EXIM BANK แนะผู้ส่งออกไทยใช้กลยุทธ์ ‘ปรับ เปลี่ยน ป้องกัน’ ลดเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน

HoonSmart.com>>ผู้ประกอบการส่งออกไทยต้องเผชิญความเสี่ยงในหลายมิติพร้อม ๆ กัน เริ่มจากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (Economic Risk) ที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลกโตต่ำกว่าอดีต คาดว่าในปี 2567 จะขยายตัวเฉลี่ยเพียง 3.2% ต่อปี ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ที่ขยายตัวเฉลี่ย 3.7% ขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเฉลี่ยเพียง 5% ต่ำกว่าช่วงก่อน COVID ที่เฉลี่ย 8% และยังมีหลายประเทศที่กำลังเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อสูง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ตลาดไม่มีกำลังซื้อและอาจลดการนำเข้าสินค้าลง

ถัดมาคือ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Risk) ที่ส่งผลให้ตลาดปลายทางกีดกันการค้ามากขึ้น โดยปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ได้ออกมาตรการกีดกันทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดมีราว 18,000 มาตรการ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 18% (ปี 2556-2565) ตัวอย่างเช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของ EU ร่าง Clean Competition Act (CCA) ของสหรัฐฯ การออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกที่ย่อยสลายเองไม่ได้ของจีน การกำหนดให้ธุรกิจที่ผลิตหรือนำเข้าหรือใช้บรรจุภัณฑ์ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการรีไซเคิล (Recycling Fee) ของญี่ปุ่น และการยกเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) ของอินเดีย

อีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญคือ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Disruptive Risk) ตลอดจนเทรนด์ใหม่ ๆ ของโลก ที่กำลังทำให้กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตได้ เช่น สิ่งทอ รถยนต์สันดาป เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มหมดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกันการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่สินค้าสมัยใหม่ในยุค Industry 4.0 เช่น Smart Phone, Smart Device และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็ยังทำไม่สำเร็จ ส่งผลให้สินค้าไทยตกยุค ตลาดไม่ต้องการสินค้าไทย ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าสีเขียวหรือสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ของโลกของไทยยังมีสัดส่วนต่ำ คิดเป็นเพียง 7.6% ของมูลค่าส่งออกรวม

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า สถานการณ์ความเสี่ยง 3 ด้านข้างต้น ส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดส่งออกของผู้ประกอบการรายใหม่ ขณะที่ผู้ส่งออกรายเดิมต่างก็ตกในภาวะ “อยากส่งออก แต่ส่งออกไม่ได้” ยิ่งไปกว่านี้ ในกรณีที่ส่งออกไปแล้ว ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ “ส่งออกได้ แต่ไม่ได้เงิน” ซึ่งเป็นผลจากความเสี่ยงอีก 2 ประการ ได้แก่ ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk) และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎระเบียบในบางประเทศ (Policy Risk) ที่ส่งผลให้คู่ค้ามีโอกาสที่จะผิดนัดชำระค่าสินค้า

โดยความเสี่ยงด้านการเงิน เกิดจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงทำให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับภาวะการเงินที่ตึงตัว โดยเฉพาะด้านสภาพคล่อง เนื่องจากมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน ภาวะหนี้ทั่วโลกก็กำลังอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ สะท้อนจากมูลค่าหนี้โลกที่เพิ่มขึ้นจาก 297 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 เป็น 313 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 เช่นเดียวกับอัตราการล้มละลายของภาคธุรกิจทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากดัชนีการล้มละลายของธุรกิจทั่วโลก (Global Insolvency Index) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 9% ในปี 2567 เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 7% ในปี 2566

ขณะที่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎระเบียบ เป็นผลจากการเมืองที่เปลี่ยนขั้วในบางประเทศ โดยปี 2567 ถือเป็นปีแห่งการเลือกตั้งทั่วโลก เนื่องจากมีการเลือกตั้งมากกว่า 60 ประเทศ ซึ่งผลการเลือกตั้งในบางประเทศมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญและอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายต่าง ๆ โดยการเลือกที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2567

ดร.รักษ์ กล่าวอีกว่า Financial Risk และ Policy Risk ถือเป็น 2 ความเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้คู่ค้าผิดนัดชำระค่าสินค้า และทำให้ผู้ส่งออกของไทยไม่ได้เงิน ขณะที่ Economic Risk, Environmental Risk และ Disruptive Risk ถือเป็นความเสี่ยงที่อาจกดดันให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ต่ำ ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีกลยุทธ์และเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงในทุกมิติอย่างเหมาะสม เพื่อคว้าโอกาสให้ธุรกิจส่งออกเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในเวทีโลก ซึ่งผู้ประกอบการสามารถจัดการกับความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ได้ด้วยกลยุทธ์ “ปรับ เปลี่ยน ป้องกัน”

ในกรณีความเสี่ยง “อยากส่งออก แต่ส่งออกไม่ได้” ผู้ประกอบการควรปรับสินค้าให้เท่าทันกับเทรนด์สินค้าของโลก ที่มุ่งเน้นไปที่สินค้าในกลุ่ม Green & Sustainability, Health & Wellness ไปจนถึงสินค้านวัตกรรมต่าง ๆ พร้อมเปลี่ยนไปเจาะตลาดส่งออกที่น่าจะมีแนวโน้มทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดีและยังมีหลายตลาดโตไม่หยุด อาทิ อินเดีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา เป็นต้น

สำหรับกรณีความเสี่ยง “ส่งออกได้ แต่ไม่ได้เงิน” ผู้ประกอบการสามารถใช้กลยุทธ์ป้องกัน บริหารจัดการความเสี่ยงเบื้องต้นด้วยตนเอง เช่น การเลือก Term การชำระเงินให้เหมาะสม หากลูกค้ามีความเสี่ยงสูง ผู้ประกอบการควรเลือกวิธีการชำระเงินแบบ L/C ที่มีธนาคารผู้ซื้อมาเป็นผู้รับรอง หรือควรให้ผู้ซื้อชำระเงินล่วงหน้า (Advance Payment) นอกจากนี้ ยังควรทำความรู้จักลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถประเมินสถานะการค้าและการเงินของคู่ค้าว่าอยู่ในระดับปลอดภัยหรือไม่ โดยผู้ประกอบการอาจใช้บริการของจากหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในประเทศดังกล่าว อาทิ สถานเอกอัครราชทูตไทย รวมถึงทูตพาณิชย์ BOI ไปจนถึง EXIM BANK ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานผู้แทนใน 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม

EXIM BANK มีบริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อ ที่จะช่วยผู้ประกอบการเช็กสถานะทางการเงินของคู่ค้าปลายทางก่อนที่จะตกลงทำการค้ากันได้ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีบริการประกันการส่งออก ซึ่งถือเป็นการประกันความเสี่ยงที่ผู้ซื้อไม่ชำระค่าสินค้าส่งออก ทำให้สามารถการันตีได้ว่าถ้าส่งออกแล้วได้เงิน โดย EXIM BANK ให้บริการครอบคลุมทั้งบริการประกันการส่งออกระยะสั้น ซึ่งมีเงื่อนไขการชำระเงินไม่เกิน 180 วัน และบริการประกันการส่งออกระยะกลางและระยะยาว ซึ่งมีเงื่อนไขการชำระเงินที่มากกว่า 180 วัน

นอกจากนี้ หากผู้ส่งออกมีความพร้อมมากขึ้นและต้องการขยายธุรกิจในรูปแบบการลงทุนเพื่อรุกตลาดมากขึ้น EXIM BANK ยังมีบริการประกันความเสี่ยงการลงทุน ซึ่งเป็นการประกันความเสี่ยงทางการเมืองจากการที่โครงการลงทุนของผู้ลงทุนได้รับความเสียหายในการดำเนินนโยบาย กฎระเบียบ หรือการดำเนินการใด ๆ ของรัฐบาลประเทศที่ผู้ลงทุนไปลงทุน ตลอดจนภัยทางการเมือง ซึ่งมีผลกระทบในทางลบต่อโครงการลงทุนของนักลงทุนและความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ของนักลงทุน

“ความเสี่ยงจากการส่งออกที่พบบ่อยที่สุดคือ ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ชำระเงินค่าสินค้าหรือชำระไม่ครบถ้วน ซึ่งผู้ส่งออกไทยจะมีความยากลำบากและต้นทุนสูงมากในการติดตามหนี้ กลายเป็นหนี้สูญเพราะผู้ซื้อในต่างประเทศขาดสภาพคล่องหรือล้มละลาย EXIM BANK พร้อมเสริมสร้างความมั่นใจและภูมิคุ้มกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยผ่านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน ผู้ประกอบการที่สนใจใช้บริการของ EXIM BANK สามารถปรึกษา EXIM Contact Center 0 2169 9999” ดร.รักษ์ กล่าว