HoonSmart.com>>”หุ้นยั่งยืน” อาจเป็นหุ้นที่บางคนมีอยู่ในพอร์ต แต่ก็อาจเพิ่งเป็น “หุ้นเข้าตา” ของใครหลายคน หลังสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) นำเสนอแนวทางการจัดตั้ง “กองทุนหุ้นยั่งยืน” (Sustainable Equity Fund หรือ SEF) เข้ามาทดแทน “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)” ที่กำลังจะหมดอายุให้สิทธิทางภาษีสิ้นปี 62 นี้
หากภาครัฐอนุมัติกองทุน SEF จะทำให้เม็ดเงินไหลเข้ากลุ่มหุ้นยั่งยืน ตามข้อเสนอ FETCO ซึ่งได้เข้าพบรมว.คลังเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา กำหนดนโยบายการลงทุนในกลุ่มหุ้นยั่งยืน ซึ่งพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) และจะลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน นับรวมทั้งสองส่วนจะมีสัดส่วน 65% และอีก 35% เปิดให้ลงทุนอิสระ ถือเป็นปัจจัยบวกหนุน Sentiment ตลาดหุ้นไทย
สำหรับหุ้นยั่งยืนของไทย หากพิจารณาจากดัชนี SETTHSI หรือ SET Thailand Sustainability Investment ซึ่งสะท้อนการเคลื่อนไหวราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งมีขนาดและสภาพคล่องผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด ปัจจุบันมีหุ้นเข้าเกณฑ์และถูกคำนวณในดัชนี 53 ตัว ซึ่งมีผลระหว่างวันที่ 1 ก.ค.2562-31 ธ.ค.2562 โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาหลักทรัพย์เข้า-ออกทุกๆ 6 เดือน
เกณฑ์ในการคัดเลือก
– เป็นบริษัทที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนปีล่าสุดซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
– เป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
– มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free-float) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้ว
– จำนวนหุ้นซื้อขายไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนของบริษัท เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 9 ใน 12 เดือน
– ไม่จำกัดจำนวนหลักทรัพย์ในดัชนี
ปัจจุบัน “การลงทุนแบบยั่งยืน” กลายเป็นรูปแบบการลงทุนที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก
ขณะที่ในไทยยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก โดยกองทุนรวมหุ้นไทยในปัจจุบันที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่ให้ความสำคัญกับการดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance : CG ) และการลงทุนแบบยั่งยืน (ESG) มีจำนวน 17 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินทรัพย์ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ข้อมูล ณ สิ้นเดือนพ.ค.2562 จากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) โดยกองทุนส่วนใหญ่เน้นเรื่อง CG เป็นหลัก ซึ่งมีเพียง 4 กองทุนที่เป็นกองทุน ESG
ส่วนหุ้นที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี อาจพิจารณาจากการจัดอันดับ CG Scoring ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีหุ้นที่อยู่ในการพิจารณาของกองทุนรวม (CG Fund Investment Universe) จำนวน 197 บริษัท ข้อมูล ณ 2 พ.ค.2562 และจากข้อมูลที่ผ่านมาส่วนใหญ่หุ้นที่มีธรรมาภิบาลเหล่านี้มักให้ผลตอบแทนที่ดี
ด้านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของไทย (Infrastructure Fund) ซึ่งลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยในวงกว้าง ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีจำนวน 7 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินรวมราว 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งมีการลงทุนแตกต่างกันไปตามนโยบายของกองทุน ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เส้นใยแก้วนำแสง, ระบบขนส่งรถไฟฟ้าและโรงไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งล่าสุดมีกองทุนน้องใหม่กองทุนโรงไฟฟ้าซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี่ เพิ่งปิดการขาย IPO ไปเมื่อสิ้นเดือนก.ค.ที่่ผ่านมา
ไม่ว่าบทสรุปของกองทุน SEF ลดหย่อนภาษีรูปแบบใหม่ที่จะมาแทนที่กองทุน LTF จะออกมาเป็นอย่างไร หากมองในแง่ของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น “หุ้นยั่งยืน” หุ้นมีธรรมาภิบาล หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ล้วนน่าสนใจในการลงทุนไม่น้อย เพราะแต่ละบริษัทมุ่งมั่นในการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล จากการทำธุรกิจที่ไม่ได้เน้นความฉาบฉวย แต่เพื่อเติบโตยั่งยืนในอนาคต
ในระหว่างรอความคืบหน้าจากกระทรวงคลังว่าจะเคาะกองทุน SEF ออกมาหรือไม่? และออกมาในรูปแบบไหน? ควรเริ่มทำความเข้าใจและรู้จักการลงทุนประเภทต่างๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมของตัวเอง