TISCO ส่งซิกกำไรปี 65 สดใส สินเชื่อโต 3-4% ตั้งสำรองลด

HoonSmart.com>>”ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป” เดินหน้าสร้างกำไรจากธุรกิจหลักและค่าธรรมเนียม ใช้ดิจิทัล บุกสินเชื่อเช่าซื้อ  สินเชื่อธุรกิจเน้นพลังงาน-อสังหาริมทรัพย์ เพิ่มความมั่นคั่งให้ลูกค้าเจาะกลุ่มรายได้มากกว่า 5 ล้านบาท  บริหารจัดการกองทุนโต  ยันปันผล 50% ของกำไรหากนโยบายธปท.ไม่เข้ม 

ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์

นาย ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) นำทีมผู้บริหารแถลงกลยุทธ์การดำเนินงานปี 2565 ว่า ในปีนี้จะเป็นแรกในรอบสองปีที่สินเชื่อของกลุ่มจะเติบโตได้เฉลี่ย 4-5% ซึ่งยังพอเป็นไปได้ โดยเน้นสินเชื่อรายย่อยในกลุ่มเช่าซื้อ ส่วนสินเชื่อธุรกิจพุ่งเป้าธุรกิจไฟฟ้าและอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกันการตั้งสำรองจะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ช่วงก่อนโควิด-19 แพร่ระบาดในปี 2562 ตั้งสำรองอยู่ที่ 1,109 ล้านบาท ในปี 2563 ได้เร่งตัวขึ้นเป็น 3,331 ล้านบาท และลดลงเหลือ 2,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs)ก็จะลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2564  สัดส่วน 2.4% อยู่ที่ 4,900 ล้านบาท จากปีก่อน 5,600 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามการดำเนินธุรกิจยังคงจำเป็นรอบคอบและระวัง คาดว่าสถานการณ์โควิดในครึ่งปีหลังจะดีขึ้นและจะยิ่งดีหากมีการเปิดประเทศ โดยธนาคารมีเงินกองทุนแข็งแกร่งมากถึง 25.2% เทียบกับ 22.8% ปีก่อน จึงยังมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผล โดยมีนโยบายจ่ายในอัตรา 50%หรือสูงกว่า ยกเว้นหากธปท.ยังต้องการให้ธนาคารช่วยเหลือลูกหนี้และควบคุมการจ่ายเงินปันผลของแบงก์ แต่กลุ่มทิสโก้เป็นโฮลดิ้ง มีธนาคารเป็นบริษัทลูกเท่านั้น

สำหรับการเติบโตของกลุ่มธุรกิจสินเชื่อรายย่อย จะมุ่งสนับสนุนเงินให้แก่ลูกค้าเช่าซื้อ จำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อเพื่อการบริโภค จะมีการขยายสาขา “สมหวัง เงินสั่งได้” เพิ่มเป็น 400 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่จำนวน 350 แห่ง โดยกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินและความรู้ทางการเงินได้มากขึ้น พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ และแสวงหาโอกาสการเติบโตในกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เช่น กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า(EV) กลุ่มรถบรรทุก เป็นต้น รวมถึงเพิ่มช่องทางบริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น

ส่วนสินเชื่อธุรกิจ  เน้นในกลุ่มพลังงาน โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่จะเติบโตตามเทรนด์ของโลก   และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะมีโอกาสเติบโตได้ หลังจากนโยบายผ่อนคลาย LTV ทำให้ผู้ประกอบการเร่งลงทุน และที่ผ่านมามีการใช้แหล่งเงินทุนจากตลาดหุ้นกู้มาก ก็จะหันมาใช้สินเชื่อมากขึ้น และให้บริการวาณิชธนกิจในการให้คำแนะนำปรับโครงสร้างทางการเงินด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มทิสโก้ยังเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียม กลุ่มธุรกิจธนบดีและจัดการกองทุน บริหารความมั่นคั่ง วางแผนการลงทุน การคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ และการวางแผนเกษียณ จับกลุ่มที่มีรายได้ 5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมีกำลังซื้อ และธุรกิจนายหน้าประกันภัย จะให้ความสำคัญกับการทำการตลาดแบบคู่ขนานทั้งการสานต่อและขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ รวมทั้งพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจอื่น เพื่อสร้างระบบนิเวศควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการเข้าถึงลูกค้าแบบ Customer Touchpoint และเพื่อส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มทิสโก้ในปีนี้และอีก 2 ปีข้างหน้า  จึงให้ความสำคัญกับ การเติบโตอย่างมีคุณภาพ ภายใต้รูปแบบการให้บริการที่เน้นตอบโจทย์ลูกค้าในธีม “Hybrid Advisory” ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการให้คำแนะนำที่ดีควบคู่กับการมีผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกค้า รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการให้ความรู้ทางการงิน เพิ่มความสามารถในการใช้ชีวิตในช่วงที่เปราะบาง

ด้านผลการดำเนินงานในปี 2564 ขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ โดยมีกำไรสุทธิ 6,781 ล้านบาท เติบโต 11.8 % จากปี 2563 ขณะเดียวกันยังสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19 ได้อย่างทันท่วงที ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น คืนรถจบหนี้ ขายรถปิดหนี้ มาตรการช่วยเหลือระยะที่ 3 เป็นต้น โดยโครงการคืนรถจบหนี้ที่สิ้นสุดโครงการลงทั้ง 2 เฟสเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ทิสโก้สามารถให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปแล้วกว่า 3,800 ราย

กลุ่มทิสโก้ยังคงยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ และมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตามหลัก ESG พร้อมปรับตัวและพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเดินหน้าปลูกฝังวัฒนธรรมดิจิทัลและการใช้ Big Data ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพของบุคคลากรให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

 

อ่านข่าว

TISCO โชว์กำไร 6,781 ลบ.ปี 64 โต 11.8% เฉพาะQ4 กำไร 1,791 ลบ. เพิ่ม 9.47%
KTC กำไรปี’64 นิวไฮ 6,251 ล้านบาท ลั่นเร่งเครื่องพอร์ตทะลุ 1 แสนลบ.
BBL ฟาดกำไร 26,507 ลบ.พุ่ง 54% รายได้งาม ตั้งสำรอง 3.4 หมื่นล.ปี64
KTB โกยกำไร 21,588 ลบ. เพิ่ม 29% สินเชื่อโต-ตั้งสำรองลด ปี’64
SCB กำไรปี 64 แตะ 3.55 หมื่นล. เพิ่ม 31% ตั้งเป้าปีนี้สินเชื่อโต 3-5% NPL ต่ำกว่า 4%
KBANK โกยกำไร 3.8 หมื่นลบ.ปี 64 โต 29% ตั้งสำรอง-NPLs ลดลง
KKP กำไร Q4/64 พุ่ง 83% ทะลุ 2 พันลบ. หนุนงบปีแตะ 6.3 พันล.
LHFG ขาดทุน 373 ลบ. Q4 เพิ่มสำรอง ปี 64 กำไรแค่ 1,383 ลบ.
CIMBT กำไรปี 64 แตะ 2.4 พันลบ. โต 89% ค่าใช้จ่ายลด