HoonSmart.com>>ปีสุดท้ายของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดหย่อนภาษีของมนุษย์เงินเดือน คนทำงาน ซึ่งยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเหมือนเดิม (ลดหย่อนสูงสุด 15% ไม่เกิน 500,000 บาท) แม้ปี 2563 จะไม่มีกองทุน LTF ให้ใช้สิทธิภาษี แต่ไม่ได้ “ยกเลิก” กองทุน การบริหารจัดการกองทุนเพื่อหาผลตอบแทนจากตลาดหุ้นยังคงดำเนินต่อไป (LTF ลงทุนในหุ้นเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่ต่ำกว่า 65% ของ NAV)
ส่วนปี 2563 ค่อยเปลี่ยนไปลงทุนกองทุน SSF หรือกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund) ซึ่งรัฐออกมาทดแทนกองทุน LTF โดยปรับเงื่อนไขและสิทธิลดหย่อนภาษีให้เหมาะกับสภาวะปัจจุบัน โดยลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% หรือไม่เกิน 200,000 บาทและระยะเวลาลงทุนยาวขึ้นเป็น 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ เมื่อเทียบกองทุน LTF ที่มีระยะเวลาลงทุน 7 ปีปฏิทิน
นโยบายลงทุนก็ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในหุ้นเท่านั้น กองทุน SSF สามารถลงทุนหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท จึงมีความหลากหลาย เป็นทางเลือกให้กับผู้ที่รับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน รายละเอียดตาม Infographic ของตลาดหลักทรัพย์
วกกลับมากองทุน LTF ในปีสุดท้าย ท่ามกลางตลาดหุ้นยังคงมีความผันผวนและแนวโน้มน่าจะต่อเนื่องไปถึงปี 2563 การเลือกกองทุนอาจเป็นเรื่องยากในการตัดสินใจ
แต่ถ้ามองภาพแค่ปีหน้าตลาดหุ้นผันผวน อาจเลือกกองทุน LTF ที่เน้นหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ ปันผลสูง ก็น่าสนใจ แต่ถ้ามองภาพยาวๆ กว่าจะขายกองทุนได้ 7 ปี หากภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นหนุนตลาดหุ้น การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดีก็เป็นอีกหนึ่งในทางเลือกขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน
อีกทั้งด้วยระยะเวลาของกองทุน LTF ที่จัดตั้งมานาน 15 ปีหรือตั้งแต่ปี 2547 ก็มีผลงานได้พิสูจน์ฝีมือของผู้จัดการกองทุนแต่ละค่ายไว้แล้ว แม้ผลการดำเนินงานในอดีต ไม่ได้ยืนยันผลงานในอนาคต แต่อย่างน้อยก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยตัดสินใจเลือกลงทุนได้
ยิ่งเข้าใกล้โค้งสุดท้ายปลายปี บรรดาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แต่ละค่ายต่างคัด “กองทุนเด่น” ของตัวเอง มานำเสนอให้แก่นักลงทุน ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยเลือกและคัดกรองมาให้ได้ตัดสินใจเลือกลงทุนได้ง่ายขึ้นอีก เพราะแต่ละกองทุนล้วนมีผลดำเนินงานโดดเด่น
เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) ซึ่งถือเป็นบริษัทหลักทรัพย์ต้นๆ ที่มี Fund Supermart สามารถซื้อกองทุน 20 บลจ.ได้ที่เดียวและในปีนี้บล.ฟิลลิป ได้คัด สุดยอด 5 กองทุน LTF ลงทุนหุ้นไทย มาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่นักลงทุน
โดยเกณฑ์ที่ใช้คัดเลือกนั้น พิจารณาจากอัตราผลตอบแทน 5 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกองทุนและมีความผันผวนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มเดียวกัน ข้อมูลจากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ ณ วันที่ 29 พ.ย.2562
สำหรับกองทุนที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่ กองทุนเปิดพรินซิเพิล หุ้นระยะยาว (PRINCIPAL LTF) ของบลจ.พรินซิเพิล กองทุนเปิดแมนูไลฟ์ สเตร็งค์ คอร์ หุ้นระยะยาว (MS-CORE LTF) ของบลจ.แมนูไลฟ์ กองทุนเปิดแวลูพลัส ปันผล หุ้นระยะยาว (VALUE-D LTF) ของบลจ.ยูโอบี กองทุนเปิดวรรณเอเอ็มซีเล็คทีฟโกรทหุ้นระยะยาว (1SG-LTF) ของบลจ.วรรณ ( https://www.one-asset.com/fund/detail/61/THB ) และกองทุนเปิดเอ็มเอฟซีเพิ่มค่าหุ้นระยะยาว (MV-LTF) ของบลจ.เอ็มเอฟซี
ส่วนเงินลงทุนจะมากน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่กำลังทรัพย์และสิทธิในการลดหย่อนภาษีของแต่ละคน แต่สำคัญไม่อยากให้พลาดโอกาสลงทุนกองทุน LTF ปีสุดท้าย เพราะถึงอย่างไรก็ถือลงทุนเพียง 7 ปีปฏิทิน (5 ปี 2 วันก็ขายได้) เมื่อเทียบการลงทุนในกองทุน SSF ใหม่ ต้องถือ 10 ปี รวมถึงกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่จะขายคืนได้เมื่ออายุ 55 ปี
อีกทั้งการลงทุน LTF ในปีนี้ยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุด 15% ของเงินได้หรือไม่เกิน 500,000 บาท แต่ปี 2563 หากลงทุนกองทุน SSF แม้จะลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทและเงินลงทุนดังกล่าวยังถูกนับรวมกับกองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ฯลฯ ต้องไม่เกิน 500,000 บาทอีกด้วย…
เห็นอย่างนี้ไม่อยากให้พลาดลงทุน LTF ทิ้งทวนปีสุดท้าย
อ่านประกอบ
บลจ.กสิกรฯ ออกโปรดีส่งท้ายปี LTF/RMF ชู KDLTF-KEQRMF แกร่ง พิชิตทุกสภาวะ
“เอเซียพลัส” เปิด 20 หุ้นกองทุนเก็บช่วงโค้งสุดท้ายปี PTT-CPALL นำโด่ง
ครม.เคาะกองทุน SSF แทน LTF ถือ 10 ปี เพิ่มลดหย่อน RMF เป็น 30%