กองทุนรวม All time high 9 เดือนมูลค่าพุ่งแตะ 5.61 ล้านลบ.

HoonSmart.com>> ส่องกองทุนรวม 9 เดือนแรกปี 67 อู้ฟู่มูลค่าทรัพย์สินพุ่ง 4.73 แสนล้านบาท เติบโตกว่า 9.20% จากสิ้นปีก่อน หนุน AUM แตะ 5.61 ล้านล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ “กองทุนตราสารหนี้-กองทุนหุ้น” โตฉลุย เงินลงทุนต่างประเทศพุ่ง ด้าน “กลุ่มกองทุนลดภาษี” น้องใหม่ ThaiESG เปิดตัวปลายปีก่อน มูลค่าโตเกือบเท่าตัวใกล้แตะ 1 หมื่นล้านบาท ด้าน 19 บลจ. ปั๊ม AUM เพิ่มขึ้น มีเพียง 4 แห่งลดลง ฟาก “บลจ.กสิกรไทย” ยังกอดส่วนแบ่งอันดับหนึ่ง มูลค่า 1.25 ล้านล้านบาท

 

“HoonSmart” ส่องการเติบโตของอุตสาหกรรม “กองทุนรวม”ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2567 (สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) อยู่ที่ 5,6184,482 ล้านบาท เติบโต 473,401 ล้านบาท หรือ 9.20% จากสิ้นปี 2566 มีมูลค่า 5,145,077 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา 118,808 ล้านบาท หรือ 2.16% ที่มีมีมูลค่า 5,499,672 ล้านล้านบาท ซึ่งแตะระดับสูงสุดมาเป็นครั้งแล้ว จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ทั้งหมด 23 แห่ง ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)

กองทุนตราสารหนี้ มีมูลค่า AUM อยู่ที่ 2,689,313 ล้านบาท มีสัดส่วน 47.87% เมื่อเทียบกองทุนรวมทั้งระบบ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 327,058 ล้านบาท หรือ 13.85% จากสิ้นปีที่ผ่านมามีมูลค่า 2,663,032 ล้านบาท

กองทุนตราสารทุน มีขนาดใหญ่อันดับสอง สัดส่วน 30.17% เมื่อเทียบกองทุนรวมทั้งระบบมี AUM อยู่ที่ 1,695,212 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100,953 ล้านบาท หรือ 6.33% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,594,259 ล้านบาท

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 354,896 ล้านบาท ลดลง 13,510 ล้านบาท หรือ -3.67% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 368,407 ล้านบาท

กองทุนรวมผสม NAV อยู่ที่ 352,672 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,811 ล้านบาท หรือ 5.63% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2,362,255 ล้านบาท

ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) AUM อยู่ที่ 258,938 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26,639 ล้านบาท หรือ 11.47% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 232,299 ล้านบาท

หากแยกรายประเภทกองทุนในช่วง 9 เดือนแรก กองทุนรวมเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) เติบโตต่อเนื่อง AUM อยู่ที่ 1,312,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 266,221 ล้านบาท หรือ 25.45% จากสิ้นปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 1,946,151 ล้านบาท และเติบโต 43,398 ล้านบาท จากสิ้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

ด้านกลุ่มกองทุนลดหย่อนภาษี กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มี AUM ขยับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 446,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,355 ล้านบาท หรือ 6.02% จากสิ้นปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนกองทุนทั้งสิ้น 360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20 กองทุนจากสิ้นปีที่ผ่านมา ขณะที่กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน AUM อยู่ที่ 64,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,127 ล้านบาท หรือ 18.50% จากสิ้นปีที่ผ่านมา และมีจำนวนกองทุนเพิ่มขึ้น 27 กองทุน รวมเป็น 361 กองทุน

กองทุน ThaiESG มี AUM เพิ่มขึ้นแตะ 9,873 ล้านบาท เติบโต 4,606 ล้านบาท หรือ 87.46% จากสิ้นปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 5,267 ล้านบาท

ขณะที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สิ้นสุดโครงการและหมดสิทธิ์ประโยชน์ภาษีไปแล้ว AUM อยู่ที่ 245,316 ล้านบาท ลดลง 20,081 ล้านบาท หรือ -7.57% จากสิ้นปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 265,398 ล้านบาท

สำหรับกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม ณ 30 ก.ย.2567 อยู่ที่ 348,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,316,487 ล้านบาท หรือ 1.85% และเพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค.ที่ผ่านมา 12,995,165 ล้านบาท หรือ 3.88%

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การบริหารสูงสุด จากจำนวน 23 บลจ. ได้แก่ บลจ.กสิกรไทย มูลค่า 1,258,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 111,431 ล้านบาท หรือ 9.72% จากสิ้นปีที่ผ่านมา อันดับสอง บลจ.ไทยพาณิชย์ มูลค่า 1,045,623 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90,597 ล้านบาท หรือ 9.49% อันดับสาม บลจ.บัวหลวง มูลค่า 773,645 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33,019 ล้านบาท หรือ 4.46% อันดับสี่ บลจ.กรุงไทย มูลค่า 642,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53,928 ล้านบาท หรือ 9.16% และอันดับห้า บลจ.กรุงศรี มูลค่า 463,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46,409 ล้านบาท หรือ 11.14% ส่วนแบ่งการตลาด 8.24%

ภาพรวมบลจ.ส่วนใหญ่ 19 แห่งมี AUM เพิ่มขึ้น โดย 5 บลจ.ที่เพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ บลจ.เอ็กซ์สปริง อัตราเติบโต 704.54% หรือ 238.34 ล้านบาทจากสิ้นปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 33.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 272.17 ล้านบาท รองลงมา บลจ.ทาลิส เพิ่มขึ้น 68.36% หรือ 3,154 ล้านบาท จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 7,768 ล้านบาท อันดับสามบลจ.เกียรตินาคินภัทร เพิ่มขึ้น 34.40% หรือ 47,966 ล้านบาท จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 139,439 ล้านบาท ขึ้นมาเป็น 187,405 ล้านบาท

อันดับสี่ บลจ.เอไอเอ เพิ่มขึ้น 26.07% หรือ 14,239 ล้านบาท จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 54,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 68,855 ล้านบาทและอันดับห้า บลจ.ซาวาคามิ (ประเทศไทย) เพิ่มขึ้น 21.54% หรือ 3.42 ล้านบาท จาก 15.88 ล้านบาท เป็น 19.30 ล้านบาท

ขณะที่บลจ.มี AUM ลดลงมีเพียง 4 บลจ. ได้แก่ บลจ.แอสเซท พลัส ลดลงสูงสุด 46.40% หรือ 20,614 ล้าบาท จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 44,427 ล้านบาท เหลือ 23,813 ล้านบาท หลังเลิกกองทุนเปิด แอสเซท พลัส ตราสารหนี้ เดลี่ พลัส (ASP-DPLUS) ซึ่งมีขนาดใหญ่ รองลงมาบลจ.ฟิลลิป ลดลง 22.10% หรือ 676.34 ล้านบาท จาก 3,060 ล้านบาท เหลือ 2,384 ล้านบาท บลจ.ดาโอ ลดลง 17.64% หรือ 979 ล้านบาท จาก 5,550 ล้านบาท ลงมาอยู่ที่ 4,570 ล้านบาทและบลจ.เคดับบลิวไอ ลดลง 2.96% หรือ 68.22 ล้านบาท จาก 2,304 ล้านบาท เหลือ 2,236 ล้านบาท