โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย
เฟดประกาศขยายขนาดงบดุล ด้วยการพิมพ์เงินซื้อ ตั๋วเงินคลัง (T-bills) 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน เริ่มตั้งแต่ 15 ต.ค. – 15 พ.ย. และต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสสองปี 2020 เป็นอย่างน้อย โดยแต่ละเดือนอาจปรับเปลี่ยน อัตราการซื้อ และ ดูเรชั่น
นอกจากนี้ เฟดยังจะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดเงินผ่านธุรกรรม term repo สองครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และ overnight repo ทุกวัน วันละไม่น้อยกว่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ เพื่อการันตีความพอเพียงของปริมาณเงินสำรองในระบบธนาคาร หลังประสบปัญหาสภาพคล่องตึงตัว หนุนดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างแบงก์พุ่งขึ้น จนเฟดต้องทำ repo รัวๆเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องมหาศาลเข้าสู่ระบบ ตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา
“ไม่ใช่ QE” Jerome Powell ย้ำๆๆจนมันแทบจะกลายเป็น “ชื่อ” ของมาตรการนิรนามชุดนี้แล้ว! ประธานเฟด เตือนนักลงทุน “อย่าสับสน” เพราะการซื้อตั๋วเงินคลังซึ่งเป็นตราสาร “ระยะสั้น” แทบไม่มีผลต่อการตัดสินใจใช้จ่ายของครัวเรือนและธุรกิจ แตกต่างจาก “มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ” หรือ Quantitative Easing ที่เฟดเคยใช้กอบกู้เศรษฐกิจภายหลังวิกฤตการเงินโลกนั้น ถูกออกแบบมาเพื่อกดดอกเบี้ย “ระยะยาว” กว่านี้ โดยมีเป้าหมายหลักคือ กระตุ้นการกู้ยืมและการลงทุน
“ขอบคุณมาก” ผมอยากบอก Powell สั้นๆ แทนใจนักลงทุนทั่วโลก โดยไม่สนว่ามาตรการชื่ออะไร เพราะวันแรกที่ประกาศออกมาก็ช่วยรักษาโรค inverted yield curve ในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯให้หายได้อย่างฉับพลัน! ส่วนต่างยีลด์คู่สำคัญพลิกกลับมาบวกคือ ยีลด์ 10 ปี > ยีลด์ 3 เดือน ครั้งแรกนับตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.
แน่นอนว่าส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากข้อตกลงการค้า สหรัฐฯ-จีน “ฉบับกระเป๋า” (mini-deal) ช่วยหนุนยีลด์พันธบัตรอายุยาวพุ่งขึ้นแรงตามมุมมองเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการนิรนามของเฟดก็ช่วยกดยีลด์พันธบัตรอายุสั้นเอาไว้ ทำให้ curve หาย inverted อย่างรวดเร็ว เรื่องนี้มีความหมายมากต่อนักลงทุน เพราะช่วยขจัด “สัญญาณถดถอย” ตัวสำคัญ อันส่งผลกระตุ้นความต้องการสินทรัพย์เสี่ยง
ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า ควรเป็น “แนวโน้มหลัก” นับจากปัจจุบันไปจนถึงปีหน้า ด้วยเหตุผลดังนี้
1) เพิ่มขนาดงบดุล = พิมพ์เงินเพิ่ม ดอลลาร์จึงควรมีแนวโน้มด้อยค่าลง (อ่อนค่าลง) ตามกลไก อุปสงค์-อุปทาน
2) ภาวะ Risk On นักลงทุนอยากซื้อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น จึงลดความต้องการพันธบัตรสหรัฐฯและเงินดอลลาร์
3) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ “อัตราเร่ง” หาได้ในประเทศอื่นๆที่ไม่ใช่สหรัฐฯ “กลับทิศ” จากช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯโตโดดเด่น เพราะ สงครามการค้ากดดันนานาประเทศหนักกว่าสหรัฐฯ พอเรื่องคลี่คลาย ประเทศเหล่านั้นจึง “ได้เฮ” มากกว่า นอกจากนี้ หลายประเทศยังสามารถกระตุ้นการคลัง (ลดภาษี เพิ่มการใช้จ่าย) เพื่อสนับสนุนการเติบโตได้มากกว่า สหรัฐฯ ซึ่งชิงลดภาษีและใช้จ่ายมือเติบจนกระเป๋าแทบฉีกไปตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว กระแสเงินทุน (fund flows) จึงน่าจะหมุนออกจากตลาดสหรัฐฯ ที่โตเลยจุดพีคมีแต่จะชะลอลง แล้วไปเข้าสู่ตลาดอื่นๆที่เริ่มมี “สตอรี่” ของการฟื้นตัวดีกว่า!
4) นโยบายการเงิน เฟดยังผ่อนคลายได้อีกมาก เพราะเพิ่งลดดอกเบี้ยไป 2 ครั้ง เหลือให้ลดได้อีก 7 ครั้งกว่าจะถึงจุดต่ำสุดเดิม แทบไม่มีธนาคารกลางใดในโลกที่จะลดดอกเบี้ยได้มากเท่านี้!
5) Makeup Strategies ความพยายามพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ที่มุ่งผลักดันระดับราคาให้กลับขึ้นไปสู่แนวโน้มระยะยาว คือต้องดันเงินเฟ้อให้เร่งขึ้นเกิน 2% ชั่วระยะเวลาหนึ่ง จะส่งผลให้เฟดต้องผ่อนคลายและอัดฉีดสภาพคล่องมากขึ้นอีกในปีหน้า
6) ดอลลาร์ “แข็งเกินไป” overvalued ราว 6% – 12% ตามรายงานของ IMF ที่เปิดเผยตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. ผ่านมาแล้วเกือบ 3 เดือน dollar index แข็งค่าขึ้นอีกกว่า 1% ดังนั้น การอ่อนค่าลงจากระดับปัจจุบัน จึงมีปัจจัยสนับสนุนในแง่ราคา
กลยุทธ์ลงทุน เพื่อรับประโยชน์จากการขยายขนาดงบดุลของเฟด และแนวโน้มดอลลาร์อ่อนค่า
KT-EMEQ รวมถึงกองทุนหุ้นที่เน้นตลาดเกิดใหม่ อาทิ KT-CHINA, KT-INDIA, KT-ASEAN ดอลลาร์อ่อนค่า ส่งผลให้สกุลเงินตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ขับเคลื่อน fund flows ไหลกลับเข้าสู่ Emerging Markets รอบนี้ถึงเวลาของ “หุ้น” ด้วยมุมมองเศรษฐกิจที่จะค่อยๆดีขึ้น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นตลอดจน สหรัฐฯ-จีน พักรบด้านการค้า
KT-GOLD, KT-PRECIOUS การลงทุนใน ทองคำ รวมถึง หุ้นเหมืองทองและธุรกิจเกี่ยวกับโลหะมีค่า ช่วยกระจายความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนที่คงมีอยู่ในระยะสั้น นอกจากนี้ ยังได้รับประโยชน์จากแนวโน้มระยะยาว อาทิ ดอกเบี้ยต่ำยาวนาน ดอลลาร์อ่อนค่า ตลอดจนหนี้สาธารณะที่พอกพูนขึ้นทั่วโลก อันเป็นผลจากกระแสประชานิยมที่แพร่กระจายและรุนแรงขึ้น
สุดท้าย…ทนไม่ไหว ผมขอตั้งชื่อมาตรการของเฟดครั้งนี้ว่า (ใช่แล้ว…ชื่อหัวข้อนั่นแหละ) #QEแอบ
คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน