ความจริงความคิด : ประกันสังคมเพื่อนคู่ชีวิต ดูแลเราตั้งแต่เกิดจนตาย

โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

คู่ชีวิตเราที่อยู่กันจนแก่เฒ่าสองคนตายาย ก็ยังอยู่ดูแลเราน้อยกว่าประกันสังคม แถมยังใช้เงินเราน้อยกว่าอีกเต็มที่แค่เดือนละ 750 บาท ไม่เหมือนคนที่บ้าน เรามีเท่าไหร่ เค้าเอาหมด (หวังว่าเค้าคงไม่ได้อ่านบทความนี้นะ)

เงินที่เราจ่ายเข้าประกันสังคม เรียกว่า เงินสมทบ โดยจะมีเงินของนายจ้างจ่ายสมทบให้เราด้วยในจำนวนที่เท่ากันในอัตราร้อยละ 5 ของฐานค่าจ้าง โดยลูกจ้างที่จะต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมจะต้องมีฐานค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 1,650-15,000 บาท ดังนั้นจะต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมขั้นต่ำเดือนละ 83 บาทและสูงสุดไม่เกิน 750 บาทเท่านั้น และเป็นหน้าที่ของนายจ้างในการหักเงินสมทบส่วนนี้ทุกครั้งเมื่อมีการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในแต่ละเดือน

เงินที่นายจ้างหักเราส่งสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เงินก้อนนี้เอาไปใช้ในการดูแลเราตลอดชีวิต ดังนี้ครับ

1.5% ดูแลเรื่องเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต ถ้าไม่ใช้สิทธิ์จะไม่ได้เงินในส่วนนี้คืน

0.5% ดูแลเรากรณีกรณีว่างงานหรือถูกเลิกจ้าง หากเราว่างงานก็จะได้รับเงินชดเชยมาใช้ในระหว่างที่หางานใหม่ แต่ถ้าไม่ใช้สิทธิจะไม่ได้เงินในส่วนนี้คืนเช่นกัน

3% สำหรับคุ้มครองสิทธิประโยชน์การสงเคราะห์บุตร และชราภาพซึ่งในส่วนชราภาพคือเงินสะสม และจะได้รับคืนเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์จะได้บำเหน็จหรือบำนาญก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงิน

จะเห็นนะครับ ประกันสังคมดูแลเราตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายจริงๆ และดูแลเราน่าจะครบทุกความเสี่ยงใหญ่ที่เราน่าจะเจอในชีวิตจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย แถมความว่างงานอีกต่างหาก เท่ากับประกันสังคมให้ประโยชน์เราทั้งกรณีมีชีวิตอยู่ คือ แก่ เจ็บ ว่างงาน คลอดบุตร รวมถึงกรณีเสียชีวิต คือ ตาย ด้วย

เมื่อประกันสังคมดีเลิศขนาดนี้ เราก็ควรศึกษารู้ประโยชน์ของประกันสังคมไว้ จะได้ไม่เสียสิทธิ และจะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะหาเงินจากไหน หากแก่ เจ็บ ตาย หรือตกงาน

กรณีเจ็บป่วย

ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์ฯ กำหนด ซึ่งรวมถึงการฉีดวัคซีนตามสถานการณ์การระบาดของโรคที่กำหนดขึ้นในแต่ละปี โดยสามารถเข้ารับบริการได้ ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดสิทธิ ตามสิทธิที่ประกันสังคมกำหนด

เจ็บป่วยปกติ สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลตามสิทธิหรือเครือข่ายของสถานพยาบาลนั้นได้ฟรี โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย ทั้งผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD)
ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน

• กรณีเข้ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลรัฐ: ผู้ป่วยนอก (OPD) เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง ผู้ป่วยใน (IPD) เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ไม่นับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

• กรณีเข้ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลเอกชน: ผู้ป่วยนอก (OPD) เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,000 บาท หรือ เกิน 1,000 บาทได้ หากมีการตรวจรักษาตามรายการในประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ ผู้ป่วยใน (IPD) กรณีที่ไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท ค่าห้องและค่าอาหาร ไม่เกินวันละ 700 บาท และสำหรับกรณีที่รักษาในห้อง ICU เบิกค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง และค่าอาหาร ได้รวมไม่เกินวันละ 4,500 บาท ผ่าตัดใหญ่ เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000-16,000 บาท ค่ายา และค่าอุปกรณ์ เบิกได้ไม่เกิน 4,000 บาท ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ และค่าเอกซเรย์ เบิกได้ไม่เกิน 1,000 บาท

ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้เคียงได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ นับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ทันตกรรม ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด รับค่าบริการทางการแพทย์ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 900 บาท/ปี

กรณีคลอดบุตร

• ผู้ประกันตนหญิง ได้รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท ไม่จำกัดสถานพยาบาลและจำนวนครั้ง พร้อมรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน (สำหรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร สามารถเบิกได้สูงสุดไม่เกิน 2 ครั้ง)

• ผู้ประกันตนชาย ซึ่งมีภรรยาที่จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือมีหญิงที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาท

• พร้อมเบิก ค่าตรวจและฝากครรภ์ ได้สูงสุด 1,500 บาท

กรณีทุพพลภาพ ถ้าทุพพลภาพระดับเสียหายไม่รุนแรง รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 30% หรือในส่วนที่ลดลง ไม่เกิน 30% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 180 เดือน ถ้าทุพพลภาพระดับเสียหายรุนแรง รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างรายวัน ตลอดชีวิต พร้อมค่าบริการทางการแพทย์ (ถ้ามี)

กรณีเสียชีวิต จะได้เงินค่าทำศพ 50,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2- 6 เดือน บวกเงินบำเหน็จชราภาพ

กรณีชราภาพ จะได้รับบำเหน็จ หรือ บำนาญชราภาพ จะได้มากน้อยเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับอายุสมาชิก และ ฐานค่าจ้าง

กรณีสงเคราะห์บุตร รับเงินค่าสงเคราะห์บุตรคนละ 800 บาท/เดือน โดยต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ ครั้งละไม่เกิน 3 คน

กรณีว่างงาน กรณีถูกเลิกจ้าง รับเงินทดแทนในช่วงว่างงาน 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน กรณีลาออก หรือ สิ้นสุดสัญญาจ้าง รับเงินทดแทนในช่วงว่างงาน 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

……………………………………………………………………………………………………..