ปี 65 เงินไหลออกกองทุน 2 แสนลบ. หุ้นโลกร่วง-ตราสารหนี้ติดลบมากรอบหลายปี

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผยเงินไหลออกกองทุนรวมปี 65 มูลค่า 2 แสนล้านบาท เหตุเงินเฟ้อสูง เฟดขึ้นดอกเบี้ยทุบหุ้นทั่วโลกร่วง ตราสารหนี้ติดลบมากสุดในรอบหลายปี ด้านหุ้นไทย กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ ชนะหุ้นต่างประเทศ ผลตอบแทนอันดับสองรองจากน้ำมัน ชี้สัญญาณบวกลงทุนเริ่มฟื้นไตรมาส 4/65 เงินเริ่มไหลกลับ ผลตอบแทนตลาดหุ้นฟื้น แนะลงทุนระยะยาวมองเป็นโอกาสลงทุน

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมในปี 2565 มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (AUM) เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund หดตัวลง 11.1% แต่เพิ่มขึ้น 2.4% จากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสสุดท้ายของปีมีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.7 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้าจากกองทุนตราสารทุนและกองทุนตราสารหนี้ ขณะที่กองทุนตราสารตลาดเงินมีเงินไหลออกสุทธิ รวมทั้งปีเป็นเงินไหลออกสุทธิ 2.0 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หากรวมกองทุนทุกประเภทจะมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิลดลง 9.1%

“แนวโน้มการเติบโตของกองทุนรวมในปีนี้ยังต้องติดตามอัตราดอกเบี้ยว่าจะขึ้นอีกมากแค่ไหน หากขึ้นเยอะกว่าตลาดอาจฉุดผลตอบแทนจากการลงทุนติดลบ สะท้อนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิหดตัวลงได้ รวมทั้งหากเศรษฐกิจถดถอยจะใช้เวลานานแค่ไหนยังคาดการณ์ได้ยาก และมองว่าโอกาสที่ AUM กองทุนรวมจะกลับขึ้นไปยืนเหนือก่อนเกิดวิกฤตโควิดนั้นคงยาก”น.ส.ชญานี กล่าว

กองทุนตราสารหนี้พลิกกลับมามีเงินไหลเข้าสุทธิไตรมาส 4/2565 หลังจากมีเงินไหลออกต่อเนื่อง 3 ไตรมาสแรก กองทุนรวมตราสารหนี้กลับมามีเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาสสุดท้ายราว 4.2 หมื่นล้านบาท โดยเกิดจากเงินไหลเข้ากองทุน term fund ในขณะที่กองทุนเปิดทั่วไปเช่น กลุ่มตราสารหนี้ในประเทศไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะกลาง-ยาว ยังคงมีเงินไหลออกสุทธิ รวมทั้งปีกลุ่มกองทุนประเภทตราสารหนี้มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท และปิดปีไปด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ลดลง 13.1% จากสิ้นปี 2564และคิดเป็นส่วนแบ่ง 36% ของตลาด

ด้านกองทุนตราสารทุนเงินไหลเข้าสุทธิไตรมาสสุดท้าย 2.2 หมื่นล้านบาท จากทั้งกองทุนที่ลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อประโยชน์ทางภาษีอย่างกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ทำให้ในรอบปีมีเงินไหลเข้าสุทธิสะสมเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกือบ 1.4 ล้านล้านบาท ลดลง 13.6% จากสิ้นปี 2564 และคิดเป็นสัดส่วน 37% ของตลาด

สำหรับภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 4/2565 จากปัจจัยเงินเฟ้อที่ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการลงทุนในหลายสินทรัพย์ โดยธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยขึ้นไปอีก 1.25% ในการปรับดอกเบี้ย 2 ครั้งสุดท้ายของปี ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอยู่ที่ 4.25%-4.5% จากระดับ 0% เมื่อตอนต้นปี ทั้งยังมีการแสดงท่าทีว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงจนกว่าจะผ่านพ้นช่วงเงินเฟ้อสูงไปได้ ทำให้ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนโดยเฉพาะตราสารทุนที่หลายดัชนีติดลบ ขณะเดียวกันผลตอบแทนตราสารหนี้อยู่ในจุดที่ติดลบมากที่สุดในรอบหลายปี

ปัจจัยในประเทศโดยรวมยังคงเดิมจากไตรมาสก่อน เช่นภาคการบริโภค การท่องเที่ยว และเงินเฟ้อที่ไม่ส่งผลกดดันต่อการปรับดอกเบี้ย ทำให้การลงทุนในหุ้นไทยสามารถ outperform การลงทุนต่างประเทศได้ โดย SET TR รอบ 3 เดือนอยู่ที่ 5.2% และสะสมรอบปีอยู่ที่ 3.5% ในขณะที่ Morningstar Global Markets Index รอบปี 2022 อยู่ที่ -17.6%

กองทุน Money market มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดในไตรมาสสุดท้าย 3.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ในประเทศแบบกำหนดระยะเวลามีเงินไหลเข้าสูงสุดรวม 7.6 หมื่นล้านบาทจากการออกกองทุนใหม่ และทำให้เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิมากที่สุดในรอบปีที่ 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นมีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุดในรอบปีที่ 1.3 แสนล้านบาท

กองทุนหุ้นไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ สิ้นปี 2565 ที่ 2.3 แสนล้านบาท ลดลง 1.8% จากสิ้นปี 2564 แต่สูงขึ้น 5.4% จากไตรมาสที่ 3 ด้านทิศทางเม็ดเงินลงทุนในไตรมาสสุดท้ายเป็นเงินไหลเข้า 490 ล้านบาท รวมทั้งปีมีเงินไหลออกสุทธิ 6.6 พันล้านบาท

กองทุนเพื่อการออมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกือบ 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.1% จากสิ้นปี 2564 และ 32.7% จากไตรมาสก่อน ในไตรมาสสุดท้ายมีเงินไหลเข้ามากกว่าทุกไตรมาสอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดิมที่มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นมูลค่าที่ต่ำกว่าปีที่แล้วราว 600 ล้านบาท รวมทั้งปีเป็นเงินไหลเข้าสุทธิราว 1.5 หมื่นล้านบาท

กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 3.3 แสนล้านบาท หดตัวลง 9% จากสิ้นปี 2564 โดยในไตรมาสสุดท้ายมีเงินไหลออกสุทธิ 7.1 พันล้านบาท รวมทั้งปีเป็นเงินไหลออกสุทธิราว 3.3 หมื่นล้านบาท

กองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 4.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จากสิ้นปี 2564 หรือ 11.5% จากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสสุดท้ายยังคงมีเงินไหลเข้าสุทธิในระดับสูงถึง 3.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเล็กน้อย รวมเงินไหลเข้าสุทธิสะสมทั้งปีมูลค่า 3.4 หมื่นล้านบาท

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.2 แสนล้านบาท ลดลง 22.2% จากสิ้นปี 2564 แต่เพิ่มขึ้น 4.5% จากไตรมาสก่อน มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท รวมสะสมสุทธิทั้งปีเป็นเงินไหลเข้าราว 2 พันล้านบาท

กองทุนยั่งยืนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.2 หมื่นล้านบาท ลดลง 15.5% จากสิ้นปี 2564 แต่เพิ่มขึ้น 5.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสสุดท้ายมีเงินไหลเข้าสุทธิระดับ 900 ล้านบาท รวมเป็นเงินไหลเข้าสุทธิทั้งปีระดับ 300 ล้านบาท

สำหรับ 5 อันดับกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดในปี 2565 ได้แก่ กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดระยะเวลาลงทุน (Bond Fix Term) มูลค่า 1.52 แสนล้านบาท รองลงมากองทุนหุ้นเวียดนาม 21,945 ล้านบาท กองทุนหุ้นจีน 21,406 ล้านบาท กองทุนหุ้นทั่วโลก 16,663 ล้านบาท กองทุนตลาดเงิน (Moner Market) 15,355 ล้านบาท

ส่วน 5 อันดับกองทุนที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดได้แก่ กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond) มูลค่า 1.28 แสนล้านบาท รองลงมา Flexible Bond 66,994 ล้านบาท Mid/Long Term Bond 66,154 ล้านบาท Foreign Investment Bond Fix Term 68,836 ล้านบาทและ กองหุ้นไทยกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) 28,527 ล้านบาท

ด้านผลตอบแทนกองทุนรวมเฉลี่ยในปี 2565 กองทุนหุ้นเทคโนโลยีทั่วโลกติดลบหนักสุด 43.5% รองลงมากองทุนหุ้นสหรัฐฯ -34.5% และหุ้นเวียดนาม 32.9% อย่างไรก็ตามเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นในหลายตลาดในช่วงไตรมาส 4/2565 ขณะที่กองทุนที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดในรอบปี ยังคงเป็นกองทุนน้ำมัน 14.6% รองลงมากองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) 2.0% กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดระยะเวลาลงทุน (Bond Fixed Term) 1.4% เป็นต้น

 
 
อ่านข่าวอื่น

“กองทุนต่างประเทศ” ฟื้นตัว Q4/65 ช้อนซื้อ “หุ้นโลก-จีน-เวียดนาม” แน่น
เงินไหลเข้า “กองภาษี” ต่ำสุดรอบ 17 ปี – นักลงทุนขาย LTF ประเดิมปี 66 กว่า 3.5 พันลบ.
10 อันดับกองทุนผลตอบแทนสูงสุดปี 65 “KT-ENERGY” แชมป์ 40.73%
กองทุนรวมปี 65 วูบ 4.9 แสนลบ. มูลค่าลดกว่า 9.13% ผลตอบแทนร่วง
“กองทุนหุ้นไทย” ปี 65 เงินไหลออก 6.6 พันลบ. โชว์ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.1%
“กองทุนน้ำมัน” ผลตอบแทนสูงสุดปี 65 “หุ้นไทย” รองแชมป์ “เทค”บ๊วย -43.5%