โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
เรื่อง hot hit ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจาก January effect แบบหลอกให้ดีใจแค่ 2 วัน ก็น่าจะเป็นเรื่องภาษี crypto ที่สรรพากรออกมาให้ความกระจ่างว่าจะเก็บภาษีอย่างไร และกรอกแบบ ภงด. จะกรอกอย่างไร (แบบ ภงด. 90 ปีนี้ มีช่องให้กรอกเงินได้จากการลงทุนใน crypto แล้วนะ
เมื่อพิจารณาแนวแนวทางการจัดเก็บภาษีที่ได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโต รวมไปถึง NFT และอื่นๆ ที่สรรพากรประกาศออกมา ก็เป็นไปตามกฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ อย่างเช่น
1.เริ่มด้วยการมาดูกันเลยว่าภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล สรรพากรได้กำหนดไว้อย่างไร สรรพากรถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ดังนี้
• เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ซ) “เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือ ครอบครองโทเคนดิจิทัล”
พูดง่ายๆ 40(4)(ซ) ก็คือผลประโยชน์จากการถือครอง
ผู้ถือครองมีหน้าที่ต้องนำเงินได้หรือผลประโยชน์ผู้ถือครองได้รับมายื่นแบบ ภ.ง.ด.90
ขณะที่ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% อย่างเช่น กรณีการฝากเหรียญเอาดอกเบี้ย (Staking) ก็ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (4) (ช) ผู้ฝากมีหน้าที่ต้องยื่น แบบ ภ.ง.ด.90 ตัวกลางรับแลกเปลี่ยน หรือ Exchange มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
• เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)( (ฌ) “ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน” ซึ่งก็คือ ส่วนเกินทุน (Capital gain) พูดง่ายๆ 40(4)(ฌ) คือผลประโยชน์จากการจำหน่าย จ่าย โอน
เฉพาะส่วนที่เกินกว่าที่ลงทุน ผู้ขายมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90
ขณะที่ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% อย่างกรณีนำคริปโตเคอร์เรนซี ไปชำระค่าสินค้าหรือบริการ เฉพาะมูลค่าที่มากกว่าตอนที่ได้มาถือเป็นเงินได้ตาม 40 (4)(ฌ) เพราะเปรียบเหมือนกับผู้ที่ชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วย crypto แลก crypto เป็นเงินสด แล้วเอาเงินสดมาซื้อสินค้า ดังนั้นถือเหมือนผู้ขายมีกำไรจากการขาย crypto มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ขณะที่ผู้รับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วย Crypto มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
สรรพากรกำหนดภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินได้จากสกุลเงินดิจิทัลทั้ง 2 แบบไว้ใน ในมาตรา 50(2)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้หักในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้” สิ่งที่เงินได้จาก crypto ทั้ง 2 อย่างต่างจากเงินปันผลหรือดอกเบี้ย ก็คือ แม้ว่าจะถูกหัก ณ ที่จ่าย 15% แล้ว ก็ยังต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเงินได้ฯ เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาตอนปลายปีด้วย
จะเสียภาษีมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับเงินได้ของเราทั้งหมดรวมกำไรที่เราได้รับด้วย (เงินได้ประเภทที่ 4 อันอื่น เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผลในหุ้นที่หากเราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว เรายังมีสิทธิเลือกที่จะไม่นำเงินได้ส่วนนี้มารวมคำนวณเงินได้เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาตอนปลายปีได้ (Final Tax))
2.เกณฑ์การคำนวณรายได้และรายจ่ายเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช้เกณฑ์เงินสด ดังนั้นทุกรายการธุรกรรม (transactions) ที่มีกำไรเป็นเงินสดในปีภาษีนั้น ก็จะถูกประเมินเป็นเงินได้ของบุคคลธรรมดาในปีภาษีนั้น
ตัวอย่างเช่น ผู้เสียภาษีทำการแลกเปลี่ยนบนแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน 10 รายการในปีนั้น โดยขายเหรียญได้กำไรเป็นเงินสด (THB) 5 รายการ รวม 2 แสนบาท แต่อีก 5 รายการ ขายเหรียญแล้วขาดทุน 5 แสนบาท รวมทั้งปีผู้เสียภาษีขาดทุนจากการแลกเปลี่ยนรวม 3 แสนบาท ภาษี 15% นั้นก็จะต้องระบุเงินได้เพื่อเสียภาษีจากกำไร 2 แสนบาทอยู่ดี แม้ยอดรวมทั้งปีจะขาดทุน หรือแม้จะยังไม่ได้ถอนเงินบาทออกมาจากกระดานเทรดบนแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นก็ตาม เนื่องจากสรรพากรถือว่าการซื้อขายและกำไรเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่านักลงทุนเจ้าของบัญชีเทรดนั้นจะยังไม่ได้ถอนเงินออกมาก็ตาม แต่ถ้าราคา crypto เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรามีกำไรแต่ยังไม่ขาย ก็ถือว่าเงินได้ยังไม่เกิด ก็ไม่ต้องเสียภาษีครับ
3.กรณีได้รับจากการให้โดยไม่มีค่าตอบแทน หรือการได้รับทางมรดก ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (8) ตามหลักของภาษีการรับการให้ และภาษีการรับมรดก
4.กรณีได้รับจากการทำงาน ก็ถือเป็นเงินได้ตามประเภทเงินได้ที่ทำ เช่น หากได้ crypto เป็นค่าจ้างสำหรับเงินได้ประเภท 40(1) ผู้ได้รับมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภงด.91 ถ้าได้ crypto เป็นเงินได้ประเภทอื่น ก็ต้องยื่นแบบรับ ผู้ได้รับมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ถ้ามีเงินได้ตามมาตรา 40 (5)-(8) ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ด้วย
5.กรณีขุดเหรียญ (Mining) มีการลงทุนใน computer มีห้องแอร์เย็นๆ มูลค่าของ crypto ที่ได้รับจากการขุดเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) โดยผู้ได้รับต้องนำมูลค่าของ crypto ณ วันที่ได้รับ ไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีตามแบบ ภ.ง.ด.90 และ แบบ ภ.ง.ด.94 และหักค่าใช้จ่ายได้ตามจ่ายจริง ดังนั้นสำคัญนะ ต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายให้ถูกต้อง ครบถ้วน
6.เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ที่ซื้อขายกันทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น การประเมินว่าจะต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่จึงต้องพิจารณาหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้
• หลักแหล่งเงินได้(SourceRule) ม.41(วรรคแรก) ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
• หลักถิ่นที่อยู่(ResidenceRule) ม.41(วรรคสอง) ผู้อยู่ในประเทศไทยมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
โดย ม.41(วรรคสาม) ได้กำหนดคุณลักษณะของผู้อยู่ในประเทศไทย คือ ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีปีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
ดังนั้น การพิจารณาว่าผลประโยชน์ที่ได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ จึงต้องพิจารณาหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ด้วย ดังนั้น
o หากเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย เช่น กับ “โบรกเกอร์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตฯจาก ก.ล.ต. ประเทศไทย” ก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎหมายประเทศไทย โดยจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
o หากเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ เช่น กับ “โบรกเกอร์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตฯจาก ก.ล.ต. ต่างประเทศ” ถือเป็นเงินได้จากต่างประเทศ เราจะต้องเสียภาษีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าเกณฑ์ของหลักถิ่นที่อยู่ ทั้ง 2 ข้อ คือ
1.นำผลประโยชน์จาก crypto เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันกับปีที่ได้รับเงินได้นั้น เช่น นาย ก. ได้กำไรจากการขาย crypto กับโบรกเกอร์ต่างประเทศในปี 2564 และโอนเงินกำไรนั้นเข้ามาในบัญชีเงินฝากธนาคารของตนเองในประเทศไทยในปี 2564
2.เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยรวมเวลาทั้งหมดถึง 180 วัน ไม่ว่าจะอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายชั่วระยะเวลารวมกัน ในปีภาษีเดียวกันกับปีที่ได้รับกำไรจากการขาย crypto นั้น
ดังนั้น หากไม่อยากเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผลประโยชน์จาก crypto ที่ได้จากต่างประเทศ เราก็แค่ทำไม่ครบทั้ง 2 ข้อ เลือกเอา จะเอาเงินเข้าประเทศไทย หรือ ตัวเองจะอยู่ในประเทศไทย
ถ้าเลือกเอาเงินเข้าประเทศไทยในปีที่ได้เงินได้ ตัวเราต้องไม่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีนั้น
ถ้าเลือกอยู่ในประเทศไทย ก็ต้องไม่เอาเงินเข้าประเทศไทยในปีที่ได้เงินได้นั้น
สำหรับการตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้ที่มาจาก crypto เป็นไปตามหลักปฏิบัติปกติของกรมสรรพากร ซึ่งผู้เสียภาษีมีหน้าที่ประเมินตัวเอง และต้องแจ้งข้อมูลรายได้ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ามีเงินได้จากทางไหนบ้างให้ครบถ้วน ดังนั้นที่หลายคนสงสัยสรรพากรจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีเงินได้เท่าไหร่ อันนั้นคงตอบแทนสรรพากรไม่ได้ แต่ที่ตอบได้ ก็คือ ถ้าสรรพากรตรวจสอบว่าเราหลบหลีกภาษี เราก็จะมีโทษตามกฎหมาย
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : January Effect ที่ไม่เกี่ยวกับหุ้น
ความจริงความคิด : สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม ตอน 2
ความจริงความคิด : สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม ตอน 1
ความจริงความคิด : เผย 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์แห่งปี 64 รู้ไว้! จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์ 1
ความจริงความคิด : สิทธิรักษาพยาบาลบัตรทอง กับ ประกันสังคม
ความจริงความคิด : วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุน
ความจริงความคิด : กลโกงทางการเงิน 1
ความจริงความคิด : เรื่องต้องรู้ ลดหนี้ด้วยวิธีรีไฟแนนซ์
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ