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย ซึ่งไม่ได้เกิดจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ว่างงาน

• กองทุนเงินทดแทนให้สิทธิประโยชน์ความคุ้มครอง 4 กรณี จะดูแลลูกจ้างเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงาน
• กองทุนประกันสังคม คุ้มครอง 7 กรณี ให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วย แต่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน
• ลูกจ้างไม่ต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน แต่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม

ทั้ง กองทุนเงินทดแทน และกองทุนประกันสังคมจึงเป็นกองทุนที่ร่วมกันให้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลและจ่ายเงินชดเชยแก่ลูกจ้าง เพื่อลูกจ้างจะได้รับการคุ้มครองครอบคลุมทั้งเหตุที่เกิดจากการทำงานและไม่ได้เกิดจากการทำงานนั่นเอง

 

 

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : กรณีตัวอย่างปัญหากองทุนประกันสังคม
ความจริงความคิด : ประกันสังคมไม่ใช่มรดก
ความจริงความคิด : ประกันสังคมเพื่อนคู่ชีวิต ดูแลเราตั้งแต่เกิดจนตาย
ความจริงความคิด : สิทธิประกันสังคมที่ต้องรู้กรณี ว่างงาน
ความจริงความคิด : อยากเป็นสมาชิกประกันสังคม ต้องทำอย่างไร
ความจริงความคิด : เลือกสวัสดิการรักษาพยาบาล บัตรทอง หรือ ประกันสังคม อย่างไหนดีกว่ากัน