HoonSmart.com>>ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังคงเป็นความกังวลของมวลมนุษยชาติ เห็นได้จากภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศแปรปรวนที่ยังเกิดบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นทั่วโลก ตราบเท่าที่อุณหภูมิของโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น
การประชุมภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP 26) เมื่อปี 2564 ผู้นำประเทศรวมทั้งประเทศไทยจึงร่วมกันให้คำมั่นว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 ซึ่งไทยในฐานะสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (UN) มีเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ Net Zero Emissions ภายในปี 2608
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของการค้าโลกอย่างสหรัฐ ฯ สหภาพยุโรป (EU) ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึง 51% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทยในปี 2566 ได้ออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมใหม่บังคับใช้เพิ่มขึ้น เช่น สหรัฐ ฯ จะออกมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน Clean Competition Act (CCA) จากสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด อินเดียยกเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ญี่ปุ่นกำหนดให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าหรือใช้บรรจุภัณฑ์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการรีไซเคิล เป็นต้น ซึ่งล่าสุดมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมมีเพิ่มขึ้นถึง 18,000 ฉบับ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 16% (ปี 2556-2565)
ดร.รักษ์ กล่าวว่า ปัญหาของไทยในขณะนี้คือ ยังมีการส่งออกสินค้าสีเขียวหรือสินค้ารักษ์โลกเพียง 7.6% ของมูลค่าการส่งออกรวม ยังไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งบนเวทีโลกอย่างเกาหลีใต้ที่ส่งออกสินค้าสีเขียวในสัดส่วน 10.2% จีน 10.4% ญี่ปุ่น 15% เยอรมันนี 15.4% ขณะนี้เริ่มเข้าสู่จุดที่ยากที่สุดในการปรับตัวของผู้ประกอบการแล้วคือ การปรับลดก๊าซเรือนกระจกใน Scope ที่ 3 กล่าวคือ Scope ที่ 1 เป็นการใช้พลังงานโดยตรง เช่น เชื้อเพลิงดีเซล น้ำมัน Scope ที่ 2 เป็นการใช้พลังงานทางอ้อม เช่น ไฟฟ้า ส่วน Scope ที่ 3 เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้ง Suppliers และผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดและยากที่สุด โดยคาดว่าธุรกิจส่วนใหญ่มีสัดส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 คิดเป็นสัดส่วน 90% ของกระบวนการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลในการจัดทำรายงานการติดตาม Carbon Footprint ซึ่งได้แก่ประมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือบริการ
“ปัญหาหลักที่ทำให้ Scope 3 ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการลดการปล่อยก๊าซได้ง่าย ๆ เพราะมีความยุ่งยากและซับซ้อนในการจัดทำรายงานและตรวจสอบกระบวนการผลิตตลอด Supply Chain เช่น การตรวจสอบต้นทางการรับวัตถุดิบจาก Suppliers รายย่อยว่ากระบวนการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงไร ขณะที่แหล่งที่มาของวัตถุดิบ พันธมิตร การขนส่งมีความหลากหลายมาก” ดร.รักษ์กล่าว
ภายใต้บทบาทของ EXIM BANK สู่การเป็น Green Development Bank ธนาคารได้ดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยตั้งเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2573 และ Net Zero Emissions ในปี 2593 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศไทย 20 ปีและ 15 ปีตามลำดับ เร่งดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ควบคู่กับการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2571
ดร.รักษ์กล่าวต่อไปว่า EXIM BANK สานพลังกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน พัฒนานวัตกรรม “Greenovation” ที่จะสร้าง Green Supply Chain ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว แข่งขันได้อย่างยั่งยืนในเวทีการค้าโลก ช่วยผู้ประกอบการลดการปล่อยคาร์บอนทั้ง 3 Scope
โดย Scope 1 ช่วยผู้ส่งออกลดคาร์บอนในการผลิต ซึ่งเป็นการลดคาร์บอนที่เกิดจากองค์กรโดยตรง เช่น กระบวนการผลิต การใช้รถขององค์กร สินเชื่อที่ช่วยผู้ประกอบการไทยปรับตัวทางธุรกิจ ได้แก่ EXIM Green Start, EXIM Green Goal และ EXIM Extra Transformation
Scope 2 ช่วยผู้ส่งออกลดคาร์บอนจากการใช้พลังงาน ซึ่งเป็นคาร์บอนที่เกิดจากพลังงานที่ซื้อมาใช้ในองค์กร เช่น ไฟฟ้า ความร้อน ไอน้ำ ซึ่งมีสินเชื่อ Solar D-Carbon Financing และสินเชื่อ EXIM Green Goal เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ได้แก่ Solar Rooftop และ Solar Farm
Scope 3 EXIM BANK จะมี Green Value Chain เป็น Solution ที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับตัว ช่วย Suppliers ของผู้ส่งออกลดคาร์บอน ซึ่งเป็นคาร์บอนที่ไม่ได้เกิดจากองค์กร ดำเนินการเองโดยตรง เช่น คาร์บอนที่เกิดจาก Suppliers ใน Chain ของผู้ส่งออกที่เป็นลูกค้าของธนาคาร และเตรียมหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายในการ Verify ให้กับผู้ประกอบการ ช่วยประเมินประสิทธิภาพและสอบทานการลดการปล่อยคาร์บอน
“เราเป็นธนาคารที่มีผลิตภัณฑ์ครบวงจรเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งหมด ส่งเสริมให้ SMEs ตั้งเป้าหมาย Green ให้ชัดเจนและพร้อมเติมความรู้สีเขียว เติมโอกาสสีเขียว และเติมเงินทุนสีเขียว ด้วยผลิตภัณฑ์ประเภท Green ต่าง ๆ ของ EXIM BANK พร้อมสิทธิประโยชน์และโปรโมชันพิเศษ เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่ธุรกิจทุกระดับเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในตลาดการค้าโลก ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ผู้บริโภคและกติกาการค้าโลกยุคใหม่ ถือเป็นมาตรการที่จะเข้ามามีส่วนในการทำให้ธุรกิจได้รับการยอมรับจากคู่ค้าในระดับสากล โดยเฉพาะในตลาดที่มีกำลังซื้อสูงจะทำให้การส่งออกง่ายขึ้น ขยายตลาดได้กว้างขึ้นและได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคทั่วโลก การปรับตัวอาจจะมีต้นทุนในช่วงแรก แต่ในระยะยาวมีความคุ้มค่ามาก” ดร.รักษ์กล่าว
EXIM BANK ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตของไทย โดยเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับอนุมัติโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) แบบแผนงาน (Programme of Activites : PoA) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs หรือโครงการขนาดเล็กที่ไม่มีความคุ้มค่าในการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต สามารถขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับผลประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติม โดย EXIM BANK เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนให้และส่วนแบ่งที่ EXIM BANK ได้รับเป็นคาร์บอนเครดิตจากโครงการนี้จะนำไปชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของ EXIM BANK เพื่อให้ธนาคารบรรลุเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ที่ตั้งไว้