โดย…ฝ่ายส่งเสริมธรรมาภิบาลและความยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ประเทศไทยโดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2565) หรือ National Action Plan on Business and Human Rights (แผน NAP) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจที่มีประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ด้วยการนำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principle on Business and Human Rights) หรือ หลักการชี้แนะฯ UNGPs มาปรับใช้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับมอบหมายพันธกิจตามแผน NAP โดยให้จัดฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องหลักการชี้แนะฯ UNGPs และการประเมินผลด้านสิทธิมนุษยชนของธุรกิจ (Human Rights Due Diligence: HRDD) ให้สามารถไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ
สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจในตลาดทุนเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม (Environmental, Social and Governance: ESG) อันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ได้แก่ ภาพรวมของนโยบายและเป้าหมายการจัดการความยั่งยืน การจัดการผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ การจัดการความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้สำหรับบริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนที่จะส่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ filing) ปี 2565
และสำหรับข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน ตั้งแต่รอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ที่จะส่งแบบ 56-1 One Report ในปี 2565 และครอบคลุมถึงการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักของการปรับปรุงครั้งนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ลูกค้า และคู่ค้า พึงให้ความสำคัญ และเป็น license to operate หรือการได้รับการยอมรับจากสังคม โดยหากธุรกิจยังเพิกเฉยก็อาจเป็นการสร้างความเสี่ยงและสร้างต้นทุนต่อธุรกิจ ขณะเดียวกันธุรกิจที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ก็อาจมีโอกาสได้รับการลงทุน และเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริษัทอันเป็นผลมาจากความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ที่ดี
เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน สำนักงาน ก.ล.ต. ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำหลักสูตรอบรม “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน สำหรับธุรกิจในตลาดทุนไทย” (คณะทำงาน) ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ องค์การระหว่างประเทศ และนักวิชาการ เพื่อจัดทำหลักสูตรอบรมให้แก่ภาคธุรกิจอย่างมีมาตรฐาน และสามารถจัดทำรายงานตามแบบ 56-1 One Report ตามความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาไปสู่การดำเนินการและรายงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในอนาคต
โดยการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่การให้ความสำคัญจากคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในฐานะผู้นำของบริษัท (tone from the top) เพื่อกำหนดให้บริษัทมีทิศทาง นโยบาย แนวปฏิบัติ ตลอดจนมาตรการและกระบวนการบริหารจัดการ และการจัดให้มีการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งมีกระบวนการทำงาน และกระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน: เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอย่างไร” ร่วมกับเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย โดยมีวิทยากรทั้งจากภาควิชาการและบริษัทจดทะเบียน เพื่อช่วยให้บริษัทจดทะเบียนและผู้เกี่ยวข้องได้ทราบถึงประเด็นกฎหมายและกฎเกณฑ์ โอกาสและความเสี่ยง ตลอดจนมุมมองและประสบการณ์จากผู้บริหารองค์กรในฐานะผู้ปฏิบัติจริง และการสนับสนุนจากสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งมีผู้เข้าชมกว่า 6 พันคน และสามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง QR code ที่ปรากฏนี้ (หรือคลิก link https://www.facebook.com/sec.or.th/videos/2666011907001734/)
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนที่จะจัดงาน CEO Dialogue เพื่อสร้างความตระหนักแก่ผู้นำบริษัท แลกเปลี่ยนความเห็น และสร้างความมุ่งมั่น (commitment) ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรและการจัดทำนโยบายที่สนับสนุนการทำแผนปฏิบัติงาน ขณะเดียวกัน สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างจัดทำหลักสูตรอบรมทั้งในรูปแบบออนไลน์ และหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถผนวกเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ากับการทำงาน และรายงานในแบบ 56-1 One Report ได้
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะหารือกับหน่วยงานที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว เพื่อจัดทำหลักสูตรอบรมให้เป็นไปตามแนวทางของคณะทำงานที่ได้วางกรอบแนวทางไว้ โดยคาดว่างาน CEO Dialogue และหลักสูตรอบรมดังกล่าวพร้อมเริ่มอบรมได้ภายในปีนี้ รวมทั้งถือเป็นโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นและร่วมแบ่งปันมุมมองระหว่างภาคธุรกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาหลักสูตรอบรม และเครื่องมือการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทที่เป็นผู้ใช้งานจริง นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะจัดสัมมนาอย่างต่อเนื่องร่วมกับพันธมิตรจากในประเทศและต่างประเทศ ตามความมุ่งมั่นของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่ SDGs