ความจริงความคิด : ธนาคารมีคุ้มครองเงินฝาก ประกันชีวิตก็มีเหมือนกัน


โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

อย่างที่รู้กันตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา วงเงินคุ้มครองเงินฝากจะอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อผู้ฝากเงินแต่ละรายต่อสถาบันการเงิน เท่านั้น โดยสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทย 18 แห่ง สาขาธนาคารต่างประเทศ 12 แห่ง บริษัทเงินทุน 2 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง รวมทั้งสิ้น 35 แห่ง จะได้รับความคุ้มครองเงินฝาก ไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ กฎหมายคุ้มครองเงินฝากไม่ครอบคลุมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธอส. ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ผู้ฝากเงินแต่ละรายหมายความว่า ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นออมทรัพย์ กระแสรายวัน ฝากประจำ บัตรเงินฝาก ใบรับฝากเงิน ฯลฯ ทุกบัญชีที่เปิดอยู่กับสถาบันการเงิน 1 แห่งจะต้องนำเงินฝากในทุกสาขาและทุกบัญชีมารวมคำนวณ แปลว่าการกระจายเงินฝากหลายบัญชี หรือ หลายสาขาแต่เป็นสถาบันการเงินเดียวกัน ไม่มีประโยชน์ในการเพิ่มวงเงินคุ้มครอง ดังนั้น ถ้าอยากได้วงเงินคุ้มครองเยอะๆ ก็ต้องกระจายเงินฝากไปหลายๆสถาบันการเงิน

หลายคนเข้าใจผิดว่า เงินฝากในสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น สหกรณ์ หรือเงินลงทุนในกองทุน ตราสารหนี้ ก็ได้รับความคุ้มครองเช่นกัน จริงๆแล้วไม่ใช่ครับ สหกรณ์ไม่ได้รับการคุ้มครอง เนื่องจากสหกรณ์ไม่ได้เป็นสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก สำหรับเงินลงทุนในกองทุนและหุ้นกู้ต่างๆนั้นไม่ถือว่าเป็นเงินฝากจึงไม่ได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน สังเกตง่ายๆ จากข่าวที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์บางแห่งที่สมาชิกหรือหุ้นกู้บางตัวที่ผู้ถือหุ้นกู้ยังไม่ได้รับเงินต้นคืนกันเลย

แต่ผลิตภัณฑ์การเงินอีกชนิดหนึ่งที่หลายคนคิดว่าไม่ได้รับการคุ้มครอง แต่จริงๆแล้วได้รับการคุ้มครองคล้ายๆเงินฝากเช่นกัน ผลิตภัณฑ์การเงินนั้นคือ ประกันชีวิต

หลายคนมักเข้าใจคำว่า “คุ้มครอง” ของประกันชีวิตสับสนกับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ คือสิทธิที่ผู้ถือกรมธรรม์จะได้ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ เช่น เสียชีวิต เป็นต้น แต่การคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันชีวิตในที่นี้หมายถึง กรณีที่บริษัทประกันล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตเหมือนการคุ้มครองเงินฝากที่จะคุ้มครองกรณีที่สถาบันการเงินมีปัญหา

ในธุรกิจประกันชีวิต จะมี “กองทุนประกันชีวิต” ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย (ผู้เอาประกัน) ในกรณีบริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต

โดยในกรณีที่บริษัทประกันชีวิตล้มละลายหรือถูกเพิกถอน ใบอนุญาต ผู้เอาประกันซึ่งมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้อื่นในหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่วางไว้กับนายทะเบียนของบริษัทประกันชีวิตต้องดำเนินการตามกฎหมายเพื่อขอรับชำระหนี้จากบริษัทประกันชีวิตที่ล้มละลาย หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตก่อน แต่หากได้รับชำระหนี้ไม่ครบ ผู้เอาประกันจึงจะมีสิทธิขอรับเงินในส่วนที่ขาดจากกองทุนประกันชีวิต โดยจำนวนเงินที่ผู้เอาประกันแต่ละรายมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทุนประกันชีวิตเมื่อรวมกับจำนวน เงินที่ได้รับชำระหนี้มาก่อนแล้ว ต้องไม่เกินมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย หากมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยทุกสัญญารวมกันมีจำนวนเกิน หนึ่งล้านบาท ก็ให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทุนเมื่อรวมกับจำนวน เงินที่ได้รับชำระหนี้มาก่อนแล้วเพียงหนึ่งล้านบาท

แปลว่า

• หากผู้เอาประกันเป็นเจ้าหนี้บริษัทประกันชีวิตที่ล้มละลาย 8 แสนบาท หากเรียกร้องทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้จากบริษัทประกันชีวิตได้ 5 แสนบาท ก็จะมีสิทธิขอรับเงินในส่วนที่ขาดอีก 3 แสนบาทได้จากกองทุนประกันชีวิต

• หากเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยเป็นเจ้าหนี้บริษัทประกันชีวิตที่ล้มละลาย 8 ล้านบาท หากเรียกร้องทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้จากบริษัทประกันชีวิตได้ 5 แสนบาท ก็จะมีสิทธิขอรับเงินในส่วนที่ขาดอีกเพืยง 5 แสนบาทได้จากกองทุนประกันชีวิต รวมแล้วต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท

• หากผู้เอาประกันเป็นเจ้าหนี้บริษัทประกันชีวิตที่ล้มละลาย 8 ล้านบาท หากเรียกร้องทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้จากบริษัทประกันชีวิตได้ 5ล้านบาท ก็จะไม่มีสิทธิขอรับเงินในส่วนที่ขาดจากกองทุนประกันชีวิต เพราะจำนวนเงินที่ได้รับชำระแล้วเกิน 1 ล้านบาท

เกณฑ์ในการคุ้มครองผู้เอาประกัน

• หากผู้เอาประกันภัยยังมีชีวิตอยู่ ณ วันที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาต ถือว่าผู้ เอาประกันเป็นเจ้าหนี้หนึ่งราย มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทุนไม่เกินหนึ่งล้านบาท

• หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตก่อนบริษัทประกันชีวิตถูกเพิกถอนใบอนุญาต และได้ระบุผู้รับประโยชน์หลายรายไว้ในกรมธรรม์ ต่อมาผู้รับประโยชน์แต่ละคนมาใช้ สิทธิของตนเองจะถือว่าผู้รับประโยชน์แต่ละคนเป็นเจ้าหนี้แต่ละราย มีสิทธิได้รับชำระ หนี้จากกองทุนได้รายละไม่เกินหนึ่งล้านบาท

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : เมื่อนายจ้างไม่ส่งเงินสมทบประกันสังคม ลูกจ้างเสียอะไร
ความจริงความคิด : ผ่อน 0% ใครได้ ใครเสีย
ความจริงความคิด : ซื้อของออนไลน์ป้องกันโกง ทำยังไง?
ความจริงความคิด : เรื่องต้องรู้ ลดหนี้ด้วยวิธีรีไฟแนนซ์
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ
ความจริงความคิด : กองทุนไหนดี เลือกอย่างไร
ความจริงความคิด : การบริหารความเสี่ยงในการลงทุน