โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
กล่าวไปถึงประโยชน์ของประกันสังคมว่ามีประโยชน์มากมาย เหมือนเราซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญบวกด้วยสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองด้านการรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ ว่างงาน คลอดบุตร ฯลฯ โดยเบี้ยประกันต่ำมากเมื่อเทียบกับความคุ้มครองหรือสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
หลายคนที่ทราบข้อมูลตรงนี้แล้ว คงอยากเป็นสมาชิกประกันสังคมกันมากขึ้น แต่จะเป็นสมาชิกได้อย่างไร เรื่องนี้ไม่ต้องกังวลครับ เพราะประกันสังคมเป็นการดำเนินการให้ความคุ้มครองด้านการประกันสังคมเป็นการดำเนินการ โดยบังคับตามกฎหมายประกันสังคม
แปลว่าหากมีคุณลักษณะเข้าเงื่อนไขของประกันสังคม ก็ต้องเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม โดยกฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการตามขอบข่ายที่กฎหมายกำหนด ต้องมาขึ้นทะเบียนประกันสังคม รวมทั้งมีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจาก 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เพื่อให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ ได้รับความคุ้มครองด้านการประกันสังคม
โดยผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างกรณีนี้เป็นผู้ประกันตนภาคบังคับ เราเรียกว่าผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งต้องมีอายุระหว่าง 15-60 ปี ได้รับค่าจ้างจากการทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป หรือกล่าวได้ว่าครอบคลุมลูกจ้างทุกคนที่ทำงานในสถานประกอบการ ภาคเอกชน ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกันสังคมมีข้อยกเว้นไม่บังคับใช้แก่
1. ข้าราชการ ลูกจ้างประจำของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น
2. ลูกจ้างของรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
3. ลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย
4. ลูกจ้างของนายจ้างซึ่งประกอบการค้าเร่ หรือค้าแผงลอย
5. นักเรียน นักเรียนพยาบาล นิสิตหรือนักศึกษา ซึ่งเป็นลูกจ้างของโรงเรียน สถานพยาบาล วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยนั้น
6. ลูกจ้างของสภากาชาดไทย
7. ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
8. ลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้และเลี้ยงสัตว์ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปีและไม่มีลักษณะงาน ที่เป็นกิจการนอกเหนือกิจการดังกล่าวรวมอยู่ด้วย
9. ลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงาน อันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจรหรือเป็นไปตามฤดูกาล
10. ลูกจ้างของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
11. ลูกจ้างของเนติบัณฑิตยสภา
12. ลูกจ้างของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ
เมื่อต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ลูกจ้างต้องทำอย่างไรบ้าง
เนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนภาคบังคับ ลูกจ้างจึงไม่ต้องทำอะไรเลยครับ การขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนเป็นหน้าที่ของนายจ้างครับ โดย
• นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน ภายใน 30 วัน และ เมื่อมีการรับลูกจ้างใหม่เพิ่มขึ้น ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วัน เช่นกัน
• เมื่อมีลูกจ้างลาออกจากงาน ให้นายจ้างแจ้งการออกจากงานโดยระบุสาเหตุการออกจากงานโดยใช้หน้งสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
การขึ้นทะเบียน
กรณีติดต่อด้วยตนเอง สามารถติดต่อได้ที่
• สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 / สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ
• หมายเหตุ : ที่อยู่และโทรศัพท์ สามารถค้นหาได้ทางเว็บไซต์ www.sso.go.th
กรณีใช้ช่องทางการให้บริการออนไลน์
• เฉพาะนายจ้างที่เป็นนิติบุุคคลเท่าน้นสามารถขึ้นทะเบียนนายจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (เว็บไซต์ www.dbd.go.th)
หากนายจ้างไม่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม ลูกจ้างจะมีความผิดหรือไม่ ?
ตามกฎหมายประกันสังคม จะถือว่า “นายจ้างมีความผิด” ความผิดระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
หลังจากขึ้นประกันสังคมแล้ว นายจ้าง ต้องนำส่งเงินสมทบประกันสังคมทุกเดือน ให้กับ ประกันสังคมในพื้นที่ที่นายจ้างขึ้นทะเบียน โดย แบ่งเงินสมทบ เป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ส่วนเงินสมทบที่ หักจากเงินเดือนของลูกจ้าง
ส่วนที่ 2 ส่วนเงินสมทบที่ นายจ้างนำเงินมาสมทบ เท่ากับส่วนที่ 1
โดยนายจ้างจะจัดทำแบบ สปส.1-10 นำส่งแบบ พร้อมกับ เงินสมทบ (รวมส่วนที่ 1 +2) ที่ประกันสังคมในพื้นที่ ไม่เกินวันที่ 15 ของเดือน
ถ้านายจ้าง ส่งเงินสมทบไม่ทัน หรือ ส่งไม่ครบ มีความผิดอย่างไรบ้าง
จะต้องรับผิดชอบ จ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ไม่ได้ส่ง หรือ จำนวนเงินที่ขาดอยู่ โดยต้องนำส่งด้วยตัวเองที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่หรือสำนักงาน ประกันสังคมจังหวัดเท่านั้น
แต่หากนายจ้างกรอกแบบแสดงการส่งเงินสมทบ (สปส.1-10) ไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจะสั่งให้นายจ้างกรอกแบบฟอร์มให้ถูกต้อง
หากยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง จะ มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมหรือไม่
กฎหมายกำหนดให้นายจ้างไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมทั้งหมด ยกเว้นเฉพาะกรณีที่พระราชบัญญัติประกันสังคมมีข้อยกเว้นไม่บังคับ อย่างเช่น กรณีที่ลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย แปลง่ายๆว่า ถ้างานที่ลูกจ้างทำไม่ใช่การประกอบธุรกิจ นายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาก็ไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ตัวอย่างเช่น หากเราจ้างแม่บ้านมาทำงานบ้าน กรณีนี้ เราไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ครับ
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : กรณีตัวอย่างปัญหากองทุนประกันสังคม
ความจริงความคิด : ประกันสังคมไม่ใช่มรดก
ความจริงความคิด : ประกันสังคมเพื่อนคู่ชีวิต ดูแลเราตั้งแต่เกิดจนตาย
ความจริงความคิด : กองทุนเงินทดแทน และ กองทุนประกันสังคม ต่างกันอย่างไร
ความจริงความคิด : สิทธิประกันสังคมที่ต้องรู้กรณี ว่างงาน
ความจริงความคิด : เลือกสวัสดิการรักษาพยาบาล บัตรทอง หรือ ประกันสังคม อย่างไหนดีกว่ากัน