HoonSmart.com>>ครม.ไฟเขียวกองทุน SSF แทน LTF ถือลงทุน 10 ปี ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 2 แสนบาท เปิดกว้างลงทุนหลักทรัพย์ทุกประเภท ไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ ไม่ต้องซื้อทุกปี ลดหย่อนได้ 5 ปี (2563 – 2567) พร้อมปรับเกณฑ์กองทุน RMF เพิ่มเพดานลดหย่อนภาษีเป็น 30% จากเดิม 15% ไม่เกิน 5 แสนบาท ก.ล.ต.นัดบลจ.หารือ 4 ธ.ค. จ่อปรับเกณฑ์อนุมัติอัตโนมัติ บล.หยวนต้าเผยความชัดเจน ส่งผลบวกต่อหุ้นหลักใน SET 50
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2562 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการออมระยะยาว ให้จัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund) หรือกองทุน SSF มาทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) โดยให้บุคคลธรรมดาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ เมื่อซื้อหน่วยลงทุนไม่เกิน 30% ของรายได้ วงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท โดยให้นับรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แล้วต้องไม่เกินวงเงิน 5 แสนบาทในแต่ละปีภาษี
นอกจากนี้เปิดให้กองทุน SSF ลงทุนหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่จำกัดแค่หุ้นเหมือนกับ LTF และผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถขายคืนได้เมื่อถือลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ อีกทั้งไม่กำหนดการซื้อขั้นต่ำและไม่ต้องซื้อต่อเนื่อง ซื้อปีไหนใช้สิทธิภาษีได้ในปีภาษีนั้น โดยสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF ได้ 5 ปี (2563 – 2567) และเมื่อครบ 5 ปีแล้วกระทรวงการคลังจะประเมินผลของมาตรการเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
วัตถุประสงค์ของกองทุน SSF เพื่อต้องการส่งเสริมการออมต่อเนื่องโดยมี 3 เป้าหมาย คือ 1.การส่งเสริมการออมของประชาชนในหลายช่วงวัย 2.กองทุน SSF สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบันการทำงาน อาชีพ เพราะคนรุ่นใหม่อาจไม่ใช่ลูกจ้างองค์กร เป็นเถ้าแก่ เป็นผู้ประกอบการ หากกำหนดเงินลงทุนต่อเนื่องทุกปีและมีขั้นต่ำอาจไม่จูงใจ เพราะบางปีทำธุรกิจใหม่บางปีลงทุนเยอะ จึงปรับให้ยืดหยุ่นเพื่อจูงใจคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันลูกจ้างในองค์กรก็น่าสนใจ เพราะขยับให้กองทุนลงทุนอะไรก็ได้ และ 3.พยามสร้างกองทุน SSF มีความน่าสนใจลงทุนเพื่อการออมทระยะยาว
นายอุตตมะ กล่าวว่า ครม.ยังได้อนุมัติปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน RMF ให้สอดคล้องจากเดิมให้หักลดภาษีจากเดิมไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน เป็นไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน โดยยังกำหนดวงเงินหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท เมื่อรวมกับกองทุน SSF กองทุน PVD, กองทุนกบข.หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ
นอกจากนี้ยกเลิกการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF จากเดิมไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยสามารถซื้อกองทุน RMF ได้ โดยยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปีและไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิมและยังคงอายุ 55 ปีเหมือนเดิม
นายอุตตม กล่าวเพิ่มว่า กระทรวงการคลังมุ่งหวังให้ประชาชนทุกกลุ่มมีวินัยการออม เริ่มต้นออมระยะยาวตั้งแต่เข้าสู่วัยทำงาน และรู้จักวางแผนทางการเงิน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางรายได้ เมื่อพ้นวัยทำงาน ทั้งนี้ สำหรับการลงทุนในกองทุน LTF ซึ่งจะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2562 นั้น นักลงทุนจะยังคงสามารถซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน LTF ได้ และแม้ว่าจะไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป แต่กระทรวงการคลังได้เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุน LTF เช่นเดียวกับกองทุนรวมอื่น ๆ
สำหรับขั้นตอนต่อไปจะต้องออกเป็นกฎกระทรวงและคาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2563 พร้อมกันนี้กระทรวงการคลังได้ประมาณการว่า จากการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุน SSF และปรับปรุงหลักเกณฑ์ของ RMF จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 14,000 ล้านบาท ขณะที่ประโยชน์ที่จะได้รับคือ การออมระยะยาวของประชาชนจะเพิ่มขึ้น
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า กองทุน SSF ใหม่จะกระตุ้นการออมและเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ เพราะเงื่อนไขไม่ได้จำกัดการลงทุนทุกปี มีเงินตอนไหนก็ลงทุนได้และไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี
“วันที่ 4 ธ.ค ก.ล.ต. ได้เชิญผู้บริหาร บลจ. ทุกแห่งมาหารือเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมการจัดตั้ง SSF โดย ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ให้ SSF ได้รับอนุมัติแบบอัตโนมัติ (auto approval) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ บลจ. ที่จะจัดตั้งกองทุนดังกล่าว”น.ส.รื่นวดีกล่าว
บล.หยวนต้า(ประเทศไทย )มีความเห็น ความชัดเจนของการออกกองใหม่ทดแทนกองทุน LTF ประเมินว่าเป็นผลบวกต่อหุ้นหลักใน SET50 เพราะเกิดความต่อเนื่องในการบริหารเงินลงทุนของกองทุนในประเทศ และเป็น Overhang ที่กดดันตลาดในช่วงก่อนหน้า
โดยประเมินว่าหุ้นในกลุ่มสื่อสารมีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่อง เพราะเป็นหุ้นหลักที่อยู่ใน SET50 และราคา ณ ปัจจุบันให้ปันผลในเกณฑ์ดีที่ 4-5% ต่อปี