KTAM Focus : ชื่อไม่สื่อสาระ

โดย..ณัฏฐะ มหัทธนา, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย

ร่างกฎหมายลดเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act: IRA) โหวตผ่านทั้ง 2 สภาของสหรัฐเรียบร้อย (12 ส.ค.) พร้อมส่งให้ไบเดนลงนาม นักวิเคราะห์ชี้กฎหมายดังกล่าวอาจลดเงินเฟ้อในระยะยาวแต่ไม่ช่วยแก้ปัญหาระยะสั้น 1-2 ปีข้างหน้า

ชื่อไม่สื่อสาระ เดโมแครตบรรจงตั้งเพื่อหวังผลทางการเมืองในยามข้าวยากหมากแพง ข่าวหลายสำนักมักเรียกร่างฯนี้ว่า Healthcare and Climate Bill เพราะสาระสำคัญที่แท้จริงคือขับเคลื่อนการลงทุนด้านพลังงานสะอาดครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ และพยายามลดภาระค่าใช้จ่ายรักษาโรคแก่ชาวอเมริกัน โดยจัดหาเงินจากการขึ้นภาษีบางประเภท

KT-HEALTHCARE ลงทุนในหน่วยของ Janus Henderson Global Life Sciences Fund (กองทุนหลัก) เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลกที่ทำธุรกิจด้านการรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือเกี่ยวข้องกับ Life Sciences

มุมมองเรื่อง IRA ของผู้จัดการกองทุนหลัก KT-HEALTHCARE

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบดูแลสุขภาพ

  1. 1. การปรับขึ้นราคายาในโครงการ Medicare ถูกจำกัดด้วยอัตราเงินเฟ้อ
  2. Medicare สามารถ “ต่อรอง” ราคายาจำนวนหนึ่งที่ต้องใช้ใบสั่งจากแพทย์ (prescription drugs) มีผลปี 2026
  3. ตั้งแต่ปี 2025 ค่าใช้จ่าย Out of Pocket (OOP) สำหรับผู้สูงวัยในโครงการ Medicare จะถูกจำกัดไว้ไม่เกิน $2,000 ต่อปี และค่าอินซูลินไม่เกิน $35 ต่อเดือน
  4. ยืดระยะเวลาจ่ายเงินชดเชยสำหรับผู้ป่วยในตลาดประกันสุขภาพ ACA ออกไปถึงสิ้นปี 2025

ผลกระทบที่เป็นไปได้ต่อธุรกิจ Pharma และ Biotech

การจำกัดราคายาด้วยอัตราเงินเฟ้อส่งผลน้อยต่ออุตสาหกรรม เพราะกำราบเฉพาะพวกบริษัทหน้าเลือดที่โก่งราคาเกินเหตุเท่านั้น สำนักงบประมาณสหรัฐ (Congressional Budget Office: CBO) ประเมินรายได้เพิ่มขึ้นจากกฎหมายนี้ $25 พันล้านตลอดระยะเวลา 10 ปี แทบไม่มีนัยสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยาซึ่งมีรายได้ต่อปีเกิน $1 ล้านล้าน

เรื่องเจรจาราคายาส่งผลกระทบราว $1 แสนล้านใน 10 ปี แม้ใหญ่กว่าประเด็นแรกแต่ก็น่าจะบริหารจัดการได้ โดยจะเริ่มเจรจาเพียง 10 รายการในปี 2026 แล้วค่อยๆเพิ่มจนถึง 20 รายการในปี 2029 *จุดสำคัญ* ยาที่จะเริ่มเจรจาราคาได้ต้องออกสู่ตลาดมานาน 9 ปี สำหรับยาโมเลกุลเล็ก/ยากิน และ 13-15 ปี สำหรับยาโมเลกุลใหญ่ (biologics) ดังนั้น บริษัทยาขนาดใหญ่ซึ่งขายยาโมเลกุลเล็กให้ผู้สูงวัยเยอะๆ (เช่น มะเร็งและหัวใจ) จึงน่าจะโดนกระทบมากสุด

ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์คือ บั่นทอนการพัฒนายาโมเลกุลเล็ก โดยยารักษามะเร็งตัวใหม่ๆซึ่งสำคัญต่อผู้ป่วยระยะสุดท้ายอาจโดนเลื่อนการนำออกสู่ตลาดสหรัฐ เพื่อหลีกทางให้ยาสำหรับผู้ป่วยระยะแรกซึ่งกำไรดีกว่า

การจำกัดค่าใช้จ่าย OOP ไม่เกิน $2,000 ต่อปี เป็นประโยชน์ต่อคนไข้และอุตสาหกรรม biopharma เนื่องจากสนับสนุนให้คนไข้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพราะจ่ายไหว ดังนั้น อุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์จากวอลุ่มที่เพิ่มขึ้นมาช่วยชดเชยผลกระทบด้านราคา

หากมองในแง่การเงิน ผลกระทบจากร่างกฎหมายนี้รวมทั้งสิ้นคงไม่ถึง $2 แสนล้านตลอดระยะเวลา 10 ปี หรือราว 2% ของรายได้รวมอุตสาหกรรมยาทั่วโลกซึ่งบริหารจัดการได้ และที่แน่ๆมันมีข้อดีประการหนึ่งคือ ช่วยสร้างความชัดเจนเรื่องปฏิรูปราคายาหลังจากยืดเยื้อมานาน

สถานะลงทุนของกองทุนหลัก

ร่างกฎหมายราคายาสอดคล้องกับที่ผู้จัดการกองทุนหลักคาดไว้ ปัจจัยนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญก็จริงแต่เชื่อว่าบริหารจัดการได้และสะท้อนในราคาหุ้นมากเกินพอแล้ว ความชัดเจนเรื่องปฏิรูปราคายาช่วยลดความไม่แน่นอนซึ่งคาราคาซังมายาวนานกว่า 6 ปี อย่างไรก็ตาม ร่างฯใหม่อาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อนวัตกรรมด้านยากินสำหรับผู้สูงวัย ผู้จัดการกองทุนหลักหวังว่าข้อเสียนี้จะได้รับการแก้ไขก่อนสร้างความเสียหายมากเกินไป ทั้งนี้ ข้อเสนอส่วนใหญ่ยังไม่มีผลบังคับภายในระยะเวลา 3-4 ปีข้างหน้า (อาจไม่มีผลบังคับเลยก็ได้จากความท้าทายทางกฎหมาย ถูกล็อบบี้ ฯลฯ) สุดท้าย “ถ้า” บังคับใช้ได้จริงจะกระทบการตัดสินใจลงทุนในบริษัทที่พัฒนายากินสำหรับผู้สูงวัย โดยผู้จัดการกองทุนหลักได้ปรับพอร์ตเพื่อรับมือความเสี่ยงดังกล่าวไว้อย่างเหมาะสมแล้ว

KT-CLIMATE ลงทุนในหน่วยของ Schroder ISF Global Climate Change Equity (กองทุนหลัก) เน้นลงทุนในธุรกิจที่ตระหนักถึงภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และมีโอกาสเติบโตเชิงโครงสร้างระยะยาว คัดเลือกหุ้นโดยอิงปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)

มุมมองเรื่อง IRA ของผู้จัดการกองทุนหลัก KT- CLIMATE

Inflation Reduction Act มีนัยสำคัญต่อธีม Climate Change เพราะช่วยลดความไม่แน่นอนให้แก่บริษัทพลังงานทดแทนในสหรัฐ (หลังเผชิญความไม่แน่นอนมาสักระยะ) อีกทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางการเงินในรูปของแรงจูงใจด้านภาษีสำหรับการผลิตพลังงานสะอาดและการผลิตเครื่องมือ/อุปกรณ์ (ต่ออายุเครดิตภาษีสำหรับการลงทุนแผงโซลาร์ในที่อยู่อาศัยออกไปอีก 10 ปี พลังงานลม 3 ปี ฯลฯ)

ร่างฯดังกล่าวเป็นปัจจัยสนับสนุนชัดเจนและน่าจะช่วยทลวงคอขวดปลดล็อกสภาวะชะงักงันในบางตลาดเช่น พลังงานลม ซึ่งก่อนหน้านี้บรรดาผู้พัฒนา/ผู้ประกอบการต่างหยุดกิจกรรมไว้ชั่วคราวเพื่อรอกฎหมายใหม่ นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแก่พลังงานใหม่อีกด้วย (ราคาพลังงานเก่าพุ่งสูงขึ้นกระตุ้นให้คนหันมาใช้พลังงานใหม่อยู่แล้ว)

ศักยภาพการแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจและความต้องการใช้พลังงานสะอาดยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง นโยบายก็เป็นอีกปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ การผ่านร่างฯ IRA มิได้เปลี่ยนแปลงตัวเลขประมาณการของผู้จัดการกองทุนหลักเท่าไรนักในแง่ผลตอบแทนคาดหวังระยะยาว แต่ก็นับเป็นก้าวย่างสำคัญบนแนวทางที่ถูกต้อง

*** ความเห็นของเราจะนำเสนอเช้าวันจันทร์ในรายการ Fund Today by KTAM ***

ไอเดียกองทุนรวมมีให้ทุกวัน ผู้สนใจเชิญรับชม Fund Today by KTAM ทุกเช้าวันทำการเริ่มเวลา 8:45 น. สามารถพิมพ์คำถามทางไลฟ์ Facebook: KTAM Smart Trade, Youtube: KTAM TV ONLINE หรือรับฟังและร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสามช่องทาง นอกจากนี้ดูคลิปย้อนหลังได้ทั้ง Youtube และ Facebook

#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์845