คปภ.ออกประกัน“ไม่มีแถบโฮโลแกรม” ตรวจได้ทันที-เสียภาษีรถไม่ต้องโชว์กรมธรรม์

HoonSmart.com>>สำนักงาน คปภ. ออกประกันภัย พ.ร.บ. รูปแบบใหม่ “ไม่มีแถบโฮโลแกรม” ยกระดับธุรกิจประกันภัยสู่ ESG ตรวจสอบความคุ้มครองหลังซื้อได้ทันที เสียภาษีรถไม่ต้องโชว์หน้าตารางกรมธรรม์ ช่วยลดต้นทุนธุรกิจ

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ได้อนุมัติแบบและข้อความตารางกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่ไม่มีแถบโฮโลแกรม (Non-hologram)ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา

ปัจจุบันตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. มี 3 รูปแบบ คือ
รูปแบบแรก ตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ที่มีแถบโฮโลแกรม (Hologram)
รูปแบบที่สองตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. แบบ PVR-Slip เพื่อใช้ในการออกกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถจักรยานยนต์ของบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และ
รูปแบบที่ 3 ตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ที่ไม่มีแถบโฮโลแกรม (Non-hologram)ซึ่งเป็นแบบใหม่ ก่อนที่บริษัทประกันภัยจะขายต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ (Product Governance Committee : PGC) ของบริษัทก่อนยื่นขอรับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. เพื่อเป็นการส่งเสริมการดำเนินงานภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance)

ทั้งนี้ บริษัทประกันภัย ที่ขาย ประกันพ.ร.บ. ไม่มีแถบโฮโลแกรม หนึ่ง ต้องรายงานการรับประกันภัยมาที่ คปภ. จะได้มีฐานข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับที่ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน ทำให้กรมการขนส่งทางบกสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่านระบบที่เชื่อมโยงกันไว้ได้ เพื่อยืนยันการทำประกันภัย พ.ร.บ. ของประชาชนก่อนชำระภาษีรถประจำปี โดยไม่ต้องแสดงหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ทำให้ประชาชนเกิดความสะดวกและลดระยะเวลา จากเดิมเมื่อซื้อประกันภัยรถภาคบังคับ หรือ ประกันภัย พ.ร.บ. จะได้รับหลักฐานที่สำคัญ คือ “ตารางกรมธรรม์ประกันภัย” ที่ระบุข้อมูลผู้เอาประกันภัย ข้อมูลรถ วันเริ่มต้น-สิ้นสุดความคุ้มครอง ข้อมูลบริษัทประกันภัย และตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยที่เสนอขาย

สอง ต้องกำหนดช่องทางให้ลูกค้าตรวจสอบกรมธรรม์ได้ทันที อาทิ วิธีการตรวจสอบผ่านแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ของบริษัทประกันภัย เป็นต้น

การเพิ่มตารางกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. รูปแบบใหม่ โดย “ไม่มีแถบโฮโลแกรม (Non-hologram)”จะช่วยให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ที่บริษัทออกให้เป็นฉบับจริง และสามารถตรวจสอบความคุ้มครองได้แบบ Realtime ช่วยลดต้นทุนของการออกกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาพิจารณาปรับปรุงค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. ในอนาคต

ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental Social and Governance : ESG) ไม่ว่าจะเป็นมิติทางสิ่งแวดล้อม (Environmental) ที่เริ่มปรับจากการออกกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ในรูปแบบกระดาษที่มีแถบโฮโลแกรม มาเป็นรูปแบบกระดาษที่ไม่มีแถบโฮโลแกรม (Non-hologram)

รวมไปถึงการเลือกรับกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. ในรูปแบบ e-Policy ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบันที่ซื้อประกันภัยในรูปแบบออนไลน์และเลือกรับหลักฐานการทำประกันภัยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น หรือมิติทางสังคม (Social) ที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการตรวจสอบกรมธรรม์ และความคุ้มครองได้ทันทีที่ซื้อประกันภัย

ด้าน มิติทางธรรมาภิบาล (Governance) ส่งเสริมการรับประกันภัย พ.ร.บ. ให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมที่มีมาตรฐานของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT security) พร้อมทั้งสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยปรับตัวเป็นดิจิทัล อันเป็นการสอดคล้องกับแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 และแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2567 – 2569) อีกด้วย

สำหรับการขายประกันภัย พ.ร.บ. ผ่านจุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือสถานที่อื่นๆ ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคปภ. ต้องมีแถบโฮโลแกรม (Hologram) เพื่อป้องกันการปลอมแปลงประกันภัย พ.ร.บ. และสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้

ปัจจุบัน สำนักงาน คปภ. มีระบบฐานข้อมูลประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance System : CMIS) ที่บริษัทประกันวินาศภัยได้นำส่งข้อมูลประกันภัยพ.ร.บ. เข้าฐานข้อมูล CMIS แล้ว ทำให้ โรงพยาบาล สามารถตรวจสอบสิทธิเพื่อให้การรักษาแก่ผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถได้ทันท่วงที

อีกทั้ง ได้เชื่อมโยงระบบดังกล่าวกับกรมการขนส่งทางบก ส่งผลให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และครบวงจร