ความจริงความคิด : สิทธิของลูกหนี้ในการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน

โดย… สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เมื่อวันก่อนหลังจากโครงการ “รู้ทันปากท้อง กับตลาดหลักทรัพย์” ที่ผมได้รับเกียรติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินโดยเฉพาะการบริหารหนี้ (ท่านที่สนใจสามารถติดตามดูได้ที่ youtube หรือที่ face book ของตลาดหลักทรัพย์ (https://www.facebook.com/set.or.th)

ก็ได้คำถามจากผู้ที่ติดตามข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังกล่าวเกี่ยวกับปัญหาการแก้หนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้านหรือหนี้รถ ทำให้ยิ่งตระหนักเลยว่าวิกฤติ Covid-19 ที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปีทำให้ปัญหาการเงินของหลายๆคนรุนแรงมากขึ้น จากไม่เป็นหนี้ ก็เป็นหนี้ จากเป็นลูกหนี้ที่ดีจ่ายตรง ก็ต้องกลายเป็นลูกหนี้ที่มีปัญหาทั้งที่ไม่อยากมีปัญหาแต่เพราะรายได้ไม่มีเลยไม่รู้จะทำอย่างไร

มีอยู่หลายรายที่สอบถามถึงการเจรจากับแบงค์เจ้าหนี้ควรทำอย่างไรบ้าง จากการค้นหาข้อมูลเพื่อตอบท่านที่ถาม โชคดีผมได้พบบทความของธนาคารแห่งประเทศไทย เขียนโดย คุณชวนันท์ ชื่นสุข และคุณเสมอใจ กิตติดุษฎีกุล เรื่อง “สิทธิของลูกหนี้ในการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน” เห็นว่าน่าสนใจและมีประโยชน์จึงขออนุญาตนำมาแชร์ ณ ที่นิ้

แทบทุกคนคงเคยมีเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่คนในครอบครัว เพื่อนบ้าน เจ้านาย ฯลฯ และเมื่อหาทางออกไม่ได้ หลายครั้งต้องใช้คนกลางที่ทั้ง 2 ฝ่ายเชื่อถือมาช่วยไกล่เกลี่ย เพื่อคลี่คลายปัญหา หาทางออกที่ทุกฝ่ายเห็นว่า เป็นธรรม ซึ่งหลายกรณีคนไกล่เกลี่ยอาจใช้วิธี “พบกันคนละครึ่งทาง” หรือ “ถอยคนละก้าว” หรือ “เปิดทางเลือกใหม่” ที่ทั้งสองฝ่ายคิดไม่ถึงเพราะต่างกำลังหมกมุ่นกับปัญหาหรืออารมณ์ที่คุกรุ่นขณะนั้น

ปัญหาหนี้สินก็เช่นกัน หากลูกหนี้เริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง หรือเริ่มผิดนัดชำระหนี้ ไม่เพียงลูกหนี้มีสิทธิเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ได้โดยตรง แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ ลูกหนี้ยังสามารถหาคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยได้ และทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือในทุกจุดในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการหนี้สิน กล่าวคือ

จุดแรก “ทางด่วนแก้หนี้” ซึ่งเป็นช่องทางเสริมจากช่องทางของผู้ให้บริการทางการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมไว้เพื่อเป็นตัวกลางประสานระหว่างลูกหนี้ที่มีปัญหาการเงิน ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามข้อตกลงเดิมกับเจ้าหนี้ให้สามารถกลับมาเจรจากันได้ และตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ธปท.สามารถช่วยให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้มากถึงร้อยละ 70 ของเรื่องที่ส่งเข้ามา ทำให้ลูกหนี้จำนวนมากพอใจ และลดภาระการติดตามทวงถามของเจ้าหนี้ในอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการไกล่เกลี่ย ที่จะช่วยให้ทุกฝ่ายเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยต้นทุนต่ำที่สุด ผู้สนใจโปรดติดต่อโทร 1213 หรือ www.1213.or.th และเฟซบุ๊ก 1213

จุดที่สอง เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามข้อตกลง แต่เจ้าหนี้พยายามทวงถามติดตามหนี้สิน แต่ยัง “ไม่ฟ้องดำเนินคดี” ลูกหนี้มีสิทธิ “ขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง” ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถเลือกได้ว่าจะให้เป็น “คำพิพากษาตามยอม” หรือ “บันทึกข้อตกลง” และถึงแม้ทำเป็น “บันทึกข้อตกลง” และต่อมาเกิดการผิดนัดก็ต้องเข้ากระบวนการฟ้องร้องตามปกติ – ยังไม่สามารถขอให้ศาลบังคับได้
โดยในจุดนี้ ลูกหนี้สามารถขอไกล่เกลี่ยผ่าน 2 ช่องทาง

ช่องทางแรก ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ติดต่อเบอร์โทร 02-512-8498 ต่อ 2618 หรือเข้ามาที่ https://mediation.coj.go.th และเฟซบุ๊กไกล่เกลี่ย สำนักงานศาลยุติธรรม COJ-Mediation

ช่องทางที่สอง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนยุติธรรม 1111 กด 77 หรือเข้ามาที่ https://emediation.rlpd.go.th และเฟซบุ๊ก กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

ที่สำคัญ หากไกล่เกลี่ยได้ในจุดนี้ ก็จะช่วยลดจำนวนคดีในชั้นศาลได้มาก ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ไม่ต้องเสียเวลา เสียเงินฟ้องร้องกัน

จุดที่สาม เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องดำเนินคดีลูกหนี้แล้ว การไกล่เกลี่ยจะอยู่ในชั้นศาล ซึ่งในชั้นนี้จะมีบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยของศาลมาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยให้ โดยจะให้ความเป็นธรรมกับลูกหนี้โดยประเมินจากข้อเท็จจริงและปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ลูกหนี้ต้องผิดนัดชำระหนี้ แม้ลูกหนี้จะรู้สึกผิดจากการผิดนัดชำระหนี้ก็ตาม ณ จุดนี้หากไกล่เกลี่ยแล้วได้ข้อสรุปที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันได้ ศาลจะออกเป็น “คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “สัญญายอม” หรือ หากลูกหนี้ชำระเสร็จสิ้น ก็จะนำไปสู่การถอนฟ้อง อย่างไรก็ดี หากลูกหนี้ปฏิบัติไม่ได้ เจ้าหนี้สามารถนำเรื่องไปออกหมายบังคับได้เลย ไม่ต้องฟ้องใหม่ ถือว่ามีคำพิพากษาแล้ว

ทั้งนี้ การได้ข้อยุติในชั้นนี้ เจ้าหนี้ก็ได้รับประโยชน์ด้วยเพราะไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการยึดทรัพย์ บังคับคดี และมีความเสี่ยงที่จะขายทรัพย์ได้ราคาต่ำกว่ามูลหนี้ด้วย

จุดที่สี่ แม้ศาลมีคำพิพากษาแล้ว แต่ยังไม่บังคับคดี ลูกหนี้ก็ยังสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ได้อีกครั้งหนึ่ง โดยเข้าไปที่ศาลหรือศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี หากตกลงกันได้จะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร

จุดที่ห้า หากศาลพิพากษาและมีการออกหมายบังคับคดี ที่ลูกหนี้ส่วนใหญ่จะรู้สึกหมดหวังแล้ว แต่ความจริงแล้วลูกหนี้ยังมีสิทธิจะยื่นขอไกล่เกลี่ยได้ที่ “ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี” ได้ทุกแห่ง เมื่อไกล่เกลี่ยสำเร็จ จะนำไปสู่การงดการขายทรัพย์ทอดตลอด หรือถอนการยึดกรณีพิพากษาแล้ว โดยติดต่อไปได้ที่ 1111 กด 79

สุดท้ายนี้ ทุกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการหนี้สินของลูกหนี้ ต่างพยายามเปิดโอกาสให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน และนับเป็นสิทธิสำคัญของลูกหนี้ที่ควรทำความเข้าใจ และใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินตนเองให้ออกจากวงจรการเป็นหนี้

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านสามารถก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปได้ครับ

อ่านบทความอื่นๆ
คอลัมน์ความจริงความคิด : ภาษีพระ
ความจริงความคิด : ซื้อของออนไลน์ป้องกันโกง ทำยังไง?
ความจริงความคิด : ม. 40 กับ มาตรการเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์
ความจริงความคิด : เรื่องต้องรู้ ลดหนี้ด้วยวิธีรีไฟแนนซ์
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ