โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
แทบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนอาชีพ โดยเฉพาะจากการทำงานเป็นลูกจ้างมาสู่อาชีพอิสระ (freelance) หรือ การต้องออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ สิ่งหนึ่งที่ต้องตัดสินใจก็คือ จะต่อประกันสังคมมาตรา 39 ดีหรือไม่
ประโยชน์หลักๆที่สำคัญที่สุดของประกันสังคม มาตรา 39 คือ สวัสดิการรักษาพยาบาล แต่การต่อประกันสังคมมาตรา 39 คือ เรายังเป็นสมาชิกประกันสังคมอยู่ แปลว่า เราจะไม่ได้สิทธิกรณีชราภาพจากประกันสังคม เท่ากับว่า การเลือกต่อมาตรา 39 เพื่อการได้สวัสดิการรักษาพยาบาล ไม่ใช่แค่เราต้องเสียเงินสมทบเข้าประกันสังคม เดือนละ 432 บาท เรายังเสียโอกาสของการได้รับเงินกรณีชราภาพจากประกันสังคมด้วย และหากเราเป็นสมาชิกประกันสังคมมาตรา 39 นานมากเท่าใด ฐานเงินที่ใช้คำนวณเงินบำนาญชราภาพที่คำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก็จะเข้าใกล้ 4,800 บาทมากขึ้น ซึงต่ำกว่าฐานเงินตามมาตรา 33 ที่สูงสุด อยู่ที่ 15,000 บาท ถึง 2 ใน 3 ทำให้เงินบำนาญชราภาพที่เราควรได้ลดน้อยลง
และยิ่งกว่านั้นก็คือ เพราะอายุขัยเราเท่าเดิม ยิ่งเราต่อมาตรา 39 นานเท่าไร จำนวนเดือนที่เราจะได้รับบำนาญก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น ทำให้เราได้รับประโยชน์จากเงินออมที่เราอุตส่าห์เก็บออมในประกันสังคมมาตลอดชีวิตลดน้อยลง
เมื่อการต่อมาตรา 39 เพื่อสวัสดิการรักษาพยาบาลมีต้นทุนอย่างนี้ การเลือกรับสวัสดิการรักษาพยาบาลด้วยบัตรทองจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ สวัสดิการรักษาพยาบาล บัตรทอง จะดีเท่า ดีกว่า หรือด้อยกว่า ประกันสังคม เรามาพิจารณากัน
บัตรทองหรือบัตร 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)
• ไม่มีค่าใช้จ่าย ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่มีวงเงิน เพียงลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำตัวแล้วใช้สิทธิได้ทันทีโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว
• ใช้กับสถานพยาบาลประจำที่ลงทะเบียนไว้ หรือเจ็บป่วยต่างพื้นที่เข้าสถานพยาบาลปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ และยังสามารถเข้ารับบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ได้ที่ ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น
• เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิต (สีแดง) เข้าสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ (สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่)
• มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่สถานพยาบาลใด ก็เข้ารับบริการตามรายการนี้ได้
o เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ปรึกษาเภสัชกรและรับยาที่ร้านยากว่า 1,700 แห่งที่เข้าร่วมได้ทั่วประเทศ
o เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 กลุ่มอาการ รับบริการที่คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นกว่า 1,000 แห่งที่เข้าร่วมได้ทั่วประเทศ
o เจ็บป่วยเบื้องต้น 42 กลุ่มอาการ พบหมอออนไลน์ รอรับยาจัดส่งถึงบ้านได้ ในพื้นที่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร
• การย้ายหรือเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำตัวทำได้ 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ ใช้สิทธิได้ทันทีเมื่อเปลี่ยนแล้ว
• สิทธิประโยชน์ครอบคลุมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็น
• ครอบคลุมค่าอาหารและค่าห้องสามัญเมื่อต้องแอดมิทที่โรงพยาบาล
• ได้เพียงสิทธิรักษาฟรี (บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข) ไม่มีเงินชดเชยว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต เหมือนประกันสังคม
• ระยะเวลาการคุ้มครอง ไม่มีวันหมดอายุ ใช้ได้ตลอดชีวิต
ประกันสังคม (ผู้ประกันตน) กรณีต่อมาตรา 39
• ประกันสังคม ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน ตามเงื่อนไขจึงจะสามารถใช้สิทธิได้
• ใช้กับโรงพยาบาลที่เลือกสิทธิไว้ กรณีฉุกเฉินเข้าที่ไหนก่อนก็ได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย
• เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกกฤติเข้าสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ (สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่)
• ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่มีวงเงิน และไม่เสียค่าใช้จ่ายครอบคลุมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็น
• การย้ายสถานพยาบาลประจำตัวย้ายได้ปีละ 1 ครั้ง
• ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ไม่เกิน 900 บาท/ปี
• ค่าห้องและค่าอาหาร ไม่เกิน 700 บาท/วัน
• ได้รับเงินชดเชย กรณีว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต
• ระยะเวลาการคุ้มครอง ความคุ้มครองจะสิ้นสุดหากขาดการส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน
หมายเหตุ
1. บัตรทองหรือบัตร 30 บาทมีได้ทุกคน หากไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่นของรัฐ (ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการและครอบครัว เป็นต้น)
2. พนักงานบริษัทได้สิทธิประกันสังคมอัตโนมัติ
3. กรณีลาออกจากงาน และไม่อยากส่งประกันสังคมต่อ (มาตรา 39 ) สามารถใช้สิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาทได้ แต่ต้องลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำก่อน
4. ผู้ประกันตนมาตรา 40 ใช้สิทธิ ‘บัตรทองหรือบัตร 30 บาท’ รักษาพยาบาล หรือหากได้รับสิทธิเบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง ก็ยังคงได้รับสิทธิได้ตามปกติ (มาตรา 40 ไม่ได้ให้ความคุ้มครองในเรื่องค่ารักษาพยาบาล แต่ให้เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย และกรณีทุพพลภาพ รวมถึงได้รับเงินค่าทำศพ กรณีตาย ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด)
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : กรณีตัวอย่างปัญหากองทุนประกันสังคม
ความจริงความคิด : อยากเป็นสมาชิกประกันสังคม ต้องทำอย่างไร
ความจริงความคิด : ประกันสังคมเพื่อนคู่ชีวิต ดูแลเราตั้งแต่เกิดจนตาย
ความจริงความคิด : กองทุนเงินทดแทน และ กองทุนประกันสังคม ต่างกันอย่างไร
ความจริงความคิด : สิทธิประกันสังคมที่ต้องรู้กรณี ว่างงาน
ความจริงความคิด : ประกันสังคมไม่ใช่มรดก