KTAM Focus : “บอนด์พัง! นับถอยหลังเฟด”

โดย..ณัฏฐะ มหัทธนา, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย

ตลาดตราสารหนี้โลกทรุดหนักสุดตั้งแต่ปี 1949 สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆด้วยอัตราเร่งนับตั้งแต่สหรัฐเผย CPI ส.ค. สูงกว่าคาด (13 ก.ย.) กระตุ้นความกังวลว่าเฟดจะตกใจจนกระทืบเบรกอย่างรุนแรงซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นจริงเมื่อวันพุธ (21 ก.ย.) เฟดขึ้นดอกเบี้ย 75 bps สามครั้งติดต่อกันสู่ระดับ 3-3.25% พร้อมอัพเดทประมาณการ dot plot โชว์ปลายทาง (terminal rate) 4.6% และจะยังไม่ลดดอกเบี้ยในปีหน้า

ดอลลาร์แข็งค่าไม่หยุด จนรัฐบาลญี่ปุ่นทนไม่ไหวต้องเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนครั้งแรกตั้งแต่ปี 1998 เมื่อวันพฤหัสฯ (22 ก.ย.) เพื่อสกัดการอ่อนค่าของเงินเยน …ถัดมาแค่ 1 วัน… รัฐบาลอังกฤษเผยแผน “ลดภาษี” ก่อความวิตกเกี่ยวกับปริมาณตราสารหนี้ซึ่งอาจทะลักเข้าสู่ตลาดในอนาคตขณะเงินเฟ้อสูงลิ่ว กระตุ้นยีลด์พันธบัตร UK พุ่งขึ้นอย่างบ้าคลั่งสวนทางค่าเงินปอนด์ที่อ่อนยวบแตะ $1.09 ต่ำสุดในรอบ 37 ปี ยิ่งหนุนดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า Dollar Index (DXY) ทำนิวไฮท้ายสัปดาห์เหนือ 113

Sell Everything เมื่อเงินสกุลหลักของโลกแข็งเร็วขนาดนี้ก็แทบไม่มีสินทรัพย์ใดต้านทานได้ แรงเทขายกระจายตัวทั่วกระดานกระหน่ำราคาสารพัด asset classes ทิ้งดิ่ง

ตลาดไหนพังก็ไม่วิกฤตเท่า “บอนด์พัง” พันธบัตรสหรัฐ “เสาหลักการเงินโลก” สินทรัพย์ไร้ความเสี่ยงเครดิตขนาดมหึมาซึ่งมีสภาพคล่องสูงสุด กำลังเผชิญภาวะ supply > demand จนเสียสมดุล อันเนื่องมาจากหลากหลายสาเหตุประกอบกันทั้ง ความกังวลเงินเฟ้อ/ดอกเบี้ยหนุนยีลด์พุ่งต่อเนื่อง ราคาบอนด์มีทิศทางปรับตัวลงทำให้นักลงทุนยังไม่กล้าเข้าซื้อ ธนาคารกลางนานาประเทศเทขายพันธบัตรสหรัฐจากทุนสำรองเพื่อพยุงค่าเงินของตน ขณะเฟดเริ่มลดขนาดงบดุล (QT) เต็มสปีด $95,000 ล้าน/เดือน

Michael Hartnett นักกลยุทธ์ระดับแถวหน้าจากค่าย Bank of America ระบุในรายงานฉบับล่าสุดว่า อารมณ์นักลงทุนแย่สุดตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2008 โดยมอง cash (เงินสด), commodities (โภคภัณฑ์), volatility (ความผันผวน) น่าจะยังคง outperform เหนือกว่า bonds (ตราสารหนี้), stocks (ตราสารทุน) นอกจากนี้ Hartnett กล่าวอีกว่า ตลาดบอนด์พัง จะนำไปสู่ credit event กระตุ้นให้นักลงทุนปิดสถานะซื้อ (= เทขาย) เงินดอลลาร์, หุ้นเทคสหรัฐ, หุ้นนอกตลาด (private equity) ซึ่งสะสมกันมานานหลายปี “True capitulation is when investors sell what they love and own” ดอกเบี้ยเฟด ยีลด์พันธบัตร อัตราว่างงานของสหรัฐ ล้วนมุ่งสู่ 4-5% ในอีก 4-5 เดือน/ไตรมาส นักลงทุนในตลาดยังเทขายจนกว่าจะเห็นความร่วมมือด้านนโยบายที่น่าเชื่อถือจากบรรดารัฐบาลและธนาคารกลาง อย่างไรก็ตาม Hartnett ชี้จุดซื้อหุ้นสหรัฐ 3 ระดับดัชนี S&P 500 ดังนี้ 3,600 ควร “เล็ม” ลงมา 3,300 ก็ “งับ” แต่ถ้าถึง 3,000 ให้ “สวาปาม” เข้าไปเลย!

เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย/ลดงบดุล “เบากว่า” ที่ตลาดคาดในปัจจุบัน เรายึดสมมุติฐานเดิมจาก KTAM Weekly Strategy 19 ก.ย. “เฟดตัดสินใจบนข้อมูล (data dependent) หากบรรดาซีอีโอคาดการณ์ถูกต้อง (เช่นเคย) ตัวเลขเศรษฐกิจที่แย่ลงคงก่อแรงเสียดทานมหาศาลบนเส้นทางขึ้นดอกเบี้ยทำให้การไปถึง 4.5% ‘ไม่ง่าย’ ขณะสภาพคล่องในตลาดอาจเหือดหายหลังเฟดเริ่มลดขนาดงบดุลเต็มสูบ ถ้าถึงจุดที่ตลาดพันธบัตร ‘ไม่ฟังก์ชัน’ QT ก็คงต้องยุติก่อนกำหนด”

*** ความเห็นล่าสุดของเราจะนำเสนอเช้าวันจันทร์ในรายการ Fund Today by KTAM ***

ไอเดียกองทุนรวมมีให้ทุกวัน ผู้สนใจเชิญรับชม Fund Today by KTAM ทุกเช้าวันทำการเริ่มเวลา 8:45 น. สามารถพิมพ์คำถามทางไลฟ์ Facebook: KTAM Smart Trade, Youtube: KTAM TV ONLINE หรือรับฟังและร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสามช่องทาง นอกจากนี้ดูคลิปย้อนหลังได้ทั้ง Youtube และ Facebook

#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์845

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

อ่านบทความอื่นๆ
KTAM Focus : Queen Mining & King Energy
KTAM Focus : น้ำมัน $150
KTAM Focus : Stop-Go
KTAM Focus : ชื่อไม่สื่อสาระ