คอลัมน์ความจริงความคิด : เสาหลักแห่งการออมเพื่อเกษียณอายุ

โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

จำได้สมัยทำงานที่บริษัทจัดการกองทุนแห่งหนึ่ง เคยสงสัยว่า ทำไมต้องสนับสนุนให้เกิดระบบการออมเพื่อเกษียณอายุ อย่างเช่น มีกองทุนรวมเพี่อการเลี้ยงชีพที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สนับสนุนให้มีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ

ข้อมูลที่ได้มาถึงเหตุผลที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับระบบการออมเพื่อเกษียณอายุ ก็เพราะบริษัท Deloitte & Touche Consulting Group, Thailand (1999) ได้ศึกษาถึงศึกษาสภาพของการมีระบบบำเหน็จบำนาญ และระบบสวัสดิการสังคมในประเทศไทย และศึกษาสภาพการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม ความต้องการรายได้ของผู้เกษียณอายุ รวมทั้งโครงสร้างประชากร (อัตราการเกิด อัตราการตาย อายุเฉลี่ย (Life Expectancy) ประชากรผู้สูงอายุ ว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะที่อัตราการเกิดลดลง ทำให้สัดส่วนคนทำงานต่อผู้สูงอายุลดลง) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลิตภาพการผลิต และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งผลการศึกษาคาดว่าอีกประมาณ 20 ปี (จากปีที่ศึกษา 2542) ประเทศไทยอาจประสบปัญหาวิกฤติจากการมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยระบบบำเหน็จบำนาญที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์หลักของการมีระบบบำเหน็จบำนาญที่ดี 4 ด้าน ได้เสนอทางเลือกในการปรับปรุงระบบ

บำเหน็จบำนาญและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เหมาะสมกับประเทศไทย คือ ให้จัดตั้งระบบบำเหน็จบำนาญแบบหลายชั้น (Multi-Pillar) โดยการสร้างความแข็งแกร่งและขยายระบบประกันสังคม (Pillar1) จัดตั้ง Pillar 2 โดยให้เอกชนบริหารจัดการ แยกบัญชีเป็นรายบุคคล รวมทั้งจัดวางระบบเพื่อดำเนินการและกำกับดูแลกองทุนด้วย และปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Pillar 3) เพื่อให้มีการบริหารจัดการ การกำกับดูแลและการตรวจสอบที่เหมาะสมและรัดกุมยิ่งขึ้น

ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ ประเทศใดประเทศหนึ่งจะก้าวเข้าสู่

• สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เมื่อประชากรที่เกษียณอายุแล้ว คือ 60 ปีหรือ 65 ปี ขึ้นไป มีสัดส่วนเกินร้อยละ 10 หรือร้อยละ 7 ตามลำดับ
• สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อมีสัดส่วนเกินร้อยละ 20 และร้อยละ 14 ตามลำดับ
• สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super Aged Society) เมื่อมีสัดส่วนเกินร้อยละ 30 และร้อยละ 20 ตามลำดับ

และความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็สอดคล้องกับรายงานวิจัยของ บริษัท Deloitte & Touche Consulting Group, Thailand ดังกล่าว กล่าวคือ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็จะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่

แม้ว่าปัจจุบันระบบการออมเงินเพื่อเกษียณอายุของไทยอาจยังไม่ดีเพียงพอ แต่ก็ถือว่าเราก็ก้าวหน้ามามากจากปี 2542 โดยปัจจุบัน ไทยเรามีเสาหลักแห่งการออมเพื่อเกษียณอายุถึง 5 เสาแล้ว คือ

1. เสาหลักต้นที่ 0 (Pillar 0: A Non-contributory “zero pillar”) เป็นเสาหลักที่ภาครัฐเป็นผู้ให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าสำหรับผู้สูงอายุคนไทยทุกคน (Social assistance) โดยประชาชนไม่ต้องมีการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน แหล่งที่มาของเงิน ก็คือ ภาษีที่พวกเราทุกคนช่วยกันจ่ายให้กับประเทศนั่นเองตัวอย่างคือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

2. เสาหลักต้นที่ 1 (Pillar 1: A mandatory “first pillar”) เป็นระบบการออมเพื่อเกษียณภาคบังคับ โดยมีการจ่ายเงินเข้ากองทุน ที่อาจมาจากฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง หรือภาครัฐ โดยเงินจะถูกบริหารจัดการโดยภาครัฐ และมีการกำหนดผลประโยชน์ที่ผู้ส่งเงินจะได้รับเมื่อเกษียณแล้วอย่างชัดเจน (Defined benefit) ตัวอย่างเช่น กองทุนประกันสังคมสำหรับผลประโยชน์กรณีชราภาพ รวมถึงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เนื่องจากกำหนดผลประโยชน์แน่นอน ทำให้ผู้บริหารกองทุนไม่สามารถบริหารเงินได้อย่างเต็มที่ ผลประโยชน์ที่ได้จึงอาจน้อยกว่าผลประโยชน์ที่ควรจะได้ แต่ก็มีข้อดี คือ มีความเสี่ยงในการลงทุนต่ำ

3. เสาหลักต้นที่ 2 (Pillar 2: A mandatory “second pillar”) เป็นระบบบำนาญภาคบังคับที่กำหนดจำนวนเงินสะสมเข้ากองทุน (Defined contribution) โดยเงินนั้นอาจจะมาจากนายจ้าง ลูกจ้าง หรือภาครัฐ และบริหารจัดการโดยหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเฉพาะหรือว่าจ้างมืออาชีพมาบริหาร มุ่งเน้นเพื่อให้มีการออมเพิ่มเติมจาก Pillar 1 ซึ่งผู้ออมสามารถเลือกนโยบายการลงทุน และรูปแบบการรับเงินเมื่อเกษียณได้ (ระหว่าง เงินก้อน หรือ เงินงวดรายเดือน) เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เสาหลักต้นที่ 2 ต่างกับเสาหลักต้นที่ 1 ตรงที่เงินหรือผลประโยชน์จากการออมในเสาหลักต้นที่ 2 จะได้เท่าไหร่ ไม่สามารถกำหนดได้แน่นอน แปลว่าผู้บริหารกองทุนสามารถบริหารเงินได้อย่างเต็มที่ ผลประโยชน์ที่ได้จึงอาจมากกว่าหรือน้อยกว่าผลประโยชน์ที่ได้จากเสาหลักต้นที่ 1 แต่ก็มีข้อเสีย คือ มีความเสี่ยงในการลงทุนสูงกว่า

4. เสาหลักต้นที่ 3 (Pillar 3: A voluntary “third pillar”) เป็นระบบบำนาญภาคสมัครใจที่มีการกำหนดจำนวนเงินสะสมโดยผู้ออมเงิน มีการออมได้หลายรูปแบบ ซึ่งกำหนดและบริหารโดยภาคเอกชน ตัวอย่างเช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันชีวิตแบบบำนาญ ฯลฯ

5. เสาหลักต้นที่ 4 (Pillar 4: A non-financial “fourth pillar”) เป็นระบบการใช้ทรัพย์สินอื่นมารองรับการใช้ชีวิตช่วงหลังเกษียณ Pillar 4 นี้ ยังรวมถึงการสนับสนุนในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการอื่นๆ เช่น การรับการสนับสนุนจากครอบครัวในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่าง เช่น Reverse mortgage หรือการจำนองแบบย้อนกลับ กล่าวคือ แทนที่เราจะจ่ายค่าผ่อนงวดให้ธนาคาร ผ่อนครบบ้านเป็นของเรา กลับเป็นธนาคารจะเป็นผู้จ่ายเงินให้เราทุกเดือนเสมือนธนาคารเป็นผู้ซื้อบ้านของเรา โดยธนาคารจ่ายค่างวดให้เราเพื่อเราจะได้มีเงินมาใช้จ่ายแต่ละงวดตามที่ทำสัญญากับธนาคาร และเมื่อครบกำหนดชำระงวดสุดท้าย บ้านก็จะตกเป็นของธนาคาร

จะเป็นเสาหลักต้นไหนก็ตาม สำคัญที่สุด ก็คือ ตัวเราต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างเพียงพอสำหรับชีวิตวัยเกษียณ เพราะจากอายุขัยที่ยาวนานขึ้น และอัตราการเกิดที่ลดลง ทำให้เมื่อเราเข้าสู่วัยเกษียณ เรามีโอกาสที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น การเตรียมพร้อมเสียตั้งแต่วันนี้ แม้บางคนอาจรู้สึกว่าช้าเกินไป แต่ก็ยังดีกว่าไม่เตรียมเลย จึงเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง

อ่านบทความอื่น
คอลัมน์ความจริงความคิด : 8 ข้อเท็จจริงการเป็นหนี้คนไทย
คอลัมน์ความจริงความคิด : กรณีศึกษา ขายบ้านเก่า ซื้อบ้านใหม่ใน 1 ปี
คอลัมน์ความจริงความคิด : ขายบ้านเก่า ซื้อบ้านใหม่ใน 1 ปี ประหยัดภาษีได้เท่าไหร่
คอลัมน์ความจริงความคิด : ขายบ้านเก่า ซื้อบ้านใหม่ใน 1 ปี
คอลัมน์ความจริงความคิด : PM2.5 กับความเสี่ยงสุขภาพ
คอลัมน์ความจริงความคิด : กู้ร่วม
คอลัมน์ความจริงความคิด : หรือเราต้องบริหารความเสี่ยงบนการบริหารความเสี่ยง?