คอลัมน์ความจริงความคิด : 8 ข้อเท็จจริงการเป็นหนี้คนไทย

โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

วันก่อนได้อ่านพบในหน้า facebook ของธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่อง คลินิกแก้หนี้ ก็เลยฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ขณะที่เศรษฐกิจไทยเราดูดีขึ้น แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังมีอยู่ เหมือนกับตอนที่โควิด19 ระบาดหนักๆ เราก็ลืมไปว่าฝุ่น PM2.5 ยังมีอยู่ และเมื่อโควิด19 ผ่านไป ฝุ่น PM2.5 ก็เริ่มกลับมาอยู่ในความสนใจทันที

เมื่อหลายปีก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยทำรายงานบ่อเกิดแห่งหนี้ของคนไทย ไว้ดังนี้

ก็เลยสงสัยว่า ปัจจุบันการเป็นหนี้ของคนไทยต่างจากหลายปีก่อนอย่างไร เมื่อเข้าไปอ่านรายละเอียดของการเป็นหนี้ของคนไทยที่ ธปท. จัดทำ ก็เลยอยากขอนำมาแชร์เป็นอุทาหรณ์สำหรับคนที่ยังไม่เป็นหนี้ ส่วนคนที่เป็นหนี้แล้วจะได้รีบแก้ไข ดังนี้

คนไทยมีหนี้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิตสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของยอดหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด ซึ่งหนี้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่ช่วยสร้างรายได้ ขณะที่ต่างประเทศมีหนี้ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน นอกจากนี้ คนไทยบางอาชีพ ยังมีหนี้สูงกว่ากลุ่มอื่นโดยเปรียบเทียบ เช่น เกษตรกรหรือกลุ่มอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน หรือกลุ่มข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ที่รายได้มั่นคงแต่น้อย ทำให้ขาดกันชน เช่น เงินออม ไว้รองรับยามเกิดวิกฤต โดยการศึกษาของ ธปท. ชี้ข้อเท็จจริงหลักเกี่ยวกับการเป็นหนี้ของคนไทย ดังนี้

1. เป็นหนี้เร็ว

คนวัยเริ่มทำงาน (อายุ 25–29 ปี) มากกว่า 58% เป็นหนี้ และมากกว่า 25% เป็นหนี้เสีย (non-performing loan : NPL) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล และหนี้รถยนต์/มอเตอร์ไซค์ ที่บางส่วนไม่นำไปสร้างรายได้ ทำให้เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มอายุน้อยกว่า 25 ปี ซึ่งรวมนักเรียน นักศึกษา เป็นหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน1
เป็นหนี้บัตรเครดิตหลายใบตั้งแต่ทำงานได้ปีเดียว รูดบัตรใช้จ่าย กินเที่ยว จนเต็มวงเงินภายในไม่ถึงปี จ่ายขั้นต่ำจนดอกเบี้ยพอกพูน ท้ายสุดต้องกลายเป็นหนี้เสีย

2. เป็นหนี้เกินตัว

เกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10–25 เท่าของรายได้ในแต่ละเดือน2 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของต่างประเทศที่ห้ามไม่ให้มีหนี้เกินกว่า 5–12 เท่าของรายได้ต่อเดือน3 จนทำให้รายได้เกินกว่าครึ่งต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้ ซึ่งเป็นภาระหนี้ที่มาจากหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลเกิน 50%4 หนี้สองประเภทนี้จึงถือเป็นศูนย์กลางของปัญหากับดักหนี้ของคนไทย ที่สำคัญหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลมีดอกเบี้ยสูง เนื่องจากเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ระยะเวลาผ่อนสั้น ทำให้มีหนี้ที่ต้องชำระคืนต่อเดือนสูง ลูกหนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะจ่ายไม่ไหวจนกลายเป็นหนี้เสีย เห็นได้จากจำนวนบัญชีของลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสีย เป็นหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลมากกว่า 60%5

3. เป็นหนี้โดยไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนหรือถูกต้อง

4 ใน 5 ของปัญหาในขั้นตอนการเสนอขายสินเชื่อของสถาบันการเงิน คือ ลูกหนี้มักได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่รู้และไม่เข้าใจเงื่อนไขการได้รับสินเชื่อ โดยเฉพาะดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ทั้งกรณีปกติและกรณีผิดนัดชำระ นอกจากนี้ ลูกหนี้บางส่วนยังได้รับข้อมูลด้านเดียว เช่น โปรโมชันผ่อนน้อย แต่ไม่ระบุให้ชัดว่าต้องผ่อนนาน ทำให้ลูกหนี้อาจตกอยู่ในวังวนการเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น

4. เป็นหนี้เพราะมีเหตุจำเป็น

กว่า 62% ของครัวเรือนไทยมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินไม่เพียงพอ7 และหากเกิดเหตุที่ทำให้รายได้ลดลง 20% จะมีครัวเรือนเกินครึ่งที่มีเงินไม่พอจ่ายหนี้8 ทำให้ต้องไปกู้จากทั้งในและนอกระบบเพื่อดำรงชีพ และส่วนใหญ่ไม่สามารถจ่ายคืนได้ เพราะรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งพบในหลายกลุ่มอาชีพ เช่น เกษตรกร อาชีพอิสระ ค้าขาย รับจ้าง บริการ และพนักงานโรงงาน

5. เป็นหนี้นาน

มากกว่า 1 ใน 4 ของคนอายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ โดยมีหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 415,000 บาทต่อคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ในภาคเกษตรที่ได้รับการพักชำระหนี้เป็นเวลานาน รวมทั้งหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลที่ลูกหนี้มักผ่อนจ่ายขั้นต่ำ (เกือบ 40%) ทำให้หมดหนี้ได้ช้า เช่น ถ้าผ่อนชำระหนี้ส่วนบุคคลขั้นต่ำ 3% จะต้องใช้เวลาถึง 7 ปี จึงจะผ่อนหมด

6. เป็นหนี้เสีย

ลูกหนี้ 10 ล้านบัญชีที่เป็นหนี้เสีย เกือบครึ่งหรือ 4.5 ล้านบัญชี เพิ่งเป็นหนี้เสียในช่วงโควิด 19 (คิดเป็นลูกหนี้ 3.1 ล้านคน และมียอดหนี้รวม 4 แสนล้านบาท) แบ่งเป็นบัญชีหนี้เสียที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) 70% ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 20% และธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) 10% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล และหนี้ในภาคเกษตร

7.เป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น

เกือบ 20% ของบัญชีหนี้เสียถูกยื่นฟ้อง โดย 1 ใน 3 ของลูกหนี้ในคดีที่จบด้วยการยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดแล้ว ก็ยังปิดหนี้ไม่ได้ และอาจถูกอายัดทรัพย์เพิ่มเติม ส่วนหนึ่งชี้ว่าลูกหนี้ไม่มีตัวช่วยหาทางออก เข้าไม่ถึงการไกล่เกลี่ยหนี้ ทั้งก่อนฟ้อง หลังฟ้อง และหลังมีคำพิพากษา และในกรณีที่ลูกหนี้ไปต่อไม่ไหว ก็ยังไม่มีช่องทางให้ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่ไม่ได้ทำธุรกิจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหรือล้มละลาย ซึ่งแม้การเป็นบุคคลล้มละลายจะมีข้อจำกัดในการกู้ใหม่ แต่ก็ช่วยให้ลูกหนี้มีทางออกได้

8. เป็นหนี้นอกระบบ

42% ของกว่า 4,600 ครัวเรือนทั่วประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือแก้หนี้ มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาท จากการที่
1. เข้าไม่ถึงหนี้ในระบบเพราะมีรายได้ไม่แน่นอน เจ้าหนี้ไม่เห็นข้อมูลรายได้ จึงไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ และหากจะปล่อย อาจคิดดอกเบี้ยสูง
2. เลือกกู้นอกระบบเอง เพราะสะดวก ได้เงินเร็ว ไม่ต้องมีหลักประกัน แม้ดอกเบี้ยจะแพง และ
3. ใช้/ขอสินเชื่อในระบบเต็มแล้ว จนต้องกู้หนี้นอกระบบไปจ่ายหนี้ในระบบ

สรุปนะ ถ้าไม่เป็นหนี้จะดีกว่า อยากเอาชนะหนี้ให้ได้ ต้องชนะใจตนเองก่อน มีสติก่อนใช้สตางค์

อ่านบทความอื่น
คอลัมน์ความจริงความคิด : กรณีศึกษา ขายบ้านเก่า ซื้อบ้านใหม่ใน 1 ปี
คอลัมน์ความจริงความคิด : ขายบ้านเก่า ซื้อบ้านใหม่ใน 1 ปี ประหยัดภาษีได้เท่าไหร่
คอลัมน์ความจริงความคิด : ขายบ้านเก่า ซื้อบ้านใหม่ใน 1 ปี
คอลัมน์ความจริงความคิด : PM2.5 กับความเสี่ยงสุขภาพ
คอลัมน์ความจริงความคิด : กู้ร่วม
คอลัมน์ความจริงความคิด : หรือเราต้องบริหารความเสี่ยงบนการบริหารความเสี่ยง?