คอลัมน์ความจริงความคิด : สิทธิประกันสังคมที่ต้องรู้กรณี ว่างงาน

โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เห็นข่าวปรับสิทธิประโยชน์กองทุน TESG ให้ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นจากสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินเหมือนเดิมแต่เพิ่มวงเงินลดหย่อนไม่เกิน 100,000 บาท เป็นไม่เกิน 300,000 บาท และลดระยะเวลาถือครองจาก 8 ปีเป็น 5 ปี (นับจากวันที่ซื้อ) ก็ดีใจกับคนที่ตั้งใจออมเงินระยะยาว และคนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วยครับ

แต่อีกข่าวที่น่ากังวล ก็คือ ข่าวการปิดกิจการของบริษัทต่างๆ จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่า ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.67) มีโรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน ขณะเดียวกันมีโรงงานเปิดกิจการใหม่ 848 โรงงาน โดยจำนวนโรงงานเปิดใหม่สูงกว่าปิดถึง 74%

มีการเลิกจ้างงาน 12,551 คน ขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีการจ้างงานถึง 33,787 คน เมื่อรวมกับโรงงานเดิมที่มีการขยายกิจการจะมีอีกจำนวนกว่า 126 แห่ง เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,748 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 4,989 คน คนที่มีงานทำ ก็ถือว่าโชคดี ส่วนคนที่ถูกเลิกจ้าง ก็ควรรีบศึกษาดูว่ามีสวัสดิการอะไรบ้างที่จะพอเยียวยาค่าใช้จ่ายยามที่เราไม่มีงานทำ

สวัสดิการที่ควรศึกษาคือ กรณีว่างงานเลิกจ้าง/ลาออกปกติ

 

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

กรณีถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท

กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท

ในกรณียื่นคำขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง หรือเหตุถูกเลิกจ้างและลาออกหรือ สิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน

ผู้ที่ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี มีดังนี้

ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณี ร้ายแรง
ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ

 

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเกิดสิทธิ

จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย หรือกรณีผู้ประกันตนว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
มีระยะเวลาการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th) ของสำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างจึงจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานนับแต่วันที่ 8 ของการว่างงาน
ต้องรายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th) ของสำนักงานจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
เป็นผู้มีความสามารถในการทำงาน และพร้อมที่จะทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดให้
ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน

แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้ 2 เส้นไว้เลย ประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน เราจะต้องขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากขึ้นทะเบียนเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง

แปลว่าถ้ามาขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักงานจัดหางาน วันที่ 30 นับตังแต่วันที่มีผลเป็นการลาออกจากงานพอดี เงินชดเชยจะได้ครบ 90 วัน แต่ถ้ามาวันที่ 31 เงินไม่ได้หายไป 1 วันนะ แต่จะหายไป 31 วัน คงเหลือรับเงินชดเชย 59 วัน ยิ่งถ้าไปช้าเท่าไหร่ จำนวนวันเงินที่จะได้เงินชดเชยยิ่งหายนะ และหากขึ้นทะเบียนเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เช่น ถ้าลาออกงานแล้วไปขึ้นทะเบียนตอนเกิน 90 วันไปแล้ว ก็อย่าเสียเวลาไปขึ้นทะเบียนเลย เกินกำหนดไม่ได้เงินสมทบแล้ว

หมายเหตุ : การคำนวนวันขึ้นทะเบียนให้นับเป็นวันนะ ไม่ใช่นับเป็นเดือน ถ้าออกวันที่ 21 นับวันที่ 21 เป็น 1 เลยแล้วไม่ให้เกิน 30 วัน ดูดีๆด้วยบางเดือนมันมี 31 วัน