โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย
ยังไม่ใช่คำยาวที่สุดในภาษาอังกฤษ แต่กว่าจะหัดอ่านจนคล่องปากก็ใช้เวลานานหลายนาที! Oxford Dictionary ให้คำจำกัดความ floccinaucinihilipilification ว่ามันคือ the action or habit of estimating something as worthless “การกระทำหรือนิสัยที่มองว่า บางสิ่งบางอย่างนั้นไม่สำคัญ ไม่มีค่า หรือ ไร้ค่า” ศัพท์คำนี้ปรากฏเมื่อวันพุธในรายงานประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ครั้งล่าสุด 7 ส.ค. ซึ่งผลโหวต 4:2 ให้ลดดอกเบี้ย 0.35% โดย Chetan Ghate กรรมการเสียงข้างน้อยจากฟากรัฐบาลผู้เห็นควรให้ลดแค่ 0.25% ใช้คำดังกล่าวเพื่ออธิบายว่า เศรษฐกิจอินเดีย “ถูกประมาณการให้ดูแย่กว่าความเป็นจริง” และน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณสิ้นสุด 31 มี.ค. 2020
แย่จริง? GDP อินเดีย ม.ค.-มี.ค. +5.8% โตต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี ตลาดคาดไตรมาสที่ผ่านมาอาจจะต่ำลงอีก ขณะสภาวะทางการเงินตึงตัวเพราะหุ้นร่วงลงต่อเนื่อง จนภาคธุรกิจเรียกร้องให้รัฐบาลออกแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หลังผิดหวังจากการแถลงงบประมาณเดือนที่แล้วไร้แววมาตรการกระตุ้น แถมรัฐบาลเตรียมรีดภาษีคนรวยและนักลงทุนต่างชาติ …ความอดทนของตลาดใกล้ถึงขีดสุดเมื่อวันพฤหัสฯ ดัชนี Nifty หุ้นอินเดีย -1.6% รับข่าว K. Subramanian หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาล ออกมาซ้ำเติมสถานการณ์โดยกล่าวว่า มาตรการกระตุ้น “ไม่มีความจำเป็น” ทว่าหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ในที่สุด รมว.คลัง Nirmala Sitharaman ทนกระแสกดดันไม่ไหว ประกาศแพคเกจกระตุ้นการคลังแล้วเมื่อวันศุกร์!
Policy Mistakes เหตุการณ์ดังกล่าวในอินเดียนับเป็นตัวอย่างของ “ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบาย” เกิดขึ้นได้ทั้งในด้าน การเงิน และ การคลัง เมื่อนโยบายที่ใช้ไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ทำผิดที่ผิดเวลา ทำมาก/น้อยไป ตอบสนองช้าเกินไปต่อการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ โดย “ตลาดหุ้น” ซึ่งสะท้อนมุมมองของนักลงทุนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต มักส่งสัญญาณเตือนสีแดงฉาน (หุ้นตก) ฟ้องว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น… Policy Mistakes ที่กระทบชีวิตนักลงทุนในช่วงหลายต่อหลายเดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ในมุมมองของผม) เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกคือ สหรัฐฯ
เฟด ปีที่แล้วขึ้นดอกเบี้ยมากไป แถมส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอีก 2 ครั้งในปี 2019 ดัชนีหุ้นสหรัฐฯตัดสินว่า “ผิด” โดยร่วงลงอย่างหนักในช่วงปลายปี… นโยบายที่ผิดพลาดไม่สามารถดำเนินต่อไปเรื่อยๆในระยะยาว สุดท้ายเฟดจำต้อง “แก้ไข” ด้วยการ “กลับลำ” ปรับจุดยืนให้ผ่อนคลายลง จนนำไปสู่การลดดอกเบี้ยในเดือนที่ผ่านมา
ทรัมป์ ผิดพลาดหรือไม่? ที่ตัดสินใจโจมตีจีนด้านการค้า 2 ครั้งในเดือนนี้ เริ่มจาก 1 ส.ค. ประกาศเก็บภาษี 10% สินค้านำเข้าจากจีน “ชุดสุดท้าย” $3 แสนล้าน มีผลบังคับ 1 ก.ย. (แหล่งข่าวเผย ปธน.สหรัฐฯ ไม่ได้ฟังคำแนะนำของที่ปรึกษา) ดัชนีดาวโจนส์ “ลูกรัก” ของท่านร่วงกระจาย หลังจากนั้นไม่ถึง 2 สัปดาห์ ทรัมป์ยอม “ถอย” โดยเลื่อนการเก็บภาษีสินค้าบางรายการออกไปเป็น 15 ธ.ค. เหตุผลส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้กระทบความสุขของชาวอเมริกันที่จะจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลคริสต์มาส …เมื่อทรัมป์เพลี่ยงพล้ำ จีนก็รุกไล่! โดยตอบโต้ด้วยการประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ $7.5 หมื่นล้าน ช่วงค่ำวันศุกร์… แล้วการตัดสินใจที่ดูเหมือนกำลังจะเป็น “ความผิดพลาดครั้งที่ 2” ของ ปธน.จอมทวีต ก็อุบัติขึ้นหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ทรัมป์ “เอาคืน” ประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีก 5% “สัญญาณเตือน” ทำงานหนักอีกครั้ง…แดงขนาดไหน? Dow Jones -2.4% S&P 500 -2.6% Nasdaq -3.0% “นี่คือความผิดพลาดหรือไม่?” ท่านผู้อ่านคงมีคำตอบในใจ
สมมุติฐานเมื่อเผชิญหน้ากับ Policy Mistakes
1. ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบาย ควรได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีโดยผู้มีอำนาจตัดสินใจ ยิ่งผลร้ายจากการ “ไม่แก้” รุนแรงมากและส่งผลเสียต่อผู้ตัดสินใจเอง ก็ยิ่งต้องแก้ไขโดยเร็ว
2. การลงทุนในทิศทางเดียวกับ Policy Mistakes “ราวกับว่าปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไข” เช่น ตกใจเทขายหุ้นทิ้งเพราะกลัว สหรัฐฯ-จีน จะทะเลาะกันไปเรื่อยๆจนวอดวายทั้งคู่ ทั้งๆที่หุ้นตกรับข่าวแล้ว ราคาถูกลงมากแล้ว จึงไม่น่าจะสมเหตุสมผล
3. การลงทุนในทิศทางที่เชื่อว่าในที่สุด “ความผิดพลาดจะได้รับการแก้ไข” จึงน่าจะสมเหตุสมผลมากกว่า ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในบทความนี้เช่น เฟดกลับใจลดดอกเบี้ย รัฐบาลอินเดียยอมออกแพคเกจกระตุ้นการคลัง หรือแม้แต่ ทรัมป์ ยอมถอยรอบแรกช่วงกลางเดือน ดังนั้น วิกฤตครั้งนี้และครั้งถัดๆไปหากอยู่บนเงื่อนไขใกล้เคียงกัน ก็คงไม่ใช่ข้อยกเว้น
กลยุทธ์การลงทุน คงมุมมองบวก “Overweight” กองทุน KT-EMEQ, KT-ASEAN, KT-INDIA
สถานการณ์ตึงเครียดด้านการค้าในปัจจุบันเพิ่มแรงจูงใจให้ รัฐบาลทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นการคลังมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ดังที่ได้ชี้ไว้หลายครั้งในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา) อีกทั้งสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายการเงินของธนาคารกลาง ประกอบกับสถานะลงทุนที่หนาแน่นในตราสารหนี้ กดดันให้ยีลด์ปรับตัวต่ำลง (ราคาแพงขึ้น) จนมีตราสาร “ยีลด์ติดลบ” ปริมาณมากเกือบ $17 ล้านล้านทั่วโลก ทำให้ตลาดตราสารหนี้สุ่มเสี่ยงต่อการโดนเทขายหากยีลด์หยุดร่วงลง (แล้วผันเงินลงทุนเข้าสู่ตลาดหุ้น) …ทั้งหมดดังกล่าวเป็น “สภาวะเริ่มต้น” ที่เหมาะเจาะต่อการเริ่มสร้าง “ขาขึ้น” ของหุ้นหลายๆตลาดในระยะถัดไป เมื่อนักลงทุนหายตื่นตระหนกแล้วหันมาใช้เหตุผลกันมากขึ้น ดังนั้น ตลาดหุ้นยิ่งผันผวน ยิ่งเปิดโอกาสลงทุนดีๆ และไม่ควรมองแบบ floccinaucinihilipilification ด้วยประการทั้งปวง!!!