กองทุนรวมปี 62 โต 6.6% กว่า 3 แสนลบ. สินทรัพย์แตะ 5.39 ล้านลบ.

HoonSmart.com>> กองทุนรวมปี 62 มูลค่าสินทรัพย์สินเติบโต 3.35 แสนล้านบาท กว่า 6.6% แตะ 5.39 ล้านล้านบาท ขยายตัวแทบทุกประเภทสินทรัพย์ ด้านลงทุนนอก FIF สินทรัพย์หด 4.59% สวนทางหุ้นต่างประเทศกำไรฉลุย ด้าน LTF ปีสุดท้ายทะลุ 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.42 หมื่นล้านบาท กว่า 6% ส่วน RMF โต 4.65 หมื่นล้าน หรือ 18% แตะ 3 แสนล้านบาท ฟากบลจ.กสิกรไทย กอดแชมป์ครองส่วนแบ่งสูงสุด ฟากบลจ.ไทยพาณิชย์ไล่บี้สินทรัพย์ทะลุ 1 ล้านล้านบาทเป็นรายที่สอง ด้านบลจ.วี น้องใหม่เปิดตัวปีแรกสินทรัพย์เฉียด 5 พันล้านบาท

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมทั้งระบบ ปี 2562 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,389,707 ล้านบาท เติบโต 334,611 ล้านบาท หรือ 6.62% จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 5,055,097 ล้านบาท

กองทุนรวมตราสารหนี้มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิอยู่ที่ 2,593,379 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86,137 ล้านบาท หรือ 3.44% จากสิ้นปี 2561 กองทุนหุ้นมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 1,495,886 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60,041 ล้านบาท หรือ 4.18% จากสิ้นปี 2561 กองทุนรวมผสมมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 450,504 ล้านบาท เพิ่ม 98,100 ล้านบาท หรือ 27.84% กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 394,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.99%

ด้านทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ปีที่ผ่านมามูลค่าสินทรัพย์เพิ่ม 18,987 ล้านบาท หรือ 2.08% มาอยู่ที่ 176,167 ล้านบาท

“กองทุนต่างประเทศสินทรัพย์หดสวนกำไรดี”

กองทุนรวมเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิอยู่ที่ 1,008,434 ล้านบาท ลดลง 48,468 ล้านบาท หรือ -4.59% จากสิ้นปี 2561 มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 1,056,902 ล้านบาท สวนทางผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นโดดเด่นเมื่อเทียบหุ้นไทย

สำหรับเม็ดเงินกองทุน FIF ลงทุนอยู่ในตราสารหนี้สูงสุดมูลค่าสินทรัพย์ 624,560 ล้านบาท ซึ่งลดลง 48,972 ล้านบาท หรือ -7.27% จากสิ้นปี 2561 ขณะที่ FIF ลงทุนในหุ้นมีมูลค่าสินทรัพย์ 224,705 ล้านบาท ลดลง 6,321 ล้านบาท หรือ -2.74% ขณะที่ FIF ลงทุนผสมมีมูลค่า 125,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,431 ล้านบาท หรือ 1.98% และ FIF ลงทุนอื่นๆ มูลค่า 33,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,394 ล้านบาท หรือ 14.99%

ปี 62 เงินไหลเข้ากองทุนรวม 2.1 แสนลบ.

ปี 2562 มีมูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนรวม 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับปกติของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย หากดูที่ปริมาณเงินไหลเข้าในแต่ละช่วงของปีพบว่าในไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดรวม 1.3 แสนล้านบาท โดยเกิดจากเงินไหลเข้าปริมาณมากทั้งจากกองทุนตราสารหนี้และกองทุนตราสารทุนที่ 7.3 หมื่นล้านบาทและ 5.2 หมื่นล้านบาทตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากลุ่มกองทุนขนาดใหญ่เช่น Short Term Bond, Mid-Long Term Bond และ Equity Large-Cap

ด้านกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษี อย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 24,252 ล้านบาท หรือ 6.35% จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 382,163 ล้านบาท เป็น 406,416 ล้านบาท ส่วนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 304,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46,480 ล้านบาท หรือ 18.03% จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 257,826 ล้านบาท

“บลจ.กสิกรไทยกอดแชมป์-ไทยพาณิชย์ไล่บี้ทะลุ 1 ล้านลบ.

ด้านผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมีจำนวน 24 บริษัท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ใหม่ 1 ราย ได้แก่ บลจ.วี ซึ่งเปิดเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST บริการเดือนมี.ค.2562 ที่ผ่านมา ปีแรกกวาดมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 4,901 ล้านบาท

ขณะที่บลจ.กสิกรไทย ยังครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งอยู่ที่ 1,083,662 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 20.11% รองลงมาบลจ.ไทยพาณิชย์ 1,022,037 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 18.96% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิทะลุ 1,000,000 ล้านบาท อันดับสามบลจ.บัวหลวง 762,076 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 14.14% อันดับสี่บลจ.กรุงไทย 633,809 ล้านบาทส่วนแบ่ง 11.76% และอันดับห้า บลจ.ทหารไทย 460,690 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 8.55%

อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา บลจ.ทหารไทย ยังคงเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์สุทธิได้สูงถึง 80,450 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.16% จากสิ้นปี 2561 บลจ.ไทยพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 69,878 ล้านบาท หรือ 7.34% บลจ.กสิกรไทย เพิ่มขึ้น 48,178 ล้านบาท หรือ 4.65% บลจ.กรุงไทยเพิ่ม 28,018 ล้านบาท หรือ 4.62% และบลจ.กรุงศรีเพิ่ม 27,157 ล้านบาท หรือ 7.52%

“กองทุนต่างประเทศกำไรอู่ฟู่-กองหุ้นขนาดใหญ่เฉลี่ย 2.5%”

บริษัทมอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนปี 2562 ที่ 8.4% หากดูในรายกลุ่มกองทุนจะพบว่ากองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่ากองทุนที่ลงทุนในประเทศ

กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 3 อันดับแรกในรอบปี ได้แก่ กลุ่ม Global Technology 26.8% ,Europe Equity 26.3%, Global Sector Focus Equity 24.8%

ในขณะที่กองทุนไทย อย่าง กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) มีผลตอบแทนเฉลี่ย 2.5% ใกล้เคียงกับกลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond) ที่เฉลี่ย 2.5% มีกลุ่มกองทุนเพียง 2 กลุ่มที่ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบคือ ASEAN Equity และ Equity Fix Term ที่ -0.3% และ -1.3% ตามลำดับ

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ ระบุว่า ตลาดหุ้นโลกให้ผลตอบแทนประมาณ 24% ผลบวกจากธนาคารกลางสำคัญๆ กลับมาใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายเพื่อรองรับความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว (MSCI DM Index) ให้ผลตอบแทน 25% ดีกว่าตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ (MSCI EM Index) ที่ให้ผลตอบแทน 15%

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยกลับให้ผลตอบแทนเพียง 1.02% อยู่ในอันดับท้ายๆ เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก ส่งผลให้กองทุนรวมหุ้นต่างประเทศสร้างผลตอบแทนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการลงทุนในกองทุนหุ้นไทย

อ่านข่าว

LTF ปีสุดท้ายทะลุ 4 แสนลบ. สินทรัพย์เพิ่ม 2.42 หมื่นล้าน

10 อันดับกองทุนหุ้น & กองทุนผสม ผลตอบแทนดีที่สุด ณ 31 ธ.ค. 2562

10 อันดับกองทุน FIF ผลตอบแทนดีที่สุด ณ 31 ธ.ค. 2562

10 อันดับ LTF-RMF ผลตอบแทนดีที่สุด ณ 31 ธ.ค. 2562