ความจริงความคิด : บันได 10 ขั้นสู่ความสุขในวัยเกษียณ (ตอน 2)

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ครั้งที่แล้ว เราพูดกันถึงบันได 4 ขั้นแรกสู่ความสุขในวัยเกษียณกันแล้ว คือ

ขั้นที่ หนึ่ง คือ การรู้จักตนเอง
ขั้นที่ สอง คือ เริ่มออมทันที และมีวินัยในการออมให้สม่ำเสมอ
ขั้นที่สามคือการศึกษา และเลือกประเภทตราสารหรือหลักทรัพย์หรือกองทุนรวมที่เหมาะสม
ขั้นที่ สี่ คือ การตั้งเป้าหมาย

ขั้นที่ห้า คือการวิเคราะห์หาทางเลือกต่างๆ ที่จะให้ผลตอบแทนเพียงพอให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องคือ ระยะเวลาในการออม จำนวนเงินออม ผลตอบแทนของเงินออม

ตัวอย่าง เช่น หากเราอายุ 40 ปี ตั้งใจจะเกษียณเมื่ออายุ 55 โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีเงิน 5 ล้านบาทเมื่อเกษียณ และออมได้เดือนละ 10,000 บาท เราจะคำนวณได้ว่าเงินที่ออมจะต้องนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12% ต่อปี

ขั้นต่อไปเราต้องมาดูว่าเราจะลงทุนในตราสารหรือกองทุนประเภทไหน จึงจะได้ผลตอบแทนในระดับนี้ ซึ่งดูจากข้อมูลในอดีตก็คงมีแต่การลงทุนในหุ้นทุนซึ่งมีผลตอบแทนเฉลี่ยในระดับนั้นได้

แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้ไม่มากก็อาจจะลงทุนในตราสารหนี้ หรือ ลงทุนในหุ้นทุนบางส่วน และอีกส่วนหนึ่ง ลงทุนในตราสารหนี้ก็ได้ แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้ต่ำมาก ก็คงจะต้องลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือพันธบัตรและเงินฝากเท่านั้น แต่เนื่องจาก การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ พันธบัตรหรือเงินฝาก ให้ผลตอบแทนไม่ถึง 12%ต่อปี ก็จะต้องเพิ่มจำนวนเงินออมต่อเดือนให้มากกว่า 10,000 บาท เช่นถ้าหากนำเงินไปลงทุนในพันธบัตร มีผลตอบแทนประมาณ 4%ต่อปีก็จะต้องออมเงินประมาณ 20,320 บาทต่อเดือนเป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ถ้าทางเลือกของการลงทุนไม่เหมาะสมเราจะต้องชดเชยด้วยการปรับตัวแปรอื่นๆ คือ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือ พยายามหารายได้ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนเงินออมในแต่ละเดือนให้มากขึ้น

อีกวิธีที่ง่ายๆ คือ ลดเป้าหมายจำนวนเงินที่อยากจะมีตอนเกษียณลง ตัวแปรนี้ลดได้ง่ายที่สุด แต่ต้องระวังว่า เราจะลำบากเมื่อแก่หรือไม่ ถึงตอนนั้นก็คงไม่รู้จะย้อนกลับมาแก้ไขได้อย่างไร แต่ถ้าหากการปรับตัวแปรเหล่านี้เป็นไปได้ยาก เราก็ควรจะกลับไปพิจารณาทางเลือกในการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นก็ตาม โดยควรจะศึกษาหาความรู้เพื่อให้เข้าใจการลงทุนประเภทดังกล่าวให้ดีขึ้น ตลอดจนอาจเริ่มลงทุนเพียงเล็กน้อยในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มการลงทุนในภายหลังเมื่อมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นแล้ว

ขั้นที่ หก คือการกระจายความเสี่ยง
การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง หากคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นก็ย่อมมีความเสี่ยงสูงขึ้นด้วย ในการเลือกลงทุนในตราสารหรือหลักทรัพย์ประเภทต่างๆนั้น เราจะต้องจัดสัดส่วนการลงทุนให้ดี โดยจะต้องกระจายการลงทุนไปในตราสารและหลักทรัพย์ให้หลากหลายประเภทและหลากหลายผู้ออกหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนลงไปได้มาก

มีคำพังเพยของฝรั่งที่กล่าวว่า “อย่าวางไข่ในตะกร้าใบเดียว” ก็เพราะหากวางไข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียว หากตะกร้าตก ไข่ทั้งหมดก็จะแตก การลงทุนก็เช่นเดียวกัน เราควรกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์หลายๆ ประเภทๆละหลายๆตัว เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพื่อที่ว่าหากหลักทรัพย์ใดเกิดปัญหา เงินออมของเราก็จะถูกกระทบเฉพาะส่วนที่ลงทุนในหลักทรัพย์นั้น ไม่ถูกกระทบไปทั้งหมด

วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งของการกระจายความเสี่ยงคือ การลงทุนในกองทุนรวม เนื่องจากกองทุนมีขนาดใหญ่ทำให้สามารถแบ่งเงินไปลงทุนในตราสารและหลักทรัพย์จำนวนมากมาย ในขณะที่หากนักลงทุนแต่ละคนจะลงทุนเองโดยตรง อาจลงทุนได้ไม่กี่หลักทรัพย์ เป็นต้น

ขั้นที่ เจ็ด คือการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เต็มที่

ปัจจุบันภาครัฐได้สนับสนุนการออมเพื่อเกษียณอายุโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการออมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือล่าสุดกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งโดยให้ผู้ซื้อหน่วยลงทุนที่ต้องการออมเงินระยะยาวเพื่อไว้ใช้เพื่อยามเกษียณ ทางเลือกที่ดีที่สุดทางหนึ่งในการออมเพื่อเกษียณก็คือ การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) เนื่องจากผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังนี้

ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการต้องไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น

ยกเว้นเงินได้สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้รับจากกองทุนรวมฯ หากลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี และไม่น้อยกว่าอายุ 55 ปี หรือเมื่อทุพพลภาพหรือเสียชีวิต แล้วแต่อย่างไหนมาถึงก่อน

วันนี้ เราได้เพิ่มมาอีก 3 ขั้น รวมเป็น 7 ขั้นแล้ว ใกล้จะมีความสุขในวัยเกษียณแล้ว ครั้งหน้า เราจะมาพูดคุยกันในเรื่องเกี่ยวกับบันได 3 ขั้นสุดท้ายสู่ความสุขในวัยเกษียณ

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : บันได 10 ขั้นสู่ความสุขในวัยเกษียณ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : วัยเกษียณ ความเสี่ยงที่หนีพ้นถ้าตายก่อน
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : 10 คำถามที่พบบ่อย เมื่อจะต้องเช็คสิทธิ และใช้สิทธิบัตรทอง
ความจริงความคิด : ยิ่งเกิด covid ยิ่งกังวลเรื่องเงิน
ความจริงความคิด : การบริหารความเสี่ยงในการลงทุน
ความจริงความคิด : แม่ค้าตลาดนัด ระวังสรรพากรนัดเจอ