ความจริงความคิด : ขายของออนไลน์ เสียภาษียังไง


โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เพราะโควิดทำให้ชีวิตประจำวันของเราหลายอย่างต้องเปลี่ยนไปอย่างที่คาดไม่ถึง จากการที่ชอบอยู่ในสังคม เจอเพื่อนที่ทำงาน ทานข้าว เที่ยวด้วยกัน แต่เพราะโควิด ทำงานก็เปลี่ยนเป็น WFH จะทานข้าว เที่ยวก็ไม่กล้าเที่ยว ขนาดไปตลาดซื้อของกินของใช้ยังต้องซื้อตุนทีเดียวเยอะๆ ซื้อเสร็จรีบกลับ หรือไม่ก็ซื้อของผ่านออนไลน์นี่แหละ

จริงๆคนไทยก็คุ้นเคยกับการซื้อของออนไลน์มาระยะหนึ่งแล้ว แต่โควิดช่วยเร่งให้คนไทยคุ้นเคยกับการซื้อของออนไลน์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสั่งอาหาร ซื้อของ เดี๋ยวนี้ออนไลน์กันหมด จนร้านค้าไหนถ้าไม่ปรับตัวทำธุรกิจออนไลน์ ก็เตรียมม้วนเสื่อได้เลย

เมื่อสนใจทำธุรกิจออนไลน์ รูปแบบการขายของออนไลน์มีด้วยกันหลัก ๆ 3 ประเภทด้วยกัน เราจะเลือกแบบไหนหรือทำทั้ง 3 แบบเลยก็ได้

1. ขายให้กลุ่มลูกค้าใน Social Media เช่น Facebook, Instagram, Line เป็นต้น โดยเราสามารถใช้ Account ส่วนตัวขายตรง หรือสร้าง Account เพื่อการค้าโดยเฉพาะเลยก็ได้ ตัวอย่างเช่น เราอาจใช้ Account ส่วนตัวขายหนังสือมือสองในกลุ่มซื้อขายหนังสือมือสอง วิธีนี้จะทำให้ขายของได้ราคา และขายได้ง่าย เพราะขายตรงกลุ่มลูกค้าที่สนใจจริงๆ และที่สำคัญคือ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ก็ไม่มีระบบคุ้มครองประโยชน์ผู้บริโภค ที่เป็นปัญหาบ่อยๆ คือ จ่ายเงินแล้วไม่ได้ของ หรือ ได้ของไม่ตรงปก สุดท้ายต้องแจ้งความอายัดบัญชีกัน

2. ขายผ่านเว็บไซต์ที่เป็น Marketplace หรือ E-marketplace คือ platform ที่มีทั้งเว็บไซต์และ app ที่ขายสินค้าหลากหลายยี่ห้อในหลายหมวดหมู่ การนำสินค้าไปฝากขายกับ Marketplace ที่เป็นของไทยที่เราคุ้นๆได้แก่ Shopee, LAZADA, ฯลฯ หรืออย่างร้านอาหารก็เช่น Robinhood, Grab, Lineman, ฯลฯ ถ้าเป็นของต่างประเทศ ก็เช่น Alibaba, amazon, ฯลฯ ข้อดีของการขายวิธีนี้ คือ เริ่มต้นง่าย ลงทุนต่ำ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระบบ

ฐานลูกค้ากว้าง และมีระบบค้นหาสินค้าช่วยให้ขายสินค้าได้ง่าย และมีการสนับสนุนการทำตลาด เช่น สนับสนุนค่าส่ง มีการลดราคาเนื่องในโอกาสต่างๆ ฯลฯ ส่วนข้อเสียที่ใหญ่ๆก็คือ ค่าธรรมเนียม และเงื่อนไขที่เราต้องปฏิบัติตาม เราจึงควรศึกษาให้ดีก่อนเริ่มต้นขาย

3. เปิดเว็บไซต์เป็นของตัวเอง
สำหรับคนที่ต้องการลงทุนแบบเต็มตัว ข้อดี คือ เรามีอิสระในการออกแบบระบบของเรา บนเว็บเราก็ไม่มีคู่แข่งมาขายสินค้าแข่ง ข้อมูลลูกค้าเราก็สามารถเก็บและใช้งานทั้งหมดได้เอง แถมไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ใคร ข้อเสีย คือ เราต้องลงทุนในการจัดทำเว็บไซต์ และต้องคอยบริหารเว็บไซด์

แต่ไม่ว่าจะเลือกทำวิธีไหน สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ เราต้องเสียภาษี คนขายออนไลน์มีหน้าที่ในการเสียภาษีเช่นเดียวกับคนขายที่มีหน้าร้านทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ภาษีที่เกี่ยวข้องหลักๆ ก็คือ ภาษีเงินได้ กับภาษีมูลค่าเพิ่ม

สรรพากรรู้รายได้เราอย่างไร
หลายคนสงสัยขายของออนไลน์ หน้าร้านไม่มี สรรพากรรู้ได้ไงว่าเรามีรายได้เท่าไร มีหลายวิธีที่สรรพากรจะรู้รายได้เรา ครับ เช่น

1.คงจำภาษีอีเพย์เมนต์ที่สรรพากรกำหนดให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ e-wallet ต้องรายงานข้อมูล ได้แก่ เลขประจำตัวประชาชน, ชื่อ-สกุล, เลขที่บัญชีเงินฝาก, จำนวนครั้งของการฝากหรือโอนรับเงิน, ยอดรวมของการฝากหรือโอนรับเงิน ของผู้มีบัญชีธุรกรรมเฉพาะให้กรมสรรพากรทราบ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยธุรกรรมลักษณะเฉพาะ คือ ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดในปีที่ล่วงมาดังต่อไปนี้

i) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป

ii) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง ขึ้นไป

2.ข้อมูลจาก Marketplace (Shopee/Lazada) ที่ส่งให้สรรพากรว่า ได้รายรับค่าธรรมเนียมการขายจากเราเท่าไร ซึ่งรายได้พวกนี้ สรรพากรสามารถนำไปคำนวณยอดรายได้ของเราได้ นอกจากนี้สรรพากรยังใช้เทคโนโลยีดึงข้อมูลจากเว็ปเพจต่างๆ หรือ Web Scraping เข้ามาช่วยตรวจสอบกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ ทั้งในรูปแบบที่ค้าขายปกติ และรูปแบบไลฟ์สดเพื่อขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไล์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น สรรพากรจะดึงข้อมูลราคา และยอดขายของเราออกมา ก็จะสามารถคำนวณได้ว่ารายได้เราเท่าไร

3.กรมฯได้ตั้งกองสำรวจและติดตามธุรกิจนอกระบบ เพื่อเข้าไปตรวจสอบการเสียภาษีของกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจและผู้ค้าขายออนไลน์ เช่น ในเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ฯลฯ ว่า ผู้ค้าดังกล่าวเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ตัวอย่างเช่น อาจใช้วิธีโทรเข้ามาติดต่อซื้อ และขอเลขบัญชีสำหรับโอนเงินค่าซื้อ เมื่อรู้เลขบัญชี สรรพากรก็สามารถขอตรวจสอบรายการเดินบัญชีของเราจากธนาคารได้

รายได้เท่าไร ถึงต้อง “ยื่นภาษี”

“ยื่นภาษี” กับ “เสียภาษี” ต่างกันนะ หากเราทำธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา สรรพากรกำหนดว่าคนที่มีรายได้อย่างอื่นนอกจากเงินเดือน ค่าจ้างตลอดทั้งปีตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไปต้อง “ยื่นภาษี” (พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เข้าเงื่อนไขนี้) แต่หากเป็นนิติบุคคลถึงแม้ไม่มีรายได้ก็ต้องยื่นภาษี

ส่วนจะต้อง “เสียภาษี” หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่ารายได้เราถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีหรือไม่

เสียภาษีอย่างไร
ทำธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา
ต้องนำรายได้จากการขายออนไลน์ไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น เช่น เงินเดือน ดอกเบี้ย โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.94 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายนของปี และยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 ภายในเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยมีวิธีคิดภาษี 2 แบบ ดังนี้

วิธีที่ 1
คิดจากเงินได้สุทธิ โดยเงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน โดยเงินได้จากการขายของออนไลน์ถือเป็นเงินได้มาตรา 40(8) หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ได้ และสามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนได้ปกติ

วิธีที่ 2
กรณีเงินได้ทุกประเภทไม่รวมเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร มีจำนวนรวมตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป ให้นำยอดเงินได้คูณด้วย 0.005

เสียภาษีจากวิธีไหน

เมื่อคำนวณภาษีจาก 2 วิธี แล้วให้ชำระจากยอดที่มากกว่า เว้นแต่คำนวณภาษวีธีที่ 2 แล้วมีภาษีไม่เกิน 5,000 บาท ให้ชำระตามวิธีที่ 1

ครั้งหน้าเรามาดูกันนะครับว่า หากทำธุรกิจในรูปนิติบุคคลเสียภาษีอย่างไร

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : ผ่อน 0% ใครได้ ใครเสีย?
ความจริงความคิด : ซื้อของออนไลน์ป้องกันโกง ทำยังไง?
ความจริงความคิด : เรื่องต้องรู้ ลดหนี้ด้วยวิธีรีไฟแนนซ์
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ
ความจริงความคิด : กองทุนไหนดี เลือกอย่างไร