“เอเซียพลัส” เปิด 20 หุ้นกองทุนเก็บช่วงโค้งสุดท้ายปี PTT-CPALL นำโด่ง

HoonSmart.com>> บล.เอเซียพลัส ประเมินเงิน LTF จ่อเข้าซื้อหุ้นเดือนธ.ค. หลัง 11 เดือนแรกยอดซื้อบาง พร้อมคัด 20 หุ้นกองทุนนิยมซื้อสะสมช่วงโค้งสุดท้าย มองตลาดหุ้นปี 63 ขาดเม็ดเงิน LTF ขับเคลื่อนฉุดดัชนี


บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งจะหมดอายุลงในปีนี้ และมีการก่อตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Savings Fund) พร้อมกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ขึ้นมาแทนที่ เชื่อว่าเม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้ามา เมื่อเทียบกับ LTF แล้ว น่าจะลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลทำให้ตลาดหุ้นไทย ขาดเม็ดเงินที่จะเข้ามาขับเคลื่อนตลาดหุ้นในปี 2563 อย่างมีนัย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน ธ.ค.2562 ยังจะเห็นแรงขับเคลื่อนจากเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาซื้อ LTF ก่อนสิ้นปี (เป็นรอบสุดท้าย) ซึ่งในเดือน พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา สถาบันฯซื้อสุทธิเพียง 2.5 พันล้านบาทเท่านั้น แต่จากสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่า สถาบันฯซื้อสุทธิหุ้นไทยช่วง 2 เดือนสุดท้ายเฉลี่ยสูงถึง 2.08 หมื่นล้านบาท (ซื้อสุทธิ 9 ใน 10 ปี) ดังนั้นในปี 2562 นี้ นักลงทุนยังซื้อ LTF น้อยอยู่ จึงมีโอกาสที่จะเห็นแรงซื้อที่จะมากระจุกตัวในเดือน ธ.ค. 2562 นี้มากขึ้น

ฝ่ายวิจัยได้ทำการคัดกรองหุ้นที่นักลงทุนสถาบันฯ นิยมซื้อสะสมในช่วงโค้งสุดท้ายของปี เริ่มจากค้นหารายชื่อหุ้นที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นิยมลงทุนมากที่สุด ในกองทุน LTF ทั้งหมด 93 กองทุน มีมูลค่าของทรัพย์สินสุทธิรวมกันกว่า 3.87 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ต.ค.2562) โดยได้รายชื่อหุ้น 20 หลักทรัพย์ที่กองทุนนิยมถือมากที่สุด ตัวอย่างเช่น PTT 8.5%, CPALL 7.7%, AOT 4.9%, BBL 4.0%, ADVANC 3.6% เป็นต้น

บล.เอเซีย พลัส ยังมองว่าตลาดหุ้น ยังคงได้รับผลกระทบจากเม็ดเงินลงทุนที่หายไปบางส่วน โดยสามารถแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ประเมินเม็ดเงินที่เคยหนุนจากกกองทุน LTF หายไปไม่ต่ำกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเดิมนักลงทุนมีวงเงินในการซื้อกองทุนเพื่อประหยัดภาษีรวมกันทั้งหมดได้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นจากการซื้อกองทุนจากกองทุน RMF หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี บวกกับการซื้อกองทุน LTF ได้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี (ซึ่งตรงส่วน LTF นี้ถูกยกเลิกไป)

ขณะที่เงินลงทุนในกองทุนใหม่อย่าง SSF ต้องนำมารวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ เช่น กองทุน RMF ใหม่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นต้น ทั้งหมดนี้รวมกันสามารถซื้อได้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี ทำให้มีเพดานที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ 1 ล้านบาทต่อปี ลดลงไปกว่าครึ่ง

ฝ่ายวิจัยฯคาดว่าแรงซื้อจากกองทุน LTF หายไปนับตั้งแต่ปี 2563 ปีละประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท (เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี) แต่อาจมีแรงชื้อกลับมาบ้าง จากนักลงทุนค้นหาแหล่งลงทุนที่จะช่วยลดหย่อนภาษีแทน LTF ซึ่งทางเลือกลำดับต้นๆ สำหรับคนทำงานวัยกลางคน โดยเฉพาะที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป น่าจะเลือกลงทุนในกองทุน RMF ก่อน เนื่องจากสามารถสลับการลงทุนในแต่ละกองในระหว่างการถือครองได้ ซึ่งดีกว่าการลงทุนในกองทุน SSF ที่ต้องทนถือนานถึง 10 ปี ขณะที่ผู้เริ่มต้นทำงานอาจจะสนใจในการลงทุนผ่านกองทุน SSF มากกว่า เพราะเพียง 10 ปี ก็สามารถไถ่ถอนคืนได้ ไม่ต้องรอถึงอายุ 55 ปี

ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงทำการวิเคราะห์หา Asset Allocation ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในกองทุนที่ต้องออมเงินในระยะยาว จาก Asset Class ทั้งหมดในกองทุน RMF ในประเทศไทย 220 กองทุน พบว่า มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นราว 33% หากประเมินจากแรงซื้อ LTF เดิมทั้งหมด เปลี่ยนมาซื้อกองทุน RMF ใหม่แทน เหลือเม็ดเงินหนุนตลาดหุ้นราว 2 หมื่นล้านบาทต่อปี จากเดิมราว 6 – 7 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือเม็ดเงินจาก LTF ที่เคยหนุนตลาดจะหายไปไม่ต่ำกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามยังมีความโชคดีเกิดขึ้นในปี 2563 – 2564 เพราะจะปราศจากแรงขายจากกองทุน LTF ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน เนื่องจากเงินลงทุนในกองทุน LTF ตั้งแต่ปี 2559 จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากมีการเปลี่ยนระยะเวลาการถือครองจาก 5 ปีเป็น 7 ปีปฏิทิน แต่จะกลับมาเผชิญแรงขายตามปกติในปี 2565

“คาดว่ายังมีแรงซื้อสุทธิ LTF ในปี 2562 อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท แม้อาจลดลงบ้างในช่วงที่เหลือของปี แต่ในปี 2563 – 2564 ยังได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากไม่มีแรงขายคืน LTF แต่แรงซื้อสนับสนุนน่าจะไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท และจะเผชิญแรงขายสุทธิหนักไปในปี 2565 ราว 4.5 หมื่นล้านบาท”บล.เอเซียพลัส ระบุ

ส่วนประเด็นที่ 2. ความเสี่ยงเม็ดเงินพร้อมขายจากยอดคงค้างในกองทุน LTF กว่า 1.8 แสนล้านบาท ที่สำคัญต้องอย่าลืมว่ายังมีเม็ดเงินลงทุนที่ครบกำหนดอายุ (ปี 2547-58) แต่ยังไม่ได้ขายเกินกว่า 1.8 แสนล้านบาท ที่ถือครองโดยกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาว แต่ก็พร้อมที่จะขายออกมา หากปัจจัยแวดล้อมทางการลงทุนไม่เอื้ออำนวย ถือเป็นแรงกดดันอีกทางหนึ่งต่อตลาดหุ้นไทยในปี 2563 เป็นต้นไป

ฝ่ายวิจัยประเมินว่าแรงขับเคลื่อนตลาดจากเม็ดเงิน LTF ที่หายไปพอสมควร กดดันให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสซื้อขายบน P/E ที่ไม่สูงมากนักเหมือนในอดีต ส่งผลให้จำกัดการเคลื่อนไหวของเป้าหมาย SET Index ในปี 2563 มีโอกาสลดลง