โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย
BlackRock บริษัทจัดการลงทุนใหญ่ที่สุดในโลก สัปดาห์ที่ผ่านมาได้นำเสนอรายงาน “Dealing with the next downturn” ชี้ว่า นโยบายการเงิน และ นโยบายการคลัง แบบเดิมๆที่ใช้บริหารเศรษฐกิจโลกมายาวนานอาจถึง “ทางตัน” เพราะดอกเบี้ยปัจจุบันต่ำกว่าในอดีตมาก ตราสารหนี้ในโลกทุกวันนี้มียีลด์ต่ำเป็นประวัติการณ์หรือ “ติดลบ” อยู่แล้ว
ดังนั้น ความสามารถของบรรดาธนาคารกลางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยหรือทำ QE จึงแทบไม่มีเหลือ! ด้านรัฐบาลเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง ฉวยจังหวะที่ดอกเบี้ยต่ำมาก “กู้เพิ่ม” จัดงบขาดดุล ลดภาษี เพิ่มการใช้จ่าย มันก็ดีอยู่หรอก… ทว่าการดำเนินนโยบายการคลังมักไม่คล่องตัว มีผลข้างเคียงทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น อีกทั้งอาจถูกมองว่า “ยืมเงินอนาคตมาใช้” ทั้งๆที่หนี้เยอะอยู่แล้ว วันหนึ่งก็คงต้องกลับไปรัดเข็มขัด พอเอกชนคิดอย่างนี้เลยไม่กล้าใช้จ่าย นโยบายการคลังแบบเดิมๆจึงไม่น่าจะได้ผลเท่าที่ควร
แจกซะ(MM)ที! บิ๊กกองทุนโลกเสนอแนวทางใหม่ “แจกตรง” (Going Direct) เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจในช่วงขาลงยุคนี้ โดยแนะให้ธนาคารกลางอัดฉีดเงินตรงใส่มือรัฐบาลและเอกชน โดยไม่ผ่านกลไกดอกเบี้ยแบบเดิม แถมชี้ประเด็น “ประเทศที่กู้เงินในสกุลของตนเอง สามารถก่อหนี้มากขึ้น เพราะพิมพ์เงินใช้หนี้ได้” …พอเห็นข้อความทำนองนี้ ใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวของนโยบายเศรษฐกิจโลก คงจะนึกถึงสิ่งอื่นไปไม่ได้นอกจาก…
MMT: Modern Monetary Theory …ไม่เกี่ยวอะไรกับรถใต้ดิน MRT …ไม่ใช่สิ่งใหม่ (Modern) …ไม่ใช่นโยบายการเงิน (Monetary) …นักวิชาการกระแสหลักไม่นับเป็นทฤษฎี (Theory) เสียด้วยซ้ำ! “แนวคิดนอกคอก” ซึ่งเป็นประเด็นร้อนฉ่าในแวดวงเศรษฐกิจการเงินโลกปี 2019 ตั้งอยู่บนสมมุติฐานสำคัญคือ “ถ้าประเทศใดพิมพ์เงินได้ไม่จำกัดก็ไม่ต้องกังวลเรื่อง หนี้ต่อจีดีพี เพราะถึงอย่างไรก็พิมพ์เงินใช้หนี้ได้” รัฐบาลควรใช้นโยบายการคลังเชิงรุก เพิ่มการใช้จ่าย-ลดภาษี เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ
ส่วนธนาคารกลางควรกำหนดดอกเบี้ยต่ำๆ ถ้าเงินเฟ้อสูง ธนาคารกลางก็ไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ย แต่ให้รัฐบาลขึ้นภาษีแทน ทั้งนี้ MMT ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยนักการเมืองพรรคเดโมแครต เพื่อเป็นคำตอบของการจัดหาเงินจำนวนมหาศาลมาใช้จ่ายในโครงการลงทุนและสวัสดิการขนาดยักษ์ รวมถึง “ยกหนี้” “แจกเงิน” ซึ่งผู้สมัครบางรายใช้หาเสียงชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคที่จะลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปี 2020
กระแสแรงขึ้น! ฝ่ายหนุน-ฝ่ายต้าน ถกเถียงกันมานานจนกระทั่ง เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงมาก ดูเหมือนช่วยให้คนเปิดใจรับ MMT กันง่ายขึ้น เห็นได้จากมุมมองของนักลงทุนใหญ่ๆ นอกจาก BlackRock ก็มี PIMCO “ขาใหญ่ตลาดตราสารหนี้” ชี้ว่า ญี่ปุ่น มีหนี้ต่อจีดีพีสูงสุดในโลก ตามหลักต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง? แต่ยีลด์พันธบัตรญี่ปุ่นกลับต่ำติดลบ เพราะพิมพ์เงินได้ ขณะเจ้าหนี้รายใหญ่สุดของรัฐบาลคือ BOJ จึงไม่มีใครกังวลว่าญี่ปุ่นจะผิดนัดชำระ ซึ่งตรงตามหลักการ MMT
นอกจากนี้ Ray Dalio ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates บริษัท Hedge Fund ใหญ่สุดในโลก เขียนบทความช่วงต้นเดือน พ.ค. ชื่อ It’s Time to Look More Carefully at “Monetary Policy 3 (MP3)” and “Modern Monetary Theory (MMT)” เปิดมุมมองภาพกว้างของ MMT ในแง่ส่วนผสมนโยบายหลากหลายรูปแบบ แถม Dalio ยังชี้ชัดๆอีกว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน ซึ่งแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ จะผลักดันให้นโยบายทำนองนี้ถูกหยิบมาใช้ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความเปลี่ยนแปลงมักนำมาซึ่ง “โอกาสลงทุน” ต่อไปนี้คือ สมมุติฐานในกรณีที่ MMT (หรือสิ่งคล้ายๆกัน) เกิดขึ้นจริง
1. ประเทศพัฒนาแล้วยักษ์ใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ, ยูโรโซน, ญี่ปุ่น สามารถใช้ MMT เพราะเป็นเจ้าของสกุลเงินหลักของโลก
2. เศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอย/เงินเฟ้อต่ำ เพิ่ม “แรงจูงใจ” ให้นำ MMT มาใช้ในบางรูปแบบ (แม้ไม่ยอมรับตรงๆว่าใช้)
3. Peer Pressure “เปิดเกม = เปิดทาง” เมื่อเศรษฐกิจใหญ่ๆเริ่มกระตุ้นแรงขึ้น จะผลักดันให้รัฐบาลอื่นๆ “ตัดสินใจง่ายขึ้น” ที่จะออกมาตรการกระตุ้นเพิ่ม แม้ส่วนใหญ่คงใช้นโยบายการคลังรูปแบบเดิม แต่ก็เพียงพอแล้วที่จะช่วยให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นได้
4. เงินอ่อนค่าลง น่าจะเป็นผลข้างเคียง (หรือจุดประสงค์แอบแฝง) จากการทำ MMT เพราะมีการพิมพ์เงิน และเมื่อประกอบกับสมมุติฐานข้อ 1. ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้คือ USD, EUR, JPY น่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง
5. ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ส่วนใหญ่คงใช้นโยบายคลังแบบเดิม สกุลเงินจึงน่าจะมีแนวโน้มแข็งค่ากว่าตลาดพัฒนาแล้ว มุมมองดังกล่าวดึงดูดเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ รอบนี้ควรเข้าตลาดหุ้น เพราะเศรษฐกิจดูดีขึ้นตามข้อ 3.
6. ทองคำ ได้ปัจจัยหนุนระยะยาวจาก MMT เพราะในภาวะที่ธนาคารกลางพิมพ์เงินกระดาษ (fiat money) ปริมาณมากๆ เช่น ช่วงทำ QE มักกระตุ้นให้นักลงทุนต้องการเข้าซื้อ “สกุลเงินที่ไม่มีแบงก์ชาติพิมพ์เงิน” คือ ทองคำ และ cryptocurrencies ขณะที่ มาตรการกระตุ้นการคลังแบบเดิม จะเพิ่มระดับหนี้สาธารณะ ซึ่งหนุนความต้องการทองคำเช่นกัน