คอลัมน์ความจริงความคิด : กองทุนไหนดี เลือกอย่างไร


โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ในยุค VICA ที่เหตุการณ์ต่างๆมีความซับซ้อน ผันผวนรุนแรงและรวดเร็วมาก จนแทบคาดการณ์ไม่ได้เลยว่าพรุ่งนี้จะเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง ผลตอบแทนของการลงทุนของเราจะเป็นอย่างไร

ตัวอย่างง่ายๆ เรามักจะไม่รู้เลยว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายอะไรออกมา หรือต่างประเทศจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมาบ้าง ดังนั้นที่เห็นทำกันหลายคน ก็คือ ดูข่าวว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วเอามาตัดสินใจในการลงทุน แม้จะเป็นวิธีที่ดี แต่หลายครั้งข้อมูลเราก็รู้ช้าเกินไป โดยเฉพาะข้อมูลจากต่างประเทศ หรือ บางทีรู้ทันแต่ไม่รู้ว่าจะวิเคราะห์และตัดสินใจอย่างไรดี

ทางเลือกหนึ่งที่กูรูหลายคนแนะนำให้ใช้ คือ ให้มืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถ มีเวลา มีข้อมูล มีเครื่องมือ มีอำนาจต่อรองสูงเป็นคนบริหารเงินให้เราดีกว่า เปรียบเสมือนเราเป็นไข้ก็ให้หมอเป็นคนรักษาดีกว่าหาซื้อยากินเอง เพราะอาจประหยัดค่าหมอในตอนแรก แต่อาจเกิดผลเสียที่ร้ายแรงในอนาคตได้

คนที่มีเงินมากหน่อยก็เลือกใช้ กองทุนส่วนบุคคล ส่วนคนที่ฐานะปานกลาง ก็เลือก กองทุนรวม เพราะเดี๋ยวนี้กองทุนรวมในเมืองไทยมีแทบทุกอย่าง อยากลงทุนหุ้นเทคโนฯ ก็มี สินค้าโภคภัณฑ์ก็มี health care ก็มี ฯลฯ เลือกได้ตามใจชอบ

แต่ประเด็น คือ จะเลือกกองทุนรวม เลือกอย่างไรดี

การลงทุนให้ได้ผลดี ต้องเลือกลงทุนโดยพิจารณาปัจจัย 3 อย่างให้สอดคล้องกัน คือ

• ตัวเรา
• ภาวการณ์ลงทุน
• ผลิตภัณฑ์การลงทุน

การเลือกกองทุนรวมจึงต้องเลือกให้เหมาะสม สอดคล้องทั้งตัวเราและภาวการณ์ลงทุน อีกทั้งตัวกองทุนที่เลือกก็ต้องดีเหมาะสมด้วย กลยุทธ์ในการเลือกจึงต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1.กองทุนต้องเหมาะสมกับเป้าหมาย ความสามารถในการรับความเสี่ยง และเงื่อนไขหรือข้อจำกัดของผู้ลงทุน เช่น ถ้าเป้าหมายเราคือ การออมเพื่อมีความสำคัญสูง ระยะเวลาการลงทุนสั้น เช่น เงินเราสำรองไว้จ่ายค่าเทอมลูกในเทอมหน้า เราคงไม่เลือกกองทุนที่ให้ผลตอบแทนเยอะแต่เสี่ยง เราคงจะเลือกกจะไปกองทุนที่ไม่เสี่ยงหรือเสี่ยงที่จะขาดทุนน้อย และสามารถถอนได้ง่าย เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น

แต่ถ้าเป้าหมายการออมเพื่อเกษียณอายุ แม้เป้าหมายจะสำคัญและเราก็มีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานมากพอ เช่น 5 ปี 10 ปีขึ้นไป เราก็สามารถไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้นได้เพื่อหวังผลตอบแทนที่มากกว่าเงินเฟ้อ แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องเลือกที่จะกระจายความเสี่ยงด้วยการเลือกกองทุนที่หลากหลายประเภท ดังนั้นในพอร์ตของเราควรมีกองทุนรวมหุ้น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ฯลฯ โดยปรับสัดส่วนกองทุนแต่ละประเภทให้เหมาะสมกับแต่ละคน

2.เลือกภาวการณ์ลงทุนให้เหมาะสม หรือ ที่เรียกว่า “Thematic Themes” ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การลงทุนแบบ Thematic Themes จะมุ่งหวังผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวนั้นจะเน้นไปที่แนวโน้มสำคัญที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเศรษฐกิจ เทคโนโลยี กฎหมาย นโยบายภาครัฐ และสังคมในระยะยาว เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, เทรนด์เทคโนโลยี, การพัฒนาของสังคมเมือง (Urbanization), การพัฒนาด้านสาธารณสุขและการแพทย์, นโยบายของธนาคารกลาง, FinTech ฯลฯ

3.เลือกกองทุน การเลือกกองทุนรวม ก็เพื่อให้เหมาะสมกับตัวเราและภาวะการลงทุนนั่นเอง ประเด็นที่หลายคนสงสัยก็คือ ระหว่างตัวเรากับภาวการณ์ลงทุน ควรให้น้ำหนักปัจจัยไหนมากกว่ากัน หากเป็นการลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาว ควรให้น้ำหนักกับปัจจัยผู้ลงทุนคือตัวเรามากกว่า

อย่างเช่น กรณีการบริหารเงินออมเพื่อจ่ายค่าเทอมลูกในเทอมหน้า ต่อให้วันนี้ตลาดหุ้นตกลงไปมาก เราก็ไม่ควรนำเงินออมก้อนนี้มาลงทุนในหุ้น เพราะมีความเสี่ยงสูง หากไม่เป็นอย่างที่คิด อาจส่งผลกระทบต่อการศึกษาของลูกได้ ดังนั้นหลักข้อแรกก็คือ

    a. เลือกประเภทกองทุน ดูนโยบายการลงทุนว่าเหมาะสมกับเราหรือไม่ หากเหมาะสมก็ดูว่าเหมาะสมกับภาวการณ์ลงทุนหรือไม่
    b. ดูพอร์ตการลงทุนของกองทุนว่ามีสัดส่วนลงทุนในหลักทรัพย์ที่สอดคล้องกับนโยบายมากน้อยเพียงใด และยังสามารถดูหลักทรัพย์ที่กองทุนเลือกลงทุนได้ด้วยว่าเป็นหลักทรัพย์ที่ดีหรือไม่
    • c.

การลงทุน คือ การลงทุนในวันนี้เพื่อผลตอบแทนในอนาคต ผลตอบแทนที่ควรสนใจ คือ ผลตอบแทนที่เราได้รับจริงๆ คือ ผลตอบแทนที่หักค่าใช้จ่าย และ ภาษีไปแล้ว ดังนั้น เราจึงควรเลือกลงทุนใน

    • i.

กองทุนที่ได้รับประโยชน์ทางภาษี เพราะเท่ากับเราได้รับประโยชน์จากภาษีเป็นผลตอบแทนพิเศษนอกเหนือจากผลตอบแทนจากกองทุน

    ii. กองทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ ซึ่งก็จะมีค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน เช่น ค่าธรรมเนียมขาย ค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนกองทุน กับค่าธรรมเนียมที่คิดจากกองทุน อย่างเช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ ฯลฯ ควรเลือกกองทุนที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำ
    • d.

พิจารณาจากผลการดำเนินงานของกองทุนรวม

    สำหรับการพิจารณาผลตอบแทนเปรียบเทียบในแต่ละกองทุนนั้น กองทุนที่ดีควรมีผลการดำเนินงานดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้เปรียบเทียบและค่าเฉลี่ยของกองทุนประเภทเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ และควรพิจารณาผลการดำเนินงานในระยะเวลาการลงทุนให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ระลึกคำเตือนของสำนักงาน ก.ล.ต. ไว้เสมอนะ ที่ว่า “ผลตอบแทนในอดีตมิใช่สิ่งยืนยันผลตอบแทนในอนาคต…” แต่การที่กองทุนมีประวัติการลงทุนมายาวนาน จะทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของผลการดำเนินงานในแต่ละช่วงเวลาว่าบริษัทจัดการกองทุนมีความสามารถในการบริหารจัดการเงินลงทุนของเราได้ดีมากน้อยเพียงใด
    • e.

พิจารณาขนาดกองทุน ข้อดีของกองทุนที่มีขนาดใหญ่

    คือ การกระจายหลักทรัพย์ที่ลงทุน อำนาจต่อรองกับบริษัทหลักทรัพย์ในการได้หุ้นจองดีๆ และช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายคงที่ต่อหน่วยลงทุนได้ สว่นข้อเสีย คือ อุ้ยอ้ายเหมือนคนอ้วนจะปรับเปลี่ยนหลักทรัพย์ได้ไม่คล่องตัวเท่ากองทุนที่มีขนาดเล็ก ส่วนกองทุนที่มีขนาดเล็ก ก็จะมีข้อดี ข้อเสียตรงข้ามกับกองทุนที่มีขนาดใหญ่ดังที่กล่าวมาแล้ว
    • f.

พิจารณานโยบายการจ่ายเงินปันผล ดีสำหรับคนที่ต้องการกระแสเงินสดจากการลงทุน แต่มีข้อเสียคือ เงินปันผลของกองทุนรวมต้องเสียภาษี

4.ดังนั้น การเลือกลงทุนในกองทุนรวมแม้จะมีผู้จัดการกองทุนมาช่วยบริหารเงินลงทุนให้เราก็ตาม แต่ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเลือกกองทุนที่ถูกต้องและเหมาะสมกับเรา ส่วนจะหาข้อมูลกองทุนรวมได้ที่ไหน สมัยนี้มีหลายเว็บ หลายเพจที่ให้ข้อมูลกองทุน แถมวิเคราะห์ให้อีกด้วย สนใจกองทุนไหน ค่อยไปดูข้อมูลลึกๆของบริษัทจัดการนั้นโดยตรง เสียเวลาศึกษาสักนิด ดีกว่าเสียเงิน

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : บันได 10 ขั้นสู่ความสุขในวัยเกษียณ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : วัยเกษียณ ความเสี่ยงที่หนีพ้นถ้าตายก่อน
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : ยิ่งเกิด covid ยิ่งกังวลเรื่องเงิน
ความจริงความคิด : การบริหารความเสี่ยงในการลงทุน