ความจริงความคิด : ประกันสังคมไม่ใช่มรดก

 

มรดก คือ ทรัพย์สินทุกอย่างที่เป็นของผู้ตาย รวมถึงสิทธิและหน้าที่และความรับผิดต่างๆของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ตาย ดังนั้น มรดกจึงหมายถึงทรัพย์สินทั้งหมด ไม่ว่าจะจับต้องได้ เช่น บ้าน รถ เงิน ฯลฯ หรือ จับต้องไม่ได้ เช่น สิทธิตามสัญญาเช่า สิทธิตามสัญญากู้ยืมเงิน สิทธิในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ในการได้รับเงินคืน ฯลฯ ในส่วนของมรดกที่เป็นความรับผิด คือ เป็นเรื่องที่จะต้องชดใช้ เช่น ความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือความรับผิดที่เกิดจากการผิดข้อสัญญาต่างๆ

สรุป จะถือว่าเป็นมรดก ก็ต่อเมื่อเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ ณ ขณะที่ถึงแก่ความตาย ดังนั้นถ้ายังไม่ตาย มรดกก็ยังไม่เกิด

เมื่อเป็นอย่างนี้ ทรัพย์สินอะไรก็ตามที่เกิดหลังตาย ก็จะไม่ใช่มรดก ตัวอย่าง เช่น เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ สินไหมกรณีผู้เอาประกันเสียชีวิตที่บริษัทประกันจ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์ ฯลฯ เกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย

แล้วอย่างนี้ ประโยชน์ทดแทนกรณีเสียชีวิตกองทุนประกันสังคม ซึ่งประกอบด้วย เงินค่าทำศพ เงินสงเคราะห์ และบำเหน็จชราภาพ

เงินค่าทำศพ และ เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต กำหนดเงื่อนไขและจำนวนเงินที่จ่ายชัดเจน เป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังตาย จึงไม่ใช่มรดกของผู้ตายแน่นอน ดังนี้

เงินค่าทำศพ 50,000 บาท จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ
เงินสงเคราะห์ ทายาทของผู้ประกันตนที่เสียชีวิตจะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย ในกรณีที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุชื่อให้เป็นผู้รับเงินสงเคราะห์ไว้ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้กับบุคคลที่มีชื่อระบุในหนังสือ สำหรับกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ ว่าให้ใครเป็นผู้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย คือ บิดามารดา สามีหรือภรรยา และบุตร โดยหารเฉลี่ยในอัตราคนละเท่า ๆ กัน

แต่บำเหน็จชราภาพซึ่งประกอบเงินสมทบของผู้ตาย เงินสมทบของนายจ้าง และผลประโยชน์ของเงินทั้ง 2 ก้อน เป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนตาย ถือเป็นมรดกของผู้ตาย หรือไม่

จริงๆแล้ว ถ้าหากผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินเท่ากับบำเหน็จชราภาพที่ผู้ประกันตนสะสมมาตลอดชีวิต กรณีนี้บำเหน็จชราภาพที่ทายาทได้รับ ก็ควรจะเป็นมรดก แต่บำเหน็จชราภาพที่ทายาทของผู้ประกันตนที่เสียชีวิตได้รับจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ จึงทำให้บำเหน็จชราภาพไม่ใช่มรดก ดังนี้

หากผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนที่จะได้รับบำนาญ หรือบำเหน็จ ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพในจำนวนตามเงื่อนไขของกรณีบำเหน็จชราภาพ
หากผู้ประกันตนเสียชีวิตหลังจากได้รับบำนาญชราภาพมาบ้างแล้ว ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ โดยมีเงื่อนไขการรับสิทธิ ดังนี้

o กรณีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ต่อมาเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับจากเดือนที่รับบำนาญ ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต × จำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน
o กรณีผู้ประกันตนกลับไปเป็นผู้ประกันตนและต่อมาเสียชีวิต (ได้รับเงินบำนาญไม่เกิน 60 เดือน) ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับก่อนกลับไปเป็นผู้ประกันตน × จำนวนเงินเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน

o กรณีรับเงินชราภาพก่อนบังคับใช้กฎกระทรวง* แต่ยังไม่ครบ 60 เดือน ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ เดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน

o กรณีรับเงินชราภาพมาแล้วเหลือน้อยกว่า 10 เดือน ทายาทได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต × 10 เท่า

เมื่อประโยชน์กรณีเสียชีวิตของประกันสังคมไม่ใช่มรดก แล้วอย่างนี้ ใครจะเป็นคนได้รับผลประโยชน์ตรงนี้ หากผู้ประกันตนเสียชีวิต

ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์และเงินบำเหน็จชราภาพกรณีผู้ประกันตนตายเป็นไปตามกฎหมายประกันสังคมตามลำดับ คือ

1) บุคคลที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์
2) ถ้าไม่มีบุคคลตาม 1) ให้จ่ายเงินสงเคราะห์ให้กับบุตร บิดามารดา สามีหรือภรรยา

โดยสรุป เงินสงเคราะห์หรือเงินบำเหน็จชราภาพกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายจากกองทุนประกันสังคม มีสถานะดังนี้

(1) เงินสงเคราะห์และเงินบำเหน็จชราภาพกรณีผู้ประกันตนตาย ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นมรดกของผู้ประกันตน
(2) เมื่อไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นมรดก ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ในการรวบรวม จัดการทรัพย์สินดังกล่าว
(3) ผู้จัดการมรดกไม่เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์และเงินบำเหน็จชราภาพกรณีผู้ประกันตนตาย เพราะไม่ใช่ผู้มีสิทธิ
ตามที่กฎหมายประกันสังคมกำหนดไว้ เว้นแต่ ผู้ประกันตนได้แสดงเจตนาโดยทำหนังสือระบุไว้ให้ผู้จัดการมรดกเป็น
ผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์หรือเงินบำเหน็จชราภาพกรณีผู้ประกันตนตาย

บางส่วนจากบทความ “ผู้จัดการมรดกกับสิทธิรับเงินสงเคราะห์และเงินบำเหน็จชราภาพ”
อ่านบทความเต็มได้ใน… วารสาร HR Society magazine ปีที่ 18 ฉบับที่ ฉบับที่ 216 เดือนมกราคม 2564

กฎหมายแรงงาน : ประกันสังคม : ปรานี สุขศรี
วารสาร : HR Society Magazine มกราคม 2564

 

 

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : กรณีตัวอย่างปัญหากองทุนประกันสังคม
ความจริงความคิด : อยากเป็นสมาชิกประกันสังคม ต้องทำอย่างไร
ความจริงความคิด : ประกันสังคมเพื่อนคู่ชีวิต ดูแลเราตั้งแต่เกิดจนตาย
ความจริงความคิด : กองทุนเงินทดแทน และ กองทุนประกันสังคม ต่างกันอย่างไร
ความจริงความคิด : สิทธิประกันสังคมที่ต้องรู้กรณี ว่างงาน
ความจริงความคิด : เลือกสวัสดิการรักษาพยาบาล บัตรทอง หรือ ประกันสังคม อย่างไหนดีกว่ากัน