โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
ผ่านปลายปีไปแล้ว น่าจะซื้อ RMF, SSF กันทันนะ ถ้าหากปลายปีเป็นช่วงเทศกาลภาษี แล้วต้นปีก็จะเป็นช่วงเทศกาลอะไรเอ่ย? ใช่ช่วง January Effect ป่าว หลายคนคาดหวังว่าช่วงเดือนมกราคม หุ้นน่าจะขึ้น คาดกันไปมากๆ หลายคนเลยซื้อดักตั้งแต่ปลายปี เพื่อมาขายแพงตอนเดือนมกราคมซะเลย เมื่อมีคนคิดอย่างนี้มากๆ January Effect ก็เลยคลายความขลังไปเยอะ
แต่ที่น่าจะยังคงความขลังของ January Effect อีกอย่างก็คือ การเปลี่ยนงาน ช่วงต้นปีจะเป็นช่วงของเทศกาลเปลี่ยนงานครับ หลายคนที่อั้นเอาไว้ เมื่อได้รับโบนัสเสร็จ ก็จะเปลี่ยนงานกันทันที แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนมักจะพลาดกันเมื่อเปลี่ยนงาน ก็คือ การตัดสินใจเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี่แหละ
รู้กันป่าว ถ้าเราเกิดออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินที่เราได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3 ก้อน คือ เงินสมทบจากนายจ้าง ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบต้องเสียภาษีนะ เงื่อนไขการเสียภาษีมีดังนี้ครับ
• ถ้าออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยที่อายุงานน้อยกว่า 5 ปี เงินทั้ง 3 ก้อนนี้โดนภาษีเต็มๆ
• ถ้าตอนออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยที่มีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เราก็สามารถเลือกไม่เอาเงิน 3 ก้อนนี้ไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่น แถมมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเท่ากับ 7,000 บาทคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน เหลือเท่าไหร่หารสอง แล้วค่อยเอาที่เหลือไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ (จำนวนวันทำงานตั้งแต่ 183 วันขึ้นไป นับเป็น 1 ปี น้อยกว่า 183 ให้ปัดทิ้ง) วิธีนี้จะทำภาษีที่ต้องเสียลดน้อยลง
ตรงนี้แหละครับ สำหรับคนที่จะออกจากงานต้องคำนึงให้ดีๆ เพราะถ้าอายุงานไม่ถึง 5 ปี เงิน 3 ก้อนนี้ก็ต้องไปรวมกับเงินได้อื่นๆของเรา เสียภาษีเต็มๆ ครั้นจะไม่ลาออก ก็เสียดายโอกาสงานใหม่ ทำไงดี ได้ทั้งงานใหม่ และไม่ต้องเสียภาษี เรื่องนี้มีทางออกครับ เราก็แค่แจ้งฝ่ายบุคคลตอนที่เราจะลาออกว่า ขอคงเงินของเราไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อ และเมื่อเราได้ไปเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทใหม่ เราค่อยโอนไป วิธีนี้ เราสามารถนับอายุงานและอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ต่อเนื่องเลยครับ
และถ้าหากเราต่ออายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่องเรื่อยๆ แล้วมาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตอนเรามีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเราเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน (ถ้าเป็นสมาชิกยังไม่ถึง 5 ปีต่อเนื่องกัน ต้องเป็นสมาชิกไปจนมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน ) เงิน 3 ก้อนที่เราได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ต้องเสียภาษีใดๆเลย สังเกตุนะครับว่า ถ้าออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีอื่น สนใจที่อายุงาน แต่ถ้าอายุ 55 ปีบริบูรณ์เมื่อไหร่ ไม่สนใจอายุงานแล้ว สนใจแค่อายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่านั้น
แล้วการคงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีค่าใช้จ่ายมากมั๊ย ไม่มากครับ ค่าใช้จ่ายในการคงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็อยู่ที่ประมาณ 500 บาทต่อปีที่คงเงิน บวกภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้นครับ
อีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ การย้ายเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงไปกองทุน RMF for Provident fund (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)) โอนย้ายเงินจาก PVD เพื่อประโยชน์ในการนับอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่อง (นับรวมอายุต่อจากที่โอนเงินจาก PVD มา RMF ด้วย) ถ้าสามารถมาลงทุนใน RMF for Provident fund ได้ต่อเนื่องจนผู้ลงทุนอายุครบ 55 ปี และมีอายุการเป็นสมาชิก PVD (นับรวมเวลาที่อยู่ใน RMF for Provident fund ด้วย) ไม่น้อยกว่า 5 ปี ผลประโยชน์ที่ได้ยกเว้นภาษีตามเงื่อนไขของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นอกจากนี้ด้วยความที่ RMF มีนโยบายหลากหลาย และผู้ลงทุนสามารถเลือกการลงทุนให้เหมาะสมกับตนเองได้อย่างอิสระ และสามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนระหว่างกองทุน RMF for Provident fund ด้วยกัน เพื่อบริหารจัดการการลงทุนให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดได้ และข้อดีอีกอย่างคือ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเหมือนการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อควรคำนึง คือ ถ้าจะคงเงินต้องคงทั้งจำนวน คงเพียงบางส่วนไม่ได้ หรือจะย้ายเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมา RMF เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องไปบอกฝ่ายบุคคลเอง อย่าคาดหวังว่าฝ่ายบุคคลจะตรัสรู้ว่าเราต้องการอะไร ถ้าเราไม่แจ้งฝ่ายบุคคล ฝ่ายบุคคลจะถือว่าเรามีความประสงค์ไม่ขอคงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และจะทำเรื่องออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เราโดยอัตโนมัติ เราก็เลยต้องเสียภาษีที่ไม่ควรเสียโดยอัตโนมัติเช่นกัน
เปลี่ยนงานเพื่อหารายได้ใหม่ทั้งที ก็อย่าเสียภาษีกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลยนะครับ
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม ตอน 2
ความจริงความคิด : สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม ตอน 1
ความจริงความคิด : เผย 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์แห่งปี 64 รู้ไว้! จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์ 1
ความจริงความคิด : สิทธิรักษาพยาบาลบัตรทอง กับ ประกันสังคม
ความจริงความคิด : อย่ากินเหยื่อที่เขาล่อ Phishing กลโกงออนไลน์ ตอนที่ 1
ความจริงความคิด : วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุน
ความจริงความคิด : กลโกงทางการเงิน 1
ความจริงความคิด : เมื่อนายจ้างไม่ส่งเงินสมทบประกันสังคม ลูกจ้างเสียอะไร
ความจริงความคิด : ซื้อของออนไลน์ป้องกันโกง ทำยังไง?
ความจริงความคิด : เรื่องต้องรู้ ลดหนี้ด้วยวิธีรีไฟแนนซ์
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ