เงินไหลเข้า “กองภาษี” ต่ำสุดรอบ 17 ปี – นักลงทุนขาย LTF ประเดิมปี 66 กว่า 3.5 พันลบ.

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผยปี 65 เงินไหลเข้าลงทุนกองทุนประหยัดภาษี 1.6 หมื่นล้านบาท ต่ำสุดรอบ 17 ปี เหตุเงินไหลออก LTF เพิ่มต่อเนื่องอีก 3.3 หมื่นล้านบาท ซื้อ SSF-RMF น้อยลง คาดตลาดการลงทุนไม่เอื้อ เงื่อนไขกองภาษีต่างจากอดีต ฉุดมูลค่าการออมลดหนัก ประเดิมต้นปี 66 นักลงทุนขาย LTF กว่า 3,500 ล้านบาท มองไม่น่ากระทบตลาดมากกว่าปีก่อนขายหนักหุ้นยังบวกได้ ด้าน “หุ้นเวียดนาม” ยังฮอตซื้อลงทุนผ่าน SSF-RMF แน่น

 

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มีมูลค่าเงินไหลออกต่อเนื่องและมากขึ้นในปี 2565 ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มีเงินไหลเข้าในปี 2565 น้อยกว่าในปีที่ผ่านมา ทำให้โดยรวมมูลค่าเงินไหลเข้าการลงทุนเพื่อประโยชน์ทางภาษีสุทธิปี 2565 อยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท หรือต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2548 แสดงนัยการออมด้วยกองทุนรวมประหยัดภาษีที่น้อยลง ทั้งนี้เกิดจากหลายปัจจัยเช่น สภาวะตลาดการลงทุนที่ยังมีปัจจัยลบมาตลอดทั้งปีที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน เงื่อนไขและข้อกำหนดของกองทุนประหยัดภาษีที่ต่างจากอดีต เป็นต้น

ทั้งนี้ กองทุน LTF มีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังกองทุนถูกยกเลิกและซื้อเพิ่มไม่ได้แล้ว ณ สิ้นปี 2565 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 3.3 แสนล้านบาท หดตัวลง 9% จากสิ้นปี 2564 โดยในไตรมาส 4/2565 มีเงินไหลออกสุทธิ 7.1 พันล้านบาท รวมทั้งปีไหลออกราว 3.3 หมื่นล้านบาท

น.ส.ชญานี กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบันมีเงินไหลออกสุทธิกองทุน LTF แล้วประมาณ 3,500 ล้านบาท ซึ่งยังน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2565 ขณะที่กองทุน LTF จะขายออกได้เมื่อนักลงทุนถือครบเงื่อนไข 7 ปีปฏิทิน เมื่อเทียบในไตรมาส 4/2560 ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุน LTF มูลค่า 3.7 หมิ่นล้านบาท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักลงทุนจะขายออกมาทั้งจำนวน แต่หากกองทุนที่นักลงทุนถืออยู่มีกำไรก็อาจเห็นขายออกมาเพิ่ม

อย่างไรก็ตามประเมินยอดขายคืน LTF ทั้งปีนี้ไม่น่ากระทบตลาดหุ้นไทยมาก ซึ่งภาพน่าจะเป็นเหมือนปีที่ผ่านมาที่มีเงินไหลออกสุทธิ 3.3 หมื่นล้านบาท ตลาดหุ้นไทยยังบวกได้ ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดและปัจจัยเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ผลตอบแทนตลาดหุ้นไทย (SET TR) ปี 2565 อยู่ที่ 3.5% ในขณะที่ Morningstar Global Markets Index รอบปี 2022 อยู่ที่ -17.6%

ด้านกองทุนเพื่อการออม (SSF) และกองทุน SSFX เงินไหลเข้าสุทธิทั้งปี 2565 อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย โดยกองทุนเพื่อการออมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกือบ 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.1% จากสิ้นปี 2564 และ 32.7% จากไตรมาสก่อน ในไตรมาสสุดท้ายมีเงินไหลเข้ามากกว่าทุกไตรมาสอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดิมที่มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นมูลค่าที่ต่ำกว่าปีที่แล้วราว 6 ร้อยล้านบาท

กลุ่ม Equity Large-Cap มีมูลค่าการลงทุนแบบกองทุนเพื่อการออมสูงสุดรวม 1.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่แล้ว 28.3% และ 25.8% จากไตรมาสก่อนหน้า ในช่วงท้ายปีมีเงินไหลเข้าสุทธิมากที่สุดรวม 2.5 พันล้านบาท รวมทั้งปี เงินไหลเข้าสูงสุด 3.4 พันล้านบาท นำโดยกองทุน SCB Dividend Stock 70/30 L/T Eq (SSF) มีเงินไหลเข้าสูงสุดด้วยมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนเพิ่มขึ้นไปที่เกือบ 2 พันล้านบาท

กลุ่ม Global Equity มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิหดตัวลงเล็กน้อย และมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.6 พันล้านบาทในไตรมาสสุดท้าย รวมทั้งปีเป็นมูลค่า 2.7 พันล้านบาท หรือมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 กองทุน K Positive Change Equity-SSF เป็นกองทุนยอดนิยมต่อเนื่อง ด้วยมูลค่าเงินไหลเข้าสูงสุดกว่า 8 ร้อยล้านบาท และมูลค่าทรัพย์สินสูงสุด 4 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 41% ของกลุ่มกองทุนหุ้นทั่วโลกเพื่อการออม

กองทุนหุ้นเวียดนามได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนค่อนข้างสูงในไตรมาสสุดท้าย โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิมูลค่ากว่า 900 ล้านบาท ทำให้รวมทั้งปีมีเงินไหลเข้าสุทธิแตะ 1 พันล้านบาท จากการเปิดขายกองทุนจากบลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.กสิกรไทย บลจ.บัวหลวง และบลจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ในไตรมาสสุดท้าย

ด้านบลจ.กสิกรไทยมีเงินไหลเข้ากองทุนเพื่อการออมสูงสุดของปี ในไตรมาสสุดท้ายมีเงินไหลเข้าจากบลจ.กสิกรไทยรวม 2.8 พันล้านบาท รวมทั้งปีที่ 3.9 พันล้านบาท รวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท และยังคงครองส่วนแบ่งสูงสุดราว 1 ใน 4 ของตลาดกองทุนเพื่อการออม ขณะที่บลจ.ไทยพาณิชย์มีเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาสสุดท้ายราว 2.7 พันล้านบาท ทำให้มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสมทั้งปีต่ำกว่าบลจ.กสิกรไทยเล็กน้อย และยังคงมีส่วนแบ่งตลาดสูงเป็นอันดับที่ 2 รวมบลจ. 2 แห่งนี้มีส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดกองทุนเพื่อการออม

กองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 4.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จากสิ้นปี 2564 หรือ 11.5% จากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสสุดท้ายยังคงมีเงินไหลเข้าสุทธิในระดับสูงถึง 3.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเล็กน้อย รวมเงินไหลเข้าสุทธิสะสมทั้งปีมูลค่า 3.4 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามจากมูลค่าเงินไหลเข้าไตรมาสสุดท้าย 3.1 หมื่นล้านบาท เป็นเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนตราสารทุน 1.8 หมื่นล้านบาท จากหลายกลุ่มกองทุนไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ โดยสูงสุดจากกลุ่มหุ้นไทยขนาดใหญ่ที่พลิกกลับมาเป็นเงินไหลเข้าที่ระดับ 4 พันล้านบาท ตามมาด้วยกองทุนหุ้นจีน 3.2 พันล้านบาท และกองทุนหุ้นเวียดนาม 2.6 พันล้านบาท

ขณะที่กองทุนตราสารหนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาสสุดท้าย 1.0 หมื่นล้านบาท นำโดยกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวที่ 3.9 พันล้านบาท จากที่เคยมีเงินไหลออกสุทธิช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นและกองทุนตราสารตลาดเงินยังคงมีเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่องตลอดทั้งปี

อ่านข่าวอื่นๆ

ปี 65 เงินไหลออกกองทุน 2 แสนลบ. หุ้นโลกร่วง-ตราสารหนี้ติดลบมากรอบหลายปี