กองทุนรวมปี 65 วูบ 4.9 แสนลบ. มูลค่าลดกว่า 9.13% ผลตอบแทนร่วง

HoonSmart.com>> “สมาคมบริษัทจัดการลงทุน” เผยกองทุนรวมทั้งระบบปี 65 มูลค่าลดต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาท เหลือ 4.88 ล้านล้านบาท หดตัวลงกว่า 4.90 แสนล้านบาท หรือ 9.13% จากสิ้นปี 64 ปัจจัยลบ “สงครามรัสเซีย เงินเฟ้อ เฟดขึ้นดอกเบี้ย” กดดันผลตอบแทนลงทุนติดลบ หุ้นร่วงหนัก หลายสินทรัพย์ติดลบ ฉุดกองทุนต่างประเทศวูบ 3 แสนล้านบาท ลดลง 26% ส่วน “กองทุนประหยัดภาษี” RMF-SSF มูลค่าเพิ่มขึ้น ด้าน “บลจ.กสิกรไทย” ยังครองแชมป์ส่วนแบ่งตลาดกองทุนรวมมูลค่าทรัพย์สินแตะ 1 ล้านล้านบาทรายเดียว

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวม ในปี 2565 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) สิ้นสุด 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา มูลค่ารวม 4,878,893 ล้านบาท ลดลง 490,031 ล้านบาท หรือ 9.13% จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 5,368,924 ล้านบาท โดยมูลค่าปรับลดลงเกือบทุกกลุ่มสินทรัพย์ ทั้งจากกลุ่มกองทุนหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนผสม กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน มีเพียงทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มูลค่าเพิ่มขึ้นเพียงกลุ่มเดียว จากกองใหม่ที่จดทะเบียนเพิ่มขึ้น 3 กองในปี 2565 เพิ่มเป็น 27 กอง มูลค่าเพิ่มขึ้น 14,415 ล้านบาท หรือ 7.03% มาอยู่ที่ 219,579 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งจากสงครามรัสเซีย เงินเฟ้อสูง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลงสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางหลักทั่วโลก ผสมความกังวลเศรษฐกิจถถอย ซึ่งกดดันการลงทุน ส่งผลให้ผลตอบแทนกลุ่มกองทุนส่วนใหญ่ติดลบฉุดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมไทยลดลง

กองทุนตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 1,609,977 ล้านบาท ลดลง 200,776 ล้านบาท หรือ -11.09% ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ลดลง 222,995 ล้านบาท หรือ -9.80% อยู่ที่ 2,052,919 ล้านบาท กองทุนผสมมูลค่าอยู่ที่ 346,731 ล้านบาท ลดลง 54,259 บาท หรือ -13.53% เป็นต้น

อย่างไรก็ตามแยกในรายประเภทกองทุนพบกองทุนเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) มูลค่าลดลงมากถึง 316,650 ล้านบาท หรือลดลง 25.65% จากสิ้นปี 2564 ฉุดมูลค่าลดต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาทอีกครั้ง เหลือ 917,868 ล้านบาทในปี 2565

ขณะที่กองทุนรวมตลาดเงิน (มันนี้ มาร์เก็ต) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงและพักเงินเพื่อรอการลงทุนอื่นๆ นั้นกลับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิปรับเพิ่มขึ้น 39,331 ล้านบาท หรือ 14.53% มาอยู่ที่ 310,021 ล้านบาท จาก 270,690 ล้านบาทในปี 2564

ส่วนกองทุนประหยัดภาษีอย่างกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มูลค่าเพิ่มขึ้น ยกเว้นกองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่มูลค่าลดลง โดยกองทุน RMF มีมูลค่า 404,301 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,731 ล้านบาท หรือ 3.52% กองทุน SSF เพิ่มขึ้น 9,465 ล้านบาท หรือ 26.15% ขณะที่กองทุน LTF ลดลง 33,213 ล้านบาท หรือ -9.09%

ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีกองทุนรวมภายใต้การบริหารทั้งหมด 22 บริษัท ซึ่งเกือบทั้งหมดมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การบริหารลดลง มีเพียง 4 บลจ.ที่มูลค่าเพิ่มขึ้น นำโดย บลจ.ไอเอไอ มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 13,270 ล้านบาท หรือเติบโต 34.17% มาอยู่ที่ 49,915 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นบลจ.ขนาดเล็ก โดยบลจ.ทาลิสเพิ่มขึ้น 420 ล้านบาท หรือ 15.93% มาอยู่ที่ 3,054 ล้านบาท บลจ.เอ็กซ์สปริง เพิ่มขึ้น 5.35 ล้านบาท หรือ 15.76% อยู่ที่ 39.32 ล้านบาทและบลจ.ฟิลลิปเพิ่มขึ้น 66 ล้านบาท หรือ 1.64% มาอยู่ที่ 4,099 ล้านบาท

ขณะที่ 5 อันดับบลจ.ที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุด ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยอันดับหนึ่งยังคงเป็นบลจ.กสิกรไทยที่มีทรัพย์สินภายใต้บริหารทะลุ 1 ล้านล้านบาท อยู่ที่ 1,066,028 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 21.85% อันดับสองบลจ.ไทยพาณิชย์ มูลค่า 892,106 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 18.29% อันดับสาม บลจ.บัวหลวง มูลค่า 748,505 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 15.34% อันดับสี่ บลจ.กรุงไทย มูลค่า 561,415 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 11.51% และอันดับห้า บลจ.กรุงศรี มูลค่า 393,645 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 8.07%

ขณะที่บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) หลังจากควบรวมบลจ.ทหารไทยเข้ากับบลจ.ธนชาตและเปลี่ยนชื่อใหม่แล้วมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ในอันดับหก ที่ 335,317 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 6.87%

ด้านผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่างๆ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงทั้งตลาดหุ้นทั่วโลกและตราสารหนี้ จะมีเพียงกองทุนน้ำมันที่ผลตอบแทนยังคงโดดเด่นจากราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นจากสงครามรัสเซียและยูเครน รวมทั้งหุ้นในธุรกิจด้านพลังงานที่ได้ผลบวก ส่วนตลาดหุ้นไทยเป็นหนึ่งตลาดที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก

MFC มองลงทุน Q1/65 ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวเปิดประเทศหนุน

บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) เผยมุมมองการลงทุนในไตรมาส 1/2566 ว่า ภาพรวมในปีนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่จะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยมีแนวโน้มผ่อนคลายลงและตัวเลขตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง การปรับฐานลงมาเป็นโอกาสที่ดีในการทยอยเข้าลงทุน MFC ให้น้ำหนักการลงทุนในไตรมาสแรกเป็น Neutral เน้นไปที่หุ้นเชิงรับจากดอกเบี้ยที่ยังอยู่ระดับสูง กองทุนแนะนำ คือ MHEALTHG, MINFRA

ส่วนตลาดหุ้นยุโรป มีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงที่สุด ให้น้ำหนักการลงทุนเป็น Slightly Underweight และหุ้นธนาคารยุโรปเป็น Neutral ซึ่งมองจะปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าดัชนีหุ้นยุโรปจากการฟื้นตัวหลังจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวจากปัจจัยหนุนรัฐบาลจียเปิดประเทศต้นปี 2566 ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนในปี 2566 ขณะที่อสังหาริมทรัพย์จีนคาดมีแนวโน้มดีขึ้น การฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียน ประกอบกับราคาหุ้นปัจจุบันน่าสนใจ ให้น้ำหนักลงทุนเป็น Slightly Overweight แนะนำกองทุน MCHINA, MCHEVO

ส่วนตลาดหุ้นไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากจีน การเร่งลงทุนของภาคเอกชน ประกอบกับมาตรการช็อปดีมีคืนปี 2566 ช่วยหนุนอีกทาง ขณะที่ตลาดหุ้นไทยราคาถูกจึงน่าสนใจลงทุน ให้น้ำหนักลงทุน เป็น Slightly Overweight แนะนำกองทุน M-FOCUS, M-MIDSMALL, MBT-G

พร้อมทั้งให้น้ำหนัก Slightly Overweight กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศในกลุ่มพันธรัฐบาลสหรัฐฯและหุ้นกู้เอกชน แนะนำลงทุนทองคำและกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทยและเอเชีย และคงน้ำหนักลงทุน Neutral ในน้ำมันดิบ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกและตลาดตราสารหนี้จีน

อ่านข่าว

10 อันดับกองทุนผลตอบแทนสูงสุดปี 65 “KT-ENERGY” แชมป์ 40.73%