โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
เราคุยกันไป 2 แก่แล้วสำหรับการแก่อย่างมีความสุข มาแก่ที่ 3 คือ แก่เงิน ช่วงปลายปีทุกปีเลยครับ ที่ผมมักจะได้รับเกียรติให้ไปบรรยายเรื่องการเงินหลังวัยเกษียณ และทุกครั้งที่บรรยายเสร็จ ก็มักจะได้รับฟังจากผู้ฟังเสมอเลยว่า “ทำไมมาบอกตอนนี้ น่าจะบอกเขาอย่างน้อยซัก 10 ปีก่อนเกษียณก็ยังดี จะได้วางแผนทัน” (แต่เวลาบรรยายเรื่องเกษียณให้คนหนุ่มสาวฟัง กลับได้ยินว่า “มาพูดอะไรตอนนี้ อีกตั้งหลายปีกว่าจะเกษียณ” นี่แหละทำนอง ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา)
จริงๆ ปรากฎการณ์นี้แม้เป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดี และ เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่กำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือ มีคนอายุเกิน 60 ปีมากกว่า 20% ของประชากรไทยทั้งประเทศ แต่ก็เป็นเรื่องปกติที่พบในสังคมไทย สอดคล้องกับข้อมูลงานวิจัยเมื่อหลายปีก่อนงานหนึ่งของ Ernst & Young ที่ได้รายงานผลสำรวจเรื่องการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ โดยสอบถามผู้ที่เกษียณอายุแล้ว มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ถ้าพวกเขามีโอกาสใหม่อีกครั้ง พวกเขาอยากจะทำอะไร
• 49% กล่าวว่า อยากศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบริการเพื่อวัยเกษียณให้มากกว่านี้
• 46% อยากทำงบประมาณที่ดีกว่านี้เพื่อความถูกต้องของจำนวนเงินที่ต้องการเงินในยามเกษียณ
• 46% กล่าวว่า อยากเริ่มวางแผนให้เร็วกว่านี้
• 31% ต้องการขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษาทางการเงิน!
• 21% อยากย้อนเวลากลับไปจัดทำประมาณการเงินได้ที่ต้องการเพื่อไว้ใช้จ่ายวัยเกษียณ
• 19% อยากย้อนเวลากลับไปวางแผนการลงทุนและจัดทำพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม
• 19% อยากย้อนเวลากลับไปทำความเข้าใจเงื่อนไขที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆของแหล่งเงินสะสมเพื่อการเกษียณต่างๆ
• 18% อยากย้อนเวลากลับไปกำหนดรูปแบบการได้รับผลตอบแทนหลังเกษียณ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันมาขึ้น
• 17% อยากย้อนเวลากลับไปเป็นหนุ่มสาวอีกครั้ง เพื่อกลับไปทำงานหาเงินมาเป็นทุนสำรองสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณให้มากขึ้น
แต่คำถามหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ทำไมคนไทยถึงไม่ค่อยวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณกัน คำตอบหนึ่งก็น่าจะอ้างอิงจากงานวิจัยปี 2556 ที่สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจการเตรียมความพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบ ช่วงอายุ 40-60 ปี ใน กทม. และปริมณฑลแล้ว พบว่า คนวัยนี้วางแผนออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณผิดพลาด โดยผลวิจัยระบุว่า ความผิดพลาดดังกล่าวมีอยู่ 7 ประการ ซึ่งทำให้คนที่อยู่วัยนี้มีเงินออมไม่พอใช้หลังเกษียณ กล่าวคือ
1. เริ่มวางแผนช้าเกินควร คือมีเพียง 38% เท่านั้นที่เคยวางแผนไว้และทำได้ตามแผน
2. มั่นใจมากเกินควร กล่าวคือ71% ที่ไม่เคยวางแผน กลับมั่นใจว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณใกล้เคียงหรือดีกว่าที่เป็นอยู่
3. วางแผนโดยขาดความรู้ ความเข้าใจ เช่น มักละเลยผลของเงินเฟ้อในอนาคต
4. การประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณน้อยเกินควร กลุ่มตัวอย่างมักวางแผนว่าจะใช้เงินเพียง 34%ของรายได้เดือนสุดท้าย ขณะที่ค่าขั้นต่ำที่นิยมใช้วางแผนตัวเลขจะอยู่ที่ 70%
5. ประมาณอายุขัยเฉลี่ยน้อยเกินควร พบข้อผิดพลาดนี้ผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชาย ทำให้มีโอกาสที่เงินจะหมดก่อนสิ้นอายุขัย
6. ออมเงินไว้น้อยเกินควร ส่วนใหญ่จะมีเงินออมไม่เพียงพอ ถ้าไม่นับอสังหาริมทรัพย์อยู่ในสินทรัพย์แต่ถ้านับรวมส่วนใหญ่จะมีเงินออมเพียงพอ
ดังนั้น หากเราไม่อยากเสียใจ และเสียดายเวลาที่ผ่านไป เมื่อถึงคราวเกษียณ รีบเริ่มวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่วันนี้เลยนะครับ เริ่มช้าดีกว่าไม่ได้เริ่มครับ
แล้วอย่าลืมนะ ถ้าตอนแก่เงินไม่มี สุขภาพก็ไม่ดี เราจะอยู่ยังไง
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : “เจอ จ่าย จบ” ยังไม่ “จบ” ตอนที่ 1
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 3)
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 2)
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ
ความจริงความคิด : บันได 10 ขั้นสู่ความสุขในวัยเกษียณ (ตอนที่ 1 )
ความจริงความคิด : ขายฝาก vs จำนอง
ความจริงความคิด : วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุน