โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
ต่อจาก 2 ตอนที่แล้วได้พูดคุยกันเกี่ยวกับ ความเสี่ยงทางเครดิต (Default Risk หรือ Credit Risk) คือ ความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารหนี้จะเบี้ยวหนี้ คือ ผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นให้กับเจ้าหนี้ (ผู้ลงทุน) และอันดับ 2 ความเสี่ยงด้านราคา (Price Risk หรือ Interest Rate Risk หรือ Market Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลให้ราคาตราสารหนี้มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีความผันผวนด้วย วันนี้เรามาต่อกันที่ความสี่ยงของตราสารหนี้กันต่อครับ
มาถึง ความเสี่ยงอันดับที่ 3 คือ ความเสี่ยงจากการลงทุนต่อ (Reinvestment Risk) คือ ความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนไม่สามารถนำดอกเบี้ยที่ได้รับจากตราสารหนี้ไปลงทุนต่อภายใต้อัตราผลตอบแทนระดับเดิมที่เคยได้รับ พูดง่ายๆ ก็คือ ความเสี่ยงที่ดอกเบี้ยของดอกเบี้ยไม่เท่ากับผลตอบแทนระดับเดิมที่เคยได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้ที่ราคาหน้าตั๋ว (1,000 บาท) ซึ่งมีอายุคงเหลือ 3 ปี และกำหนดอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วเท่ากับ 5.1% ต่อปี
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนดังกล่าวจะได้รับอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงเท่ากับ 5.1% ตลอดช่วงเวลา 3 ปีนั้นก็ต่อเมื่อผู้ลงทุนดังกล่าวได้รับดอกเบี้ยครบทุกงวดตามระยะเวลาที่กำหนด และสามารถนำดอกเบี้ยที่ได้รับไปลงทุนต่อในอัตรา 5.1% เช่นกัน
แต่ถ้าหากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเปลี่ยนแปลงไปไม่เท่ากับ 5.1% จะทำให้การนำดอกเบี้ยที่ได้รับไปลงทุนต่อได้รับผลตอบแทนที่ต่างจากที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.1% ย่อมส่งผลทำให้ผู้ลงทุนได้รับอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงไม่เท่ากับอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังไว้ล่วงหน้า
อย่างตอนนี้ที่ ดอกเบี้ยอยู่ในแนวโน้มขาลง จะทำให้ดอกเบี้ยของดอกเบี้ยที่เราเอาไปลงทุนต่อลดน้อยลง ทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของเราต่ำกว่าผลตอบแทนที่คาดการณ์ไว้ได้ แต่ถ้าดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาขึ้น ดอกเบี้ยของดอกเบี้ยที่เราเอาไปลงทุนต่อก็จะมากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของเราดีกว่าผลตอบแทนที่คาดการณ์ไว้ได้
สังเกตได้อย่างหนึ่งว่า ดอกเบี้ยของดอกเบี้ยจะแปรผันตามดอกเบี้ยในตลาด ดอกเบี้ยในตลาดขึ้นดอกเบี้ยของดอกเบี้ยจะขึ้น ดอกเบี้ยในตลาดลงดอกเบี้ยของดอกเบี้ยจะลง ซึ่งตรงข้ามกับราคาตราสารหนี้ที่แปรผกผันกับดอกเบี้ยในตลาด ดอกเบี้ยในตลาดขึ้นดอกเบี้ยราคาตราสารหนี้จะลง ดอกเบี้ยในตลาดลงราคาตราสารหนี้จะขึ้น
ความเสี่ยงอันดับที่ 4 คือ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) คือ ความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนไม่สามารถขายตราสารหนี้ในจังหวะเวลาและราคาที่เหมาะสมได้ หรือหากต้องการจะซื้อขายจริงๆ ก็ต้องมีการเพิ่มหรือลดราคาตราสารหนี้ เพื่อดึงดูดให้มีการตกลงซื้อขายเกิดขึ้น ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องนี้จะมีมากกับตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง คือ ซื้อง่ายแต่ขายยาก หรือขายไม่ได้ราคา แต่หากเป็นพันธบัตรรัฐบาล ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องก็จะน้อย ดังนั้นหากจะซื้อตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงๆ ก็ต้องเผื่อด้วยว่าหากจำเป็นต้องขาย จะขายได้หรือไม่ ขายยังไง และขายได้ราคาเท่าไร
ความเสี่ยงอันดับที่ 5 คือ ความเสี่ยงจากสิทธิแฝงในตราสารหนี้ (Option-embedded Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากสิทธิแฝงต่างๆ ในตราสารหนี้นั้น เช่น หุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารต่างๆ ที่ธนาคารมีสิทธิไถ่ถอน ณ สิ้นปีที่ 5 การให้สิทธิในการเรียกคืน(ไถ่ถอน) ตราสารหนี้ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถคาดการณ์กระแสเงินสดที่จะได้รับได้อย่างแน่นอน เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าธนาคารจะเรียกคืนหรือไม่
แต่โดยทั่วไปมักจะเรียกคืนเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงจนต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่ระบุไว้ เพราะผู้ออกตราสารหนี้จะได้ลดภาระดอกเบี้ยที่สูง ทำให้ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงจากการลงทุนต่อ เพราะหากนำเงินที่ได้รับคืนกลับมาไปลงทุนใหม่จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าเดิม
ความเสี่ยงอันดับที่ 6 คือ ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งจ่ายกระแสเงินสดเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ลงทุนที่ถือครองตราสารหนี้ดังกล่าวไม่สามารถคาดการณ์กระแสเงินสดที่จะได้รับในอนาคตเป็นสกุลเงินตราท้องถิ่นได้อย่างแน่นอน เนื่องจากกระแสเงินสดดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น
ตัวอย่างนี้คงเห็นได้ชัดจากหลายกองทุนต่างประเทศในอดีตที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลีย หรือ นิวซีแลนด์ และไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ ทำให้มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน แม้กองทุนยังได้รับดอกเบี้ยจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ครบถ้วน แต่เมื่อคำนวณกลับมาเป็นเงินบาทไทยแล้ว พบว่า NAV ของกองทุนลดลง จากการตีราคาสินทรัพย์ในราคาตลาด (Mark to Market)
นอกจากความเสี่ยงต่างๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับตราสารหนี้อื่นๆอีกหลายอย่าง เช่น ความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อหรืออำนาจซื้อ (Inflation Risk หรือ Purchasing power Risk), ความเสี่ยงจากผลกระทบของเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิด (Event Risk), ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้ (Legal Risk), ความเสี่ยงจากการลงทุนโดยขาดความรู้เกี่ยวกับตราสารหนี้ (Black – box Risk) ซึ่งเราควรจะต้องศึกษาให้ดีก่อนลงทุน
อย่าลืมคำเตือนของ ก.ล.ต. ที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” เป็นคาถาที่ดีสำหรับการลงทุนและใช้ได้กับทุกการลงทุน ไม่ใช่เฉพาะกับกองทุนรวมเท่านั้น
อ่านประกอบ
ความจริงความคิด: รู้จักความเสี่ยงของตราสารหนี้ก่อนเลือกลงทุน
ความจริง ความคิด : รู้จักความเสี่ยงของตราสารหนี้ก่อนเลือกลงทุน (2)