ความจริงความคิด : บันได 10 ขั้นสู่ความสุขในวัยเกษียณ (ตอนจบ)


โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เราขึ้นบันไดมา 7 ขั้นแล้ว คือ

• ขั้นที่หนึ่ง คือ การรู้จักตนเอง
• ขั้นที่สอง คือ เริ่มออมทันที และมีวินัยในการออมให้สม่ำเสมอ
• ขั้นที่สามคือการศึกษา และเลือกประเภทตราสารหรือหลักทรัพย์หรือกองทุนรวมที่เหมาะสม
• ขั้นที่สี่ คือ การตั้งเป้าหมาย
• ขั้นที่ห้า คือการวิเคราะห์หาทางเลือกต่างๆ
• ขั้นที่หก คือการกระจายความเสี่ยง
• ขั้นที่เจ็ด คือการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เต็มที่

เรามาเริ่มขั้นที่แปดกันเลยดีกว่า

ขั้นที่ แปด คือการตัดสินใจลงทุน

เมื่อวางแผนเรียบร้อยแล้ว หรือพอจะมีข้อมูลที่จะใช้ประกอบการวางแผนแล้ว เราก็ควรจะตัดสินใจว่าจะลงทุนในตราสารหรือหลักทรัพย์โดยตรง หรือจะลงทุนในกองทุนรวม หากเราเลือกอย่างหลัง สิ่งที่เราควรจะพิจารณาให้ดีก่อนที่จะเข้าไปตัดสินใจซื้อหน่วยลงทุน ก็คือ การพิจารณาเลือกบริษัทที่จะมาทำหน้าที่บริหารเงินออมของเรา เพื่อให้แน่ใจว่าได้คัดเลือกบริษัทจัดการที่ดีที่สุดที่จะให้ความไว้วางใจบริหารเงินออมของเรา

โดยทั่วไปแล้วหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกบริษัทจัดการนั้น เราควรพิจารณาปัจจัยต่างๆดังนี้

1. ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของทีมงาน ทั้งทีมผู้จัดการกองทุน และผู้วางแผนการลงทุน และความพร้อมของระบบการจัดการกองทุน

2. จรรยาบรรณของบริษัทจัดการ ดูได้จากประวัติด้านจรรยาบรรณ และการปฏิบัติตามกฏหมายใน Website ของ ก.ล.ต. www.sec.or.th

3. ความมั่นคงของบริษัทจัดการนั้นๆ เช่นฐานะทางการเงิน ผู้ถือหุ้น ฯลฯ ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าบริษัทดังกล่าวจะสามารถจ้างบุคลากรที่มีคุณภาพและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสามารถลงทุนในเทคโนโลยีที่จำเป็นได้เต็มที่

4. ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนภายใต้การจัดการของบริษัทนั้นเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่เขาใช้วัดกัน เช่น กองทุนประเภทหุ้นทุน ก็ใช้ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ฯ ( SET Index) กองทุนตราสารหนี้ก็ใช้ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลจากศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย ( TBDC Government Return Price Index ) เป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบ ตลอดจนเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของกองทุนประเภทเดียวกันของทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวมเป็นต้น แต่ทั้งนี้ต้องเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน และควรวัดผลในระยะยาวพอสมควรโดยดูความสม่ำเสมอของการดำเนินงานด้วย นั่นคือผลตอบแทนที่ทำได้นั้นดีสม่ำเสมอหรือเปล่า

5. ดูทรัพย์สินภายใต้การจัดการหรือจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการนั้นก็สามารถเป็นเครื่องชี้วัดอย่างหนึ่งได้ว่า ถ้ามีจำนวนมากแสดงว่า บริษัทจัดการนั้นมีผู้ไว้วางใจมาก ตลอดจนการได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนสถาบัน เพราะนักลงทุนสถาบันมักมีเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกบริษัทจัดการที่ละเอียดกว่านักลงทุนรายย่อย

6. บริการการให้คำปรึกษาการลงทุนที่ดี และความสะดวกในการซื้อขายหน่วยลงทุน เพราะเราควรจะเข้าใจการลงทุนอย่างดีก่อนจะตัดสินใจลงทุน หากบริษัทใดมีบริการที่สามารถทำให้เราซื้อขายหน่วยลงทุนได้โดยสะดวก และสามารถซื้อแบบหักบัญชีธนาคารแบบสม่ำเสมอ( Saving Plan)ได้ ก็จะช่วยให้เราสามารถทยอยการออมและบังคับตนเองให้มีวินัยในการออมได้

7. การมีกองทุนครบทุกประเภทให้เลือก นอกจากจะทำให้เรามีทางเลือกครบและได้รับความสะดวกในการโอนย้ายการลงทุนแล้ว ยังเป็นเครื่องชี้อย่างหนึ่งที่แสดงว่าบริษัทจัดการนั้นมีความพร้อมและประสบการณ์ในการบริหารหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ หลากหลาย ซึ่งก็น่าจะเป็นผลดีต่อเงินออมของเราเช่นกัน

ขั้นที่ เก้า คือ การเลือกประเภทกองทุน
ถัดจากการเลือกบริษัทจัดการก็คือการเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับตัวเรา คือการขอคำแนะนำจากผู้วางแผนการลงทุน (investment planner) ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทจัดการหรือตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการอบรม และทดสอบความรู้ด้านการวางแผนการลงทุนมาแล้ว จึงเป็นผู้ที่จะสามารถให้คำแนะนำเราได้เป็นอย่างดีว่าเราควรจะลงทุนในกองทุนประเภทไหน และกระจายการลงทุนอย่างไรเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการออมเพื่อเกษียณอายุ

ขั้นที่ สิบ ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย คือ ติดตาม วิเคราะห์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของหลักทรัพย์ รวมถึงการทบทวนและปรับการลงทุนให้เหมาะกับชีวิตเราที่เปลี่ยนไป

การที่เราจะมีความสุขในวัยเกษียณได้นั้นดูเหมือนจะต้องมีขั้นตอนการวางแผนมากมายซึ่งอาจจะดูยุ่งยาก แต่หากพิจารณาจริงๆแล้วสิ่งที่สำคัญทีสุดก็คือ การลงมือปฏิบัติโดยออมทันที ตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเราจะไม่ประสบปัญหาเงินออมไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่าย และจะมีความสุขในวัยเกษียณ เพราะฉะนั้นควรเริ่มออมตั้งแต่วันนี้เพื่อที่ทุกอย่างจะไม่สายเกินไป

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : บันได 10 ขั้นสู่ความสุขในวัยเกษียณ (ตอน 2)
ความจริงความคิด : บันได 10 ขั้นสู่ความสุขในวัยเกษียณ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : วัยเกษียณ ความเสี่ยงที่หนีพ้นถ้าตายก่อน
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : 10 คำถามที่พบบ่อย เมื่อจะต้องเช็คสิทธิ และใช้สิทธิบัตรทอง
ความจริงความคิด : ยิ่งเกิด covid ยิ่งกังวลเรื่องเงิน
ความจริงความคิด : การบริหารความเสี่ยงในการลงทุน
ความจริงความคิด : แม่ค้าตลาดนัด ระวังสรรพากรนัดเจอ