HoonSmart.com>>ธปท.คุมเข้มสินเชื่อ-แบงก์ระมัดระวังให้กู้ยืม พ่นพิษตลาดตราสารหนี้ ธุรกิจแห่ระดมทุนเพิ่มขึ้นผิดปกติ การใช้เงินอิสระไม่มีการตรวจสอบ เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ พบวิธีหมุนหนี้ ออกหุ้นกู้ซื้อที่ดินใช้เป็นหลักประกันขอสินเชื่อ คนซื้อตราสารหนี้ไม่ปลอดภัย จาก ข้อมูลเว็บไซต์ ก.ล.ต. ไตรมาส 1/62 พบออกหุ้นกู้ยาวเพิ่มขึ้นเป็น 2.79 แสนล้าน โดยเฉพาะบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ 30 แห่ง ขาย 1 แสนล้านบาท ส่วนตราสารหนี้สั้นมีการเสนอขาย 1.25 แสนล้าน
แหล่งข่าวจากวงการตราสารหนี้ เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มมีความกังวลเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้ หลังจากพบว่า ในไตรมาส 1/2562 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ธุรกิจมีการออกมาเสนอขายมากขึ้นผิดปกติ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากสาเหตุที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควบคุมการปล่อยสินเชื่อ และธนาคารพาณิชย์เองก็ระมัดระวังการให้กู้ยืม เพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสีย
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการหมุนหนี้ในส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือนำเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ ไปซื้อที่ดินและนำที่ดินดังกล่าววางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ หากธุรกิจเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ผู้ซื้อตราสารหนี้มีโอกาสสูงที่จะได้รับความเสียหาย เพราะไม่มีหลักประกัน และยังน่ากังวลเรื่องการใช้เงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เช่นการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อคืนหนี้เดิม หรือรีไฟแนนซ์ ด้วยจำนวนเงินมากกว่ามูลหนี้ แต่ไม่มีการติดตามว่าได้นำเงินส่วนเกินนั้นไปใช้อะไรบ้าง เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดตรวจสอบ แตกต่างจากการระดมทุนจากตลาดทุน ที่มีการรายงานตลาดหลักทรัพย์ถึงการใช้เงินตามระยะเวลาที่กำหนด
“หากปล่อยให้สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้เคลื่อนไหวเหมือนที่ผ่านมา คนซื้อต้องการผลตอบแทนที่สูง คนขายนำเงินไปหมุนหนี้ อาจจะสร้างความเสียหายกับประชาชนได้ แม้ว่าหุ้นกู้ระยะยาวหรือสั้นส่วนใหญ่ขายให้กับนักลงทุนสถาบันและหรือนักลงทุนรายใหญ่ก็ตาม ซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ สามารถดูแลความเสี่ยงได้ แต่มีประชาชนส่วนหนึ่งเข้ามาออมเงินผ่านตลาดตราสารหนี้ เพื่อต้องการผลตอบแทนที่สูง ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ” แหล่งข่าวกล่าว
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการปรับปรุงข้อมูลเว็บไซต์ในการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (open data) การระดมทุนย้อนหลัง 10 ปี ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ ในส่วนข้อมูลรายไตรมาส พบว่า ไตรมาส 1/2562 มีการออกตราสารหนี้ระยะยาว 300,607 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการออกหุ้นกู้ 279,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระยะเดียวกันปีก่อนมีจำนวน 245,740 ล้านบาท และ 142,661 ล้านบาทในไตรมาส 4/2561 อีกทั้งยังพบว่ามีการขายประชาชนทั่วไปมากขึ้นอย่างชัดเจน เป็น 64,180 ล้านบาท
ส่วนบริษัทที่ออกขายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มากที่สุด จำนวน 166,927 ล้านบาท แต่เป็นที่น่าสังเกตุบริษัทนอกตลาด จำนวน 30 บริษัท ก็เสนอขายไม่น้อย คิดเป็นมูลค่า 119,307 ล้านบาท ส่วนตราสารหนี้ระยะสั้น บริษัทนอกตลาดมีการระดมทุนอีกจำนวน 125,625 ล้านบาทในไตรมาส 1/2562
ภาพรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ส่วนใหญ่เป็นตั๋วเงิน 189,443 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 40% ของมูลค่าตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออก 266,769 ล้านบาท และเป็นหุ้นกู้ระยะสั้น 67,045 ล้านบาท บริษัทที่ออกเป็นบจ.ใน SET อยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 24,982 ล้านบาท
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธาน สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เปิดเผยว่า สมาคมสินเชื่อฯ มองแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในครึ่งปีหลังนี้น่าจะชะลอตัวลง จากผลกระทบมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (LTV) ของ ธปท. จากนี้อาจเห็นการปรับตัวของลูกค้าในการเตรียมตัวเก็บเงินดาวน์ รวมถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยเชื่อว่าอัตราการเปิดตัวโครงการใหม่น่าจะลดลงจากปีก่อน และน่าจะเห็นการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าอย่างชัดเจนมากขึ้น
“ปีนี้คาดว่าการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะเติบโต 4-5% ลดลงจากปีก่อนที่มีการเติบโตในระดับ 7-8% แต่ในครึ่งปีแรกโต 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ วันที่ 1 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา” นายกิตติกล่าว