ความจริงความคิด : กรณีตัวอย่างปัญหากองทุนประกันสังคม

โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
เนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนภาคบังคับ กำหนดให้

นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน ภายใน 30 วัน และ เมื่อมีการรับลูกจ้างใหม่เพิ่มขึ้น ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วัน เช่นกัน

เมื่อมีลูกจ้างลาออกจากงาน ให้นายจ้างแจ้งการออกจากงานโดยระบุสาเหตุการออกจากงานโดยใช้หน้งสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6-09) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

 

กฎหมายกำหนดให้นายจ้างไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมทั้งหมด หากแยกวิเคราะห์ตามกฎหมาย นายจ้างจะต้องขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม และต้องนำส่งเงินสมทบประกันสังคมทุกเดือน เมื่อครบเงื่อนไขทุกข้อ ดังนี้

ต้องมีนายจ้าง หมายถึง ผู้ซึ่งรับลูกจ้างเข้าทํางานโดยจ่ายค่าจ้าง โดยนายจ้างจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้

ลูกจ้าง ต้องเป็นลูกจ้างที่ทำงานประกอบธุรกิจ ดังนั้นถ้างานที่ลูกจ้างทำไม่ใช่การประกอบธุรกิจ นายจ้างก็ไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ตัวอย่างเช่น หากเราจ้างแม่บ้านมาทำงานบ้าน เราไม่ต้องขึ้นทะเบียนแม่บ้านเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม

ต้องมีการจ่ายค่าจ้าง เพราะประกันสังคมกำหนดให้นายจ้างหักเงินสมทบ 5% ของค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน

 

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๙๖๘/๒๕๖๐ (คดีฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์)

เรื่อง โจทก์มีหน้าที่ดูแลและซ่อมคอมพิวเตอร์เวลามีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีหน้าที่ รับผิดชอบประจำ งานที่โจทก์ทาเป็นการช่วยเหลือบิดามารดาในฐานะบุตร มิใช่ฐานะลูกจ้าง เงินที่โจทก์ได้รับทุกเดือนก็มิใช่ค่าจ้าง โจทก์มีอิสระที่จะมาทำงานในเวลาใดก็ได้ หรือไม่มาทำงานเลยก็ยังได้โดยมิต้องยื่นใบลาแต่ประการใด ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของใคร โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างตามความในมาตรา ๕

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติ ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ กรณีที่วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์การรับบริการรักษาพยาบาลจากกองทุนประกันสังคมหรือกองทุนเงินทดแทนซึ่งโจทก์ได้รับการรักษาฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่โจทก์สำรองจ่ายไปเป็นเงิน ๕๓๐,๔๐๐ บาท โจทก์เห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ศาลแรงงานภาค ๕ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์

ศาลฎีกาเห็นว่า บริษัท ช. จำกัด ประกอบกิจการขายวัสดุก่อสร้าง มีนาย พ. บิดาโจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ช. จ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งฝ่ายงานคอมพิวเตอร์โดยหักเงินโจทก์นำส่งสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๔๓ – มีนาคม ๒๕๕๓ รวมเป็นเงิน ๓๗,๔๒๐ บาท โจทก์ป่วยเป็น โรคไตเรื้อรังต้องเข้ารับการรักษาโดยสำรองจ่ายเงินไปก่อนเป็นเงิน ๕๓๐,๔๐๐ บาท

ข้อเท็จจริงสรุปความได้ว่า ขณะที่จ้างโจทก์ทางานนั้น โจทก์มีอายุ ๑๕ ปี กาลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โจทก์มีหน้าที่ดูแลและซ่อมคอมพิวเตอร์เวลามีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบประจำ บริษัทมีลูกจ้างประมาณ ๓๐ คน ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ ๑๗ คน ใช้งานระบบบัญชี ๕ คน ลูกจ้างที่เป็นพนักงานขายใช้คอมพิวเตอร์ในการตรวจสอบราคาสินค้าและจำนวนสินค้าที่มีอยู่ โจทก์ไม่ได้ทำงานประจำ ว่างถึงจะไปที่บริษัท ลักษณะการทำงานเป็นการช่วยกิจการของที่บ้านเนื่องจากเป็นบริษัทของบิดา ไม่ได้รับเงินเดือน และมีมารดาจ่ายค่าขนมเป็นเงินสดไปโรงเรียนทุกเดือนตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ ๓ จนถึงเรียนระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โจทก์ไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอน ไม่ต้องลงชื่อลงเวลาทำงาน ไม่มีการควบคุมบังคับบัญชา จะทำเมื่อไรก็ได้

บริษัท ช. จำกัด จึงจ้างนาย ส. บุคคลภายนอกมาวางระบบคอมพิวเตอร์และดูแลการใช้งานระบบเป็นประจำ ตามกำหนดเวลา

 

    เห็นได้ชัดว่างานที่โจทก์ทำนั้นเป็นการช่วยเหลือบิดามารดาในฐานะบุตร มิใช่ฐานะลูกจ้าง เงินที่โจทก์ได้รับทุกเดือนก็มิใช่ค่าจ้าง โจทก์มีอิสระที่จะมาทำงานในเวลาใดก็ได้ หรือไม่มาทำงานเลยก็ยังได้ โดยมิต้องยื่นใบลาแต่ประการใด ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องอยู่ภายใต้อานาจบังคับบัญชาของใคร และไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบและข้อบังคับของใคร และไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับ การทำงานของบริษัท ช. โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓

 

ที่ศาลแรงงานภาค ๕ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าวโดยให้จำเลยชำระเงินค่ารักษาพยาบาลพร้อมดอกเบี้ยและให้โจทก์มีสิทธิหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด

 

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : ประกันสังคมไม่ใช่มรดก
ความจริงความคิด : ประกันสังคมเพื่อนคู่ชีวิต ดูแลเราตั้งแต่เกิดจนตาย
ความจริงความคิด : อยากเป็นสมาชิกประกันสังคม ต้องทำอย่างไร
ความจริงความคิด : เลือกสวัสดิการรักษาพยาบาล บัตรทอง หรือ ประกันสังคม อย่างไหนดีกว่ากัน
ความจริงความคิด : กองทุนเงินทดแทน และ กองทุนประกันสังคม ต่างกันอย่างไร