KTAM Focus : น้ำมัน $150

โดย..ณัฏฐะ มหัทธนา, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย

G-7 กำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย รัฐมนตรีคลัง 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เห็นพ้องให้จำกัดราคาซื้อน้ำมันจากรัสเซีย เพื่อลดกระแสรายได้ มุ่งบั่นทอนพลังการทำสงครามของปูติน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้กับ “น้ำมันดิบ” 5 ธ.ค. ปีนี้ และ “ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม” 5 ก.พ. 2023

รัสเซียตอบโต้ทันควัน โฆษกรัฐบาลเครมลินขู่จะไม่ขายน้ำมันให้ใครก็ตามที่กำหนดเพดานราคา …ถ้าพูดอย่างเดียวคงโดนหาว่าเห่าแต่ไม่กัด… บริษัทยักษ์พลังงานรัสเซีย Gazprom ซัพพลายเออร์ก๊าซธรรมชาติรายใหญ่สุดของยุโรปประกาศปิดท่อส่งหลัก Nord Stream 1 ต่อไปไม่มีกำหนด (เดิมจะเปิดเสาร์ 3 ก.ย.) อ้างแก้ปัญหาน้ำมันรั่วจากเครื่องยนต์ไม่ได้

JPMorgan เคยเตือนราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งทะลุฝ้า $380 ต่อบาร์เรล หากรัสเซียลดปริมาณผลิต/ส่งออกเพื่อตอบโต้ชาติตะวันตก นักวิเคราะห์ค่ายใหญ่อเมริกันประเมินไว้ตั้งแต่ต้น ก.ค. ว่ารัสเซียมีฐานะการคลังแข็งแกร่งมากจนสามารถลดปริมาณผลิตลง 5 ล้านบาร์เรลต่อวันโดยไม่น่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของตนเองมากเกินไป JPMorgan ณ เวลานั้นคาดการณ์สัญญาน้ำมันดิบ Brent มีโอกาสแตะ $190 ถ้ารัสเซียผลิตน้อยลง 3 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนกรณีเลวร้ายสุด (รัสเซียลดผลิต 5 ล้านบาร์เรล/วัน) ราคาอาจพุ่งเลยชั้นบรรยากาศโลก (stratospheric) $380 ต่อบาร์เรล

น้ำมัน $150 นักกลยุทธ์ KTAM ชี้ราคาประมาณซึ่งปัจจัยการผลิตตัวหลักของโลกมีโอกาสไปถึงได้ไม่ยากนักไว้ในบทสัมภาษณ์หลายรายการ …ขอแชร์ครั้งล่าสุด…

ทำไมต้องซื้อ “Commodity” ?? (1 ก.ย.) https://youtu.be/oXvTg8VAvIg?t=120

$147.27 ต่อบาร์เรล คือจุดสูงสุดตลอดกาลของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ทำไว้เมื่อ 11 ก.ค. 2008 หรือกว่า 14 ปีที่แล้ว สัญญาฟิวเจอร์สเคยแกว่งตัวแถวหลักร้อยดอลลาร์อยู่ตั้งนานระหว่างปี 2011-2014 ก่อนโดน US shale revolution จุดไฟ price war ดันอุปทานพุ่ง oversupply กดราคาลงมา $40-$60 แทบตลอดช่วงเวลากว่าครึ่งทศวรรษก่อนโควิด วิกฤตล็อกดาวน์สร้างประวัติศาสตร์ “น้ำมันติดลบ” ก่อนพบวัคซีน Q4/2020 ฟื้นดีมานด์ตามธีม reopening เปิดฉาก commodities supercycle “อภิมหาวัฏจักรโภคภัณฑ์” ซึ่งดำเนินมาเกือบ 2 ปี โดยมีหลายปัจจัยเข้ามารับไม้ต่ออายุขาขึ้น อาทิ อุปทานชะงัก สงครามยูเครน เงินเฟ้อ ฯลฯ

น้ำมันหมดรอบ? นักลงทุนจำนวนไม่น้อยคงคิดว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ย/ลดขนาดงบดุล เศรษฐกิจโลกชะลอ/ถดถอย น่าจะเข้ามายุติวัฏจักรขาขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ …แต่เราไม่เชื่อเช่นนั้น

ราคาน้ำมันดิบ “ต่ำไป” (2 ก.ย.) WTI $87.25, Brent $93.28 ห่างไกลจาก all-time high ต่ำกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน แถมยังไล่ไม่ทันดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐในช่วงทศวรรษล่าสุด! ดังนั้น หากราคาน้ำมันดิบจะขึ้นไปใกล้จุดสูงสุดเดิมก็เป็นเพียง catch up กลับเข้าสู่แนวโน้มระยะยาวเท่านั้นเอง

Goldman Sachs ย้ำซื้อโภคภัณฑ์ (29 ส.ค.) โอกาสเกิดภาวะถดถอยนอกยุโรปใน 12 เดือนข้างหน้ายังต่ำ commodities ปรับฐานแรงสะท้อนความเสี่ยงมากกว่าสินทรัพย์อื่นจึงสร้างจุดเข้าซื้อที่ดี “ยักษ์วอลล์สตรีท” มองภาคผลิตอ่อนแรงแต่ภาคบริการยังแกร่งโดยเฉพาะกิจกรรมเดินทางท่องเที่ยวส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐแค่ชะลอ (deceleration) แต่ไม่ถึงกับหดตัว (contraction) และอยู่ใน late-cycle ต่อไปสักพักใหญ่ แม้ตลาดหุ้นเผชิญแรงเสียดทานจากเงินเฟ้อสูงและเฟดดำเนินนโยบายเข้มงวด ทว่าปัจจัยมหภาคปัจจุบันสนับสนุนการลงทุน “โภคภัณฑ์” ซึ่งมักเป็นแชมป์ปลายวัฏจักร ดีมานด์ > ซัพพลาย สต็อกน้ำมันและโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำทำให้ futures curve คงรูปทรง backwardation (สัญญาสั้น > สัญญายาว) นอกจากนี้ ปัจจัยฤดูกาล (seasonality) น่าจะช่วยเพิ่ม upside แก่สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่ม energy และ agriculture ในช่วงที่เหลือของปี

ดีลนิวเคลียร์อิหร่าน การเจรจาโค้งสุดท้ายเป็นปัจจัยกดดันระยะสั้น เพราะถ้าตกลงกันได้จริงแล้วชาติมหาอำนาจทยอยเลิกมาตรการคว่ำบาตรเป็นเฟสๆก็จะเปิดทางให้อิหร่านส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยขายน้ำมันจากเรือบรรทุกที่ลอยรอในทะเลและเร่งผลิตตามความสามารถ ซึ่งตลาดรับรู้ไปพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม อิหร่านเรียกร้องให้สหรัฐ “การันตี” ว่าจะไม่ถอนตัวจากข้อตกลงอีก แต่ไบเดนคงยืนยันไม่ได้ ดังนั้น เงินลงทุนใหม่จำนวนมหาศาลจากต่างชาติซึ่งจำเป็นต่อการเพิ่มปริมาณผลิตอย่างมีนัยสำคัญก็คงยังไม่หลั่งไหลเข้าสู่อิหร่านจนกว่าจะรู้ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปี 2024 นอกจากนี้ ซาอุฯเริ่มขู่ว่าอาจหั่นปริมาณผลิตหากซัพพลายจากอิหร่านเข้ามาจริง …สรุปว่าเกมนี้มีหลายด่านเหลือเกิน ดีลนิวเคลียร์ยังไม่ชัวร์ว่าจะ done แต่ถึงตกลงกันได้ตลาดน้ำมันก็คงไม่พลิกกลับไป oversupply และยังตึงตัวอยู่ดี

จีนล็อกดาวน์ กี่วันกี่สัปดาห์คงกดดันดีมานด์แค่ระยะสั้นเพราะสุดท้ายก็ปลดล็อก เศรษฐกิจจีนถูกสั่งให้ฟื้น ถ้ายังฟุบก็แปลว่าต้องอัดมาตรการกระตุ้นเพิ่มอีก เป็นปัจจัยหนุนราคาโภคภัณฑ์

Underinvestment “การลงทุนไม่เพียงพอ” เพื่อจัดหาพลังงานรูปแบบดั้งเดิม เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเรื้อรังมาหลายปีจน ดีมานด์-ซัพพลาย เสียสมดุลอย่างมาก เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานเก่ายังคงเพิ่มขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน (อันยาวนาน) สู่พลังงานใหม่ เปิดโอกาสลงทุนน้ำมันและหุ้นกลุ่มพลังงาน (ดั้งเดิม)

กองทุนเปิดเคแทม ออยล์ ฟันด์ (KT-OIL) (ระดับความเสี่ยงกองทุน = 8) ลงทุนในหน่วยของ Invesco DB Oil Fund (กองทุนหลัก) ซึ่งลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ WTI ณ 2 ก.ย. 2022 ถือสัญญารุ่น JAN 2023 (CLF3 หมดอายุ 20 ธ.ค. 2022) ดังนั้น nav อาจเคลื่อนไหวแตกต่างจากที่เห็นในข่าวทั่วไปซึ่งมักรายงานราคาของสัญญารุ่นใกล้สุด

กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เอ็นเนอร์จี ฟันด์ (KT-ENERGY) (ระดับความเสี่ยงกองทุน = 7) กองทุนหลัก BGF World Energy Fund ลงทุนหุ้นพลังงานทั่วโลก ซึ่งมีความสัมพันธ์ค่อนข้างมากกับราคาน้ำมัน

ไอเดียกองทุนรวมมีให้ทุกวัน ผู้สนใจเชิญรับชม Fund Today by KTAM ทุกเช้าวันทำการเริ่มเวลา 8:45 น. สามารถพิมพ์คำถามทางไลฟ์ Facebook: KTAM Smart Trade, Youtube: KTAM TV ONLINE หรือรับฟังและร่วมพูดคุยใน Clubhouse: KTAM Smart Trade สดพร้อมกันสามช่องทาง นอกจากนี้ดูคลิปย้อนหลังได้ทั้ง Youtube และ Facebook

#คุยทุกวันฟันทุกเช้า #ฟันทูเดย์845

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน