ความจริงความคิด : “เจอ จ่าย จบ” ยังไม่ “จบ” ตอน 2

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ครั้งที่แล้ว เราคุยกันถึงปัญหาการจ่ายสินไหมล่าช้า กรณีบริษัทประกันยังดำเนินกิจการอยู่ แต่อีกกรณี ก็คือ กรณีบริษัทประกันถูกเพิกถอนใบอนุญาต เมื่อมีการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทประกัน คปภ. จะแต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทประกันภัยนั้น

ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยได้รับแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี กองทุนประกันวินาศภัยจะมีจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ของบริษัทประกันภัยทุกรายเพื่อทราบ พร้อมทั้งจะออกประกาศเพื่อแจ้งให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบว่าบริษัทประกันภัยดังกล่าวถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยแล้ว และให้เจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำขอรับชำระหนี้เพื่อขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทประกันภัยตามวันและเวลาที่กองทุนประกาศกำหนด

ทั้งนี้ เจ้าหนี้สามารถติดตามประกาศการยื่นคำขอรับชำระหนี้ และสถานที่รับคำขอรับชำระหนี้ได้ที่ www.gif.or.th และ Facebook : กองทุนประกันวินาศภัย

เจ้าหนี้แบ่งเป็น

1) เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย คือ ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือบุคคลภายนอกที่มีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ทั้งนี้ รวมถึงทายาท ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องหรือรับช่วงสิทธิจากบุคคลดังกล่าว

2) เจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย เช่น หนี้แรงงาน หนี้ทางการค้า หนี้จากสัญญาเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ
ตัวอย่าง กรณี อาคเนย์ประกันภัย และ ไทยประกันภัย เจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน – 15 กรกฎาคม 2565 ดังรายละเอียดข้างล่าง

วิธีเคลมประกันโควิด ประกันอื่นๆ หลังบริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต แบ่งเป็น 3 กรณี คือ

ผู้เอาประกันที่ได้รับความเสียหายแล้ว หรือ คนที่ติดโควิด และได้ยื่นเรียกร้องความเสียหายแล้ว ให้ยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนจะเป็นผู้เข้ามารับช่วงจ่ายเคลมค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันตามที่ได้มีการอนุมัติค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว

ผู้เอาประกันที่ได้รับความเสียหายแล้วยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องความเสียหาย หรือติดโควิดแต่ยังไม่ได้เคลมประกัน ให้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนจะพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์

ผู้เอาประกันที่ยังไม่ได้รับความเสียหาย หรือ คนที่ยังไม่ได้ติดโควิด ให้ยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนจะคืนเบี้ยให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่ ซึ่งผู้เอาประกันสามารถนำเบี้ยประกันภัยที่จะได้รับคืนไปใช้แทนเงินสดในการเลือกซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการได้ทุกประเภทกรมธรรม์ประกันภัย

กรอบระยะเวลาในการรับเงินคืน

เจ้าหนี้ทุกประเภทต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่กองทุนฯ กำหนดในประกาศ (กรณีอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย กรอบระยะเวลาในการยื่นขอรับชำระหนี้ คือ ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. 65 สิ้นสุดถึงวันที่ 15 ก.ค. 65)

– สำหรับเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย กองทุนจะนำหลักทรัพย์ประกัน และเงินสำรองประกันภัยของบริษัทที่วางไว้กับนายทะเบียนมาเฉลี่ยจ่ายให้ และจะนำเงินของกองทุนมาจ่ายส่วนที่ขาด แต่รวมแล้วไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย

– สำหรับเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย หลังจากที่กองทุนมีการนำทรัพย์สินของบริษัทจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยครบถ้วนแล้ว หากมีทรัพย์สินของบริษัทเหลือจะนำมาให้แก่เจ้าหนี้อื่นๆ และหากไม่เพียงพอเจ้าหนี้อื่นจะต้องยืนขอชำระหนี้ส่วนที่ขาดจากองทรัพย์สินคดีล้มละลายอีกครั้ง

สรุปง่ายๆ คือ กองทุนประกันวินาศภัยจะคุ้มครองเฉพาะเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยเท่านั้น มูลค่าการคุ้มครอง คือ เมื่อรวมกับทรัพย์สินที่ได้รับจากการชำระบัญชีแล้วไม่เกิน 1 ล้านบาท ตัวอย่างเช่น หากมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยคือ 2.5 ล้านบาท ชำระบัญชีได้เงินมา 4 แสนบาท กองทุนประกันวินาศภัยจะจ่ายให้อีก 6 แสนบาท คือรวมแล้วไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่ยังขาดอยู่ เจ้าหนี้จะต้องยืนขอชำระหนี้ส่วนที่ขาดจากองทรัพย์สินคดีล้มละลายอีกครั้ง

ส่วนเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยไม่ได้รับการคุ้มครองจากองทุนประกันวินาศภัย ตัวอย่างเช่น หากมูลหนี้คือ 2.5 ล้านบาท ชำระบัญชีได้เงินมา 4 แสนบาท เจ้าหนี้จะต้องยืนขอชำระหนี้ส่วนที่ขาดจากองทรัพย์สินคดีล้มละลายอีกครั้ง

ขอย้ำ!!!!! เจ้าหนี้ที่ไม่ยื่นคำขอชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่กองทุนประกาศกำหนด จะทำให้เสียสิทธิในการชำระหนี้ เป็นผลให้ไม่ได้รับเงินตามสัญญาประกันภัย

หากเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของทั้งสองบริษัท ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้

1) กรมธรรม์ประกันภัย
2) บัตรประจำตัวประชาชน
3) ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ และ
4) หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)

และหากเป็นเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้นำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้
ดังนี้

1) หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้
2) บัตรประจำตัวประชาชน และ
3) หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)

ผู้เอาประกันภันสามารถยื่นคำขอทวงหนี้ต่อกองทุนฯ หรือศูนย์รับคำขอที่สำนักงาน คปภ. จัดตั้งได้ทั่วประเทศ หรือผ่านออนไลน์ ได้ที่ https://rps-sev.gif.or.th/Login

 

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : “เจอ จ่าย จบ” ยังไม่ “จบ”
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ
ความจริงความคิด : บันได 10 ขั้นสู่ความสุขในวัยเกษียณ (ตอนที่ 1 )
ความจริงความคิด : โกงภาษี ผิดกฎหมายฟอกเงิน
ความจริงความคิด : เรื่องที่ลูกจ้างต้องรู้เมื่อออกจากงาน
ความจริงความคิด : ขายฝาก vs จำนอง