“Allianz-BlackRock-Schroders” มอง “เอเวอร์แกรนด์” ความเสี่ยงเฉพาะตัว

HoonSmart.com>> “3 บลจ.ชั้นนำระดับโลก” มองปัญหาสภาพคล่อง Evergrande เป็นความเสี่ยงเฉพาะราย Allianz ก่อหนี้จำนวนมากขยายกิจการไปยังธุรกิจอื่นไม่เกี่ยวกับอสังหาฯ คาดไม่เป็นความเสี่ยงต่อระบบ เงินกู้มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ด้านอุตสาหกรรมอสังหาฯ มีสัดส่วนเพียง 2% ในดัชนี MSCI China A และแค่ 3% ของดัชนี MSCI All China ด้าน BlackRock มองแรงเทขายรุนแรงช่วงสั้นๆ อสังหาฯ เกรด B หลายบริษัทฐานะการเงินยังแกร่ง ส่วน Schroders เชื่อปัญหาขาดสภาพคล่องในระยะสั้นๆ มากกว่าล้มละลาย

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทย (KTAM) อัพเดตมุมมองปัญหาสภาพคล่องของ Evergrande จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชั้นนำต่างประเทศ ได้แก่ Allianz, BlackRock, Schroders ข้อมูล ณ ที่ 17 ก.ย.2564 โดย Allianz มองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความเสี่ยงเฉพาะรายกิจการมากกว่า (Company-Specific Issue) เนื่องจาก Evergrande ได้มีการก่อหนี้สินเป็นจำนวนมากเพื่อขยายกิจการไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และทาง Allianz ไม่คิดว่าจะเป็นความเสี่ยงเชิงระบบแต่อย่างใด (Systemic Impact) เนื่องจากการกู้ยืมเงินกับทางธนาคารก็เป็นการกู้ยืมแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (SecuredLoan)

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นสัดส่วนที่เล็กมากๆ ในตลาดหุ้นจีน โดยมีสัดส่วนเพียงราว 2% ในดัชนีMSCI China A เท่านั้น และมีสัดส่วนเพียงราว 3% ของดัชนี MSCI All China (ที่มา: Allianz)

ด้านมุมมองจากทาง BlackRock มองว่าแรงเทขายที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นแรงเทขายอย่างรุนแรงในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และมองว่ายังมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์เกรด B อีกหลายบริษัทที่มีสถานะการเงินที่ดี และไม่มีปัญหาทางสภาพคล่องแต่อย่างใด

ด้าน Schroders ว่าปัญหาของทาง Evergrande นั้นเป็นปัญหาเรื่องของการขาดสภาพคล่องในระยะสั้นๆ มากกว่าที่จะเป็นปัญหาการล้มละลาย

สำหรับ Evergrande เป็นหนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของจีน โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทเริ่มเป็นที่ถูกจับตามองจากนักลงทุนในตลาด เนื่องจากบริษัทได้มีการก่อหนี้ไว้ในปริมาณที่สูงมากและมีโอกาสสูงที่จะประสบกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

สถานการณ์ล่าสุด ข่าวล่าสุดที่ออกมาได้แก่การที่ Evergrande ได้ร้องขอที่จะเลื่อนการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารที่จะถึงวันครบกำหนดชำระในวันที่ 20 กันยายน 2564 นี้ออกไปก่อน ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดต่างพากันวิตกกังวลและเทขายหุ้นและพันธบัตรของบริษัทออกมาอย่างรุนแรง โดยหากนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นของ Evergrande ได้ปรับตัวลงจาก 14.14 HKD ในวันที่ 4 มกราคม 2564 ลงมาเหลือเพียง 2.63 HKD ในวันที่ 16 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา หรือปรับตัวลงมากกว่า 80% เลยทีเดียว

สถานะทางการเงินของบริษัท ผลประกอบการประจำครึ่งปีแรกของปี 2564 ออกมาอ่อนตัวลง เช่นเดียวกันกับปริมาณหนี้สินโดยรวมทั้งหมดที่ปรับตัวลงเช่นเดียวกัน จนทำให้บริษัทสามารถผ่านเกณฑ์ 1 ใน 3 ของเกณฑ์ที่ทางหน่วยงานกำกับดูแลของจีนตั้งไว้ (Three Red Lines) ซึ่งได้แก่ การมีสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 100% ได้ (Net debt/Equity < 100%) ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าน่าแปลกใจเท่าไรนัก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้มีการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าถึงแนวโน้มกำไรของบริษัทที่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลง รวมถึงบริษัทได้แสดงความพยายามอย่างต่อเนื่องในการลดปริมาณหนี้สินลงเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดีความพยายามในช่วงที่ผ่านมาก็ถือว่ายังไม่เพียงพอแต่อย่างใด โดยบริษัทได้ออกมายอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้มีการขอเลื่อนการชำระเงินให้แก่คู่ค้าทางธุรกิจบางส่วนออกไปก่อน ซึ่งรวมถึงค่าก่อสร้างในโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ของบริษัทด้วย ส่งผลให้โครงการก่อสร้างหลายๆ โครงการของบริษัทต้องหยุดชะงักลงและทำให้บริษัทเครดิตเรทติ้งชั้นนำของโลก อย่าง FitchRatings ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ Evergrande ลงอย่างต่อเนื่องลงสู่ระดับ CC ในวันที่ 7 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้สะท้อนถึงความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงทางด้านสถานะทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของบริษัท

ด้านบริษัทพยายามแก้ไขปัญหานี้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการยื่นคำร้องขอที่จะเจรจากำหนด Deadline ในการชำระหนี้กับทางเจ้าหนี้ใหม่ ต่อหน่วยงานกำกับดูแลของจีน และได้รับการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งส่งสัญญาณว่าบริษัทน่าจะเข้าสู่ช่วงของการปรับโครงสร้างหนี้ในระยะถัดไป โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทก็ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการ

(1) บริษัทพยายามที่จะตัดขายธุรกิจ China Evergrande New Energy Vehicle และ Evergrande Property Services ออกไป

(2) ปรับเลื่อนกำหนดระยะเวลาโครงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ

(3) ควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทอย่างเข้มงวด

(4) พยายามจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพื่อเร่งขายอสังหาริมทรัพย์ในมือออกไป และเร่งกระบวนการจัดเก็บเงินจากลูกค้า

(5) พยายามต่อและขยายสัญญาเงินกู้ต่างๆ ออกไปจากเดิม

มุมมองจากทาง Allianz มองว่าสถานการณ์ของ Evergrande เป็นที่ถูกจับตามองจากนักลงทุนในตลาดมาเป็นระยะเวลานานแล้ว สะท้อนได้จากระดับราคาของพันธบัตรของ Evergrande ที่ซื้อขายอยู่ในระดับเดียวกันกับตราสารที่มีการผิดชำระหนี้มานานแล้ว ซึ่งข่าวล่าสุดที่ออกมาเพิ่มเติมจึงไม่ได้เป็นที่น่าแปลกใจเท่าไรนัก โดยทาง Allianz มองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความเสี่ยงเฉพาะรายกิจการมากกว่า (CompanySpecific Issue) เนื่องจาก Evergrande ได้มีการก่อหนี้สินเป็นจำนวนมากเพื่อขยายกิจการไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และทาง Allianz ไม่คิดว่าจะเป็นความเสี่ยงเชิงระบบแต่อย่างใด (SystemicImpact) เนื่องจากการกู้ยืมเงินกับทางธนาคารก็เป็นการกู้ยืมแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Secured Loan)

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นสัดส่วนที่เล็กมากๆ ในตลาดหุ้นจีน โดยมีสัดส่วนเพียงราว 2% ในดัชนี MSCI China A เท่านั้น และมีสัดส่วนเพียงราว 3% ของดัชนีMSCI All China (ที่มา: Allianz)

Allianz ไม่ได้มีการลงทุนในหุ้นของ Evergrande แต่อย่างใด และข่าวที่ออกมาในครั้งนี้ ก็ช่วยย้ำให้เห็นถึงมุมมองของทาง Allianz ว่าทำไมถึงได้ระมัดระวังการลงทุนในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์มาโดยตลอด โดยปัจจุบันกองทุน Allianz China A-Shares ซึ่งเป็นกองทุนหลักของกองทุน KTAM China A Shares Equity Fund (KT-Ashares) มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Real Estate อยู่เพียง 0.86% เท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม

ด้าน BlackRock มองว่าการที่หน่วยงานกำกับดูแลของจีนได้อนุมัติคำร้องของ Evergrande ที่จะขอเจรจากำหนด Deadline ในการชำระหนี้กับทางเจ้าหนี้ใหม่ เป็นการส่งสัญญาณว่า หน่วยงานกำกับดูแลของจีนไม่อยากที่จะเห็นการผิดชำระหนี้ของ Evergrande เกิดขึ้นแต่อย่างใด โดยหลังจากนี้บริษัทจะเข้าสู่การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความชัดเจนในส่วนของเจ้าหนี้ต่างประเทศว่าจะมีการเจรจากันหรือไม่ แต่อย่างใด โดยความกังวลที่เกิดขึ้นในตลาดมาจากการรับรู้ถึงความเสี่ยงที่จะมีการผิดชำระหนี้และอาจจะถูกฟ้องร้องตามมาของทาง Evergrande โดยนอกจากหุ้นและพันธบัตรของ Evergrande ที่ถูกเทขายออกมาแล้ว หุ้นและพันธบัตรของบริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ก็ถูกแรงเทขายออกมาเช่นกัน (Spill-Over)

ทาง BlackRock มองว่าแรงเทขายที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นแรงเทขายอย่างรุนแรงในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และมองว่ายังมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์เกรด B อีกหลายบริษัทที่มีสถานะการเงินที่ดี และไม่มีปัญหาทางสภาพคล่องแต่อย่างใด

ทั้งนี้ทาง BlackRock จะจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปัจจุบันพอร์ตการลงทุนของ BlackRock มีการกระจายความเสี่ยงเป็นอย่างดี โดยอาจพิจารณาปรับสัดส่วนการลงทุนที่มีอยู่อย่างน้อยนิดในตราสารหนี้ของ Evergrande เพิ่มเติม หากมีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 9 กันยายน 2564 กองทุน BGF China Bond Fund ซึ่งเป็นกองทุนหลักของกองทุน KTAM China Bond Fund (KT-CHINABOND) มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ของ Evergrande อยู่ที่เพียง 0.14% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมดเท่านั้น และกองทุน BGF China Fund ซึ่งเป็นกองทุนหลักของกองทุน KTAM China Equity Fund (KT-CHINA) มีสัดส่วนการลงทุนในกลุ่ม Real Estate อยู่เพียง 1.24% เท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564) (ที่มา: BlackRock)

ด้าน Schroders มองว่าปัญหาของทาง Evergrande นั้น เป็นปัญหาเรื่องของการขาดสภาพคล่องในระยะสั้นๆ มากกว่าที่จะเป็นปัญหาการล้มละลาย โดยขึ้นอยู่กับว่าทางบริษัทจะสามารถเร่งการขายอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม ขายกิจการอื่นๆ ออกไป หรือหานักลงทุนมาช่วยเหลือ ได้เร็วช้าแค่ไหน ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีกำหนดการส่งมอบในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 อย่างต่อเนื่อง แต่เงินที่ได้รับมาก็ถูกธนาคารล๊อคไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสภาพคล่องในช่วงครึ่งปีหลังนี้อยู่ดี ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าทางธนาคารจะยอมปล่อยสภาพคล่องเพิ่มเติมให้แก่ Evergrande มากน้อยแค่ไหน