บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เผยแพร่บทความ “Evergrande เพิ่มความเสี่ยงกับธนาคารจีนหรือไม่?” ความเสี่ยงสภาพคล่องของบริษัทอสังหาฯ จะกระทบกับธนาคารใด และกระทบนักลงทุนไทยหรือไม่ ซึ่งนักลงทุนกำลังอยู่ในช่วงจับตาสถานการณ์ของบริษัท China Evergrande Group ที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ก้อนโต จากเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่าบริษัทเป็นเจ้าของโครงการอสังหาฯ ถึง 1,300 โครงการในกว่า 280 เมือง และมีหนี้สินรวม 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลจาก DBRS Morningstar ระบุว่า ข้อมูลประมาณการของภาครัฐที่มี NPL และ SML อยู่ที่ระดับ 5.5% ของ GDP แต่ตัวเลขที่ประเมินโดยภาคเอกชนจะสูงกว่านั้นมาก รวมทั้งความเสี่ยงจากภาคธุรกิจอสังหายังเพิ่มสูงขึ้น โดยภาคอสังหาและการก่อสร้างนั้นคิดเป็น 1 ใน 4 ของการลงทุนสินทรัพย์ถาวร หรือ 20% ของสินเชื่อธนาคารและ 15% ของ GDP
ดังนั้นคำถามที่ตามมาคือความเสี่ยงนั้นจะแพร่ไปกระทบกับอุตสาหกรรมอื่นที่มีความเชื่อมโยงกับอสังหาฯหรือไม่ อย่างเช่น ธุรกิจธนาคาร
มาตรการ Three Red Lines
ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2020 ที่ผ่านมา ทางภาครัฐได้ออกนโยบาย Three Red Lines เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดจากบริษัทอสังหาฯที่มีหนี้สูง โดยเป็นการกำหนดเกณฑ์ 3 ข้อเพื่อประเมินการกู้ยืมของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปีถัดไป ซึ่งประกอบด้วย 1) ระดับหนี้สินไม่เกิน 70% ของสินทรัพย์ 2) อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่เกิน 100% และ 3) เงินสดต่อการกู้ยืมระยะสั้นอย่างน้อย 1 เท่า และแม้ว่าจะผ่านทั้ง 3 เกณฑ์ก็จะสามารถกู้เพิ่มได้อีก 15% จากปริมาณหนี้ของปีก่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรการที่ออกมาเพื่อเป็นเกณฑ์เพื่อให้บริษัทไม่ก่อหนี้มากจนเกินไป
ผลกระทบสถาบันการเงินแต่ละแห่งต่างกัน แต่โดยรวมกระทบในระดับต่ำ
หลังจากมาตรการออกมาราวหนึ่งปี บริษัทอสังหาบางรายเช่น Evergrande และ Guangzhou R&F Properties อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก โดยปกติแล้วหากบริษัทอสังหาฯล้ม ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ต้องลงมูลค่าหนี้เหล่านั้นเป็นหนี้เสีย และเมื่อมูลค่าหนี้เสียเพิ่มขึ้น ธนาคารก็ต้องมีการตั้งค่าเผื่อหนี้สูงขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ 150%
โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของมอร์นิ่งสตาร์ Iris Tan ได้ให้ความเห็นว่าแต่ละธนาคารจะมีความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน เช่น China Minsheng Banking Corporation (01988) และ Bank of Communication (03328) มีความเสี่ยงจากบริษัทอสังหาฯสูงสุด หากมี NPL เพิ่มไปที่ 10% (ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ยาก) จะทำให้กำไรลดลงอย่างมาก ในขณะที่ Ping An Bank (000001), Bank of China (03988) และ China Citic Bank (601998) จะมีความเสี่ยงน้อยกว่ามากหากต้องตั้งค่าเผื่อหนี้เสียเพิ่ม ทั้งนี้ความเสี่ยงที่ NPL จะพุ่งสูงขึ้นภายใน 1 ปี มีความเป็นไปได้ที่ต่ำมาก ทำให้โดยรวมแล้วความเสี่ยงต่อสถาบันการเงินที่มอร์นิ่งสตาร์ทำการวิเคราะห์ถือว่าอยู่ในระดับที่จำกัด
ขณะเดียวกันด้านบริษัทประกันจะมีความเกี่ยวข้องกับภาคอสังหาในแง่ของการลงทุน โดยบริษัทประกันที่มีการลงทุนเกี่ยวกับภาคอสังหาฯ มีการลงทุนในสัดส่วนที่ต่ำ หากเกิดความเสี่ยงจากตลาดอสังหาฯ ก็จะได้รับผลกระทบน้อยโดยเฉพาะบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว
Exposure ของกองทุน master fund ในกลุ่ม Financial Services
เพื่อให้เห็นภาพที่ใกล้ตัวนักลงทุนไทยมากขึ้น มอร์นิ่งสตาร์ได้ลองนำสัดส่วนการลงทุนของตัวอย่าง master fund กองทุนหุ้นจีน เพื่อดูสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มการเงินที่รวมถึงธนาคารและบริษัทประกันว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยนำ 9 กองทุนที่มีกองทุนไทยไปลงทุนมากที่สุดเป็นตัวแทนตามรายชื่อด้านล่างนี้ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 70% ของกลุ่ม China Equity โดยในภาพรวมแต่ละกองทุนมีการกระจายการลงทุนไปในหลายธุรกิจ และมีการลงทุนในกลุ่ม Financial Services 2%-23% (ข้อมูลพอร์ตการลงทุนขึ้นกับการเปิดเผยข้อมูล)
กองทุนอีทีเอฟ ChinaAMC CSI 300 ETF มีสัดส่วนการลงทุนใน financial services 23.14% ซึ่งเป็นไปตามดัชนี CSI 300 ทำให้มีสัดส่วนการลงทุนในบริษัทการเงินที่สูง โดยตั้งแต่ต้นปีมีผลตอบแทนสะสม -6.8% (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2021) ขณะที่กองทุน UBS (Lux) Equity Fund – China Opportunity (USD) I-A1-acc จาก บลจ. UBS เป็นอีกกองทุนหนึ่งที่มีการลงทุนในหมวดธุรกิจนี้ที่สูงกว่าหมวดอื่นที่ 23.10% นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยี และ Consumer Defensive เป็นสัดส่วนรอง ทำให้ได้รับผลกระทบจากข่าวเชิงลบไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยผลตอบแทนสะสมตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ -22.3%
สถานการณ์ความไม่แน่นอนในปัจจุบันอาจทำให้ตลาดมีความตื่นตระหนกว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ที่กระทบในวงกว้าง นักลงทุนจึงควรประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบควบคู่กับการประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้เพื่อให้สามารถรับกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเหมาะสม
อ่านข่าว
บลจ.กสิกรฯ คงมุมมอง “บวก” หุ้นจีน เชื่อ Evergrande
บลจ.วรรณเปิดพอร์ต ONE-ALLCHINA ไม่ลงทุน Evergrande
UOBAM ลดน้ำหนักหุ้น-ตราสารหนี้จีน พอร์ต “กองยูโอบี “ไม่ลงทุน Evergrande
3 บิ๊กบลจ. “Allianz-BlackRock-Schroders” มอง “เอเวอร์แกรนด์” ความเสี่ยงเฉพาะตัว
บล.ทิสโก้มอง Evergrande กระทบกองหุ้นจีนจำกัด ชี้จังหวะซื้อเดือนต.ค.
บลจ.กสิกรฯ เผยไม่ได้ลงทุน Evergrande กอง SCBCE-SCBCEH-SCBWIN ถือน้อย