คอลัมน์ความจริงความคิด : ขายบ้านเก่า ซื้อบ้านใหม่ใน 1 ปี



โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

โชคดีที่ได้เป็นคนหนึ่งที่ได้คุณวุฒิวิชาชีพ นักวางแผนการเงิน CFP (Certified Financial Planner) จากสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ที่นอกจากได้รับความรู้ต่างๆมากมายแล้ว ยังได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่ทางสมาคมนักวางแผนการเงินจัด กิจกรรมหนึ่งที่ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการ CFP อย่างมากที่ได้จัดให้มีกิจกรรมแผนการเงินแห่งปี เป็นเวทีให้นักวางแผนการเงิน CFP ได้มาถ่ายทอดประสบการณ์ในการวางแผนการเงินให้กับลูกค้า

ในครั้งล่าสุดที่ผ่านมา เป็นการแชร์ประสบการณ์การวางแผนภาษี ได้เห็นกลยุทธ์การวางแผนภาษีที่มากกว่าการซื้อประกันชีวิต หรือ ซื้อ RMF เพื่อลดหย่อนภาษี ฯลฯ โดยนักวางแผนการเงิน CFP 3 ท่าน คือ คุณณัฐพงษ์ อภินันท์กูล, คุณวิภา เจริญกิจสุพัฒน์ และ คุณพิชญาภัฐฐ์ ทองศรีเกตุ

หนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้ ก็คือ การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จากขายบ้านเก่า และซื้อบ้านใหม่ใน 1 ปี ที่นำเสนอโดยคุณพิชญาภัฐฐ์ ทองศรีเกตุ ซึ่งเป็นกลยุทธ์การวางแผนภาษี โดยอาศัยกฎหมาย ข้อ 2(62) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ดังนี้

(62) เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ดังต่อไปนี้

(ก) บ้าน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ซึ่งโดยปกติใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย
(ข) อสังหาริมทรัพย์ตาม (ก) พร้อมที่ดิน
(ค) ห้องชุดสำหรับการอยู่อาศัยในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับกรณีการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้มีเงินได้ใช้เป็น ที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

การได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องปรากฏว่าภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนหรือ นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ผู้มีเงินได้ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ซึ่งมีลักษณะตาม (ก) (ข) หรือ (ค) เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน และให้ได้รับยกเว้นเท่ากับจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ ทั้งนี้ ให้ถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 241 (พ.ศ. 2546) ใช้บังคับกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดแล้วแต่กรณี สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกระทำตั้งแต่ 1 มกราคม 2546 เป็นต้นไป)

ประเด็นสำคัญก็คือ หากต้องการยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ต้องเข้าเงื่อนไข

1. ต้องขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เกณฑ์ในการดูว่าใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือไม่ ดูจากว่ามีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปี ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านติดต่อกัน 1 ปี ไม่จำเป็นว่าต้องมีชื่อในทะเบียนบ้าน 1 ปีสุดท้าย
2. เมื่อขายแล้วต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยใหม่ (ก็ดูว่ามีชื่อในทะเบียนบ้านใหม่หรือไม่) ภายใน 1 ปีนับจากวันขายอสังหาริมทรัพย์เก่า
3. เงินได้ที่ได้รับยกเว้นในการคำนวณภาษีเงินได้ เท่ากับราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์เก่าแต่ไม่เกินราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์ใหม่

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องนี้ สรรพากร ได้ออก ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย
———————————————

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 (62) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 241 (พ.ศ.2546) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายอสังหา ริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นบ้าน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น หรืออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดสำหรับการอยู่อาศัยในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้มีเงินได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ที่จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
(1) เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลและกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
(2) ผู้มีเงินได้จะใช้อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยประกอบกิจการของตนเองด้วยก็ได้
(3) กรณีผู้มีเงินได้ได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ และได้โอนชื่อเข้ามาในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ก่อนที่จะขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมนั้น ผู้มีเงินได้จะมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของอสังหาริมทรัพย์ที่ขายน้อยกว่า 1 ปีก็ได้ แต่เมื่อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมไประยะเวลาการมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมและอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่นับถึงวันขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่า 1 ปี
(4) การมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดถึง 1 ปี ให้ถือว่ามีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรไม่น้อยกว่า 1 ปี
(5) กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรสของสามีภริยา คู่สมรส ทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี
(6) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย อันเป็นแหล่งสำคัญของแต่ละคน โดยมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ นั้น

ข้อ 2 ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 1 นั้น ผู้มีเงินได้ซึ่งได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (5) แห่งประมวลรัษฎากรไว้แล้วมีสิทธิขอคืนได้โดยจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในกรณีดังกล่าวตามแบบที่อธิบดีกำหนด (แบบ ค.10) ณ. สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาท้องที่ที่ผู้มีเงินได้มีภูมิลำเนา โดย จะต้องแนบหลักฐานต่างๆ ดังต่อไปนี้
(1) ต้นฉบับใบเสร็จรับเงินค่าภาษีเงินได้ฉบับที่กรมที่ดินออกให้ สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิม
(2) สำเนาคู่ฉบับสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิม ที่ใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(3) สำเนาคู่ฉบับสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ ที่ใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(4) สำเนาทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของผู้มี เงินได้สำหรับอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ (ในกรณีมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร สำหรับอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมน้อยกว่า 1 ปี ตามข้อ 1(3))

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนสิทธิ์ และนิติกรรมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
อธิบดีกรมสรรพากร