MTS มองทองคำขาขึ้นทดสอบ 1,600 เหรียญสิ้นปี 62

HoonSmart.com>> “เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก” มองแนวโน้มราคาทองคำขาขึ้นทดสอบ 1,600 เหรียญสหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปีนี้ หากสหรัฐฯและจีนเจรจาการค้ายังไม่ลงตัว 100% ด้านเงินบาทแข็งคาดไม่หลุด 30 บาท

นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการฝ่ายบริหารกลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก กล่าวถึงมุมมองต่อการลงทุนทองคำในช่วงไตรมาสที่ 4/2562 ว่า จากสภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมาทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่เข้ามากระทบต่อราคาทองคำและกระทบต่อนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งบนเงื่อนไขของสงครามการค้า ที่น่าจะยังมีต่อเนื่องไปตลอดจนสิ้นปีหรือปีหน้า จึงประเมินทิศทางทองคำจะเป็นแนวโน้มขาขึ้น ที่มีโอกาสทดสอบ 1,600 เหรียญในช่วงสิ้นปีนี้

“ณ ขณะนี้ (25 ก.ย.) ราคาอยู่แถวระดับ 1,530 เหรียญ และ MTS Gold วิเคราะห์ว่าราคาน่าจะสามารถ Breakout จุดสูงสุดเดิมในเดือนที่แล้ว 1,548 เหรียญได้โดยมีเงื่อนไขว่า การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ-จีน จะต้องไม่สามารถตกลงกันได้แบบ 100% รวมไปทั้งเงื่อนไขของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง, อีซีบีมีการอัดฉีดเม็ดเงิน 2 หมื่นล้านยูโร และ อังกฤษยังเผชิญกับ Brexit ช่วงปลายเดือนต.ค. รวมถึงความไม่แน่นอนของการลงทุนในตลาดหุ้นก็จะน่าจะยังมีอยู่”นพ.กฤชรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตามนักลงทุนอาจจะพบการแกว่งตัวของราคาทองคำตลอดเวลา ซึ่งเป็นทั้งจังหวะและโอกาสในการเข้าซื้อหรือขาย ในส่วนของราคาทองคำไทยจะมีแนวรับสำคัญ 21,600 บาท/บาททองคำ และมีโอกาสขึ้นไปทดสอบ 23,000 บาท/บาททองคำได้ในช่วงสิ้นปี โดยวิเคราะห์ว่าค่าเงินบาทเองน่าจะไม่แข็งค่าหลุดระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ลงมา เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ได้ดีไปกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเทียบเคียงค่าเงินดอลลาร์กับค่าเงินบาท ซึ่งเงินบาทจะมีการแข็งค่าลงมาอย่างรวดเร็วมากกว่าสภาวะเศรษฐกิจจริงๆของประเทศ

สำหรับราคาทองคำตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึง 15 ก.ย. 62 จะมีการปรับตัวสูงขึ้นจากสภาวะ 3 ประเด็นหลักของโลกคือ 1) สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ 2) การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด จากเดิมที่จะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต้นปี กลายมาเป็นปรับท่าทีลดดอกเบี้ยตั้งแต่เดือน 4 เป็นต้นมา และเฟดก็ปรับลดดอกเบี้ยในรอบกว่าทศวรรษเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนก.ค. ที่ผ่านมา และล่าสุดจะเห็นได้ถึงการปรับลดนโยบายของดอกเบี้ยของเฟดที่ผ่านมาแล้วครั้งที่ 2 ในช่วงเดือน 17-18 ก.ย. และทำให้นโยบายดอกเบี้ยหลักอยู่ที่ 1.75% และ 3) ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง อันจะเห็นได้จากการอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน ญี่ปุ่น รวมไปถึงยุโรป