โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
ครั้งที่แล้วเราได้พูดคุยกันเกี่ยวกับ ความเสี่ยงทางเครดิต (Default Risk หรือ Credit Risk) คือ ความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารหนี้จะเบี้ยวหนี้ คือ ผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นให้กับเจ้าหนี้ (ผู้ลงทุน) กันไปแล้ว วันนี้เรามาต่อความสี่ยงอันดับที่ 2 ของตราสารหนี้กันต่อครับ
สำหรับความเสี่ยงอันดับที่ 2 คือ ความเสี่ยงด้านราคา (Price Risk หรือ Interest Rate Risk หรือ Market Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลให้ราคาตราสารหนี้มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีความผันผวนด้วย ราคาของตราสารหนี้มักจะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด เพราะโดยทั่วไป อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้มักจะกำหนดคงที่แน่นอน สมมติ หุ้นกู้ธนาคาร A ให้ดอกเบี้ย 5%/ปี เป็นต้น
ดังนั้น หากดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้น ผู้ที่จะลงทุนในตราสารหนี้ก็จะคาดหวังดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่จะลงทุนสูงขึ้นตาม แต่เนื่องจากดอกเบี้ยที่ตราสารหนี้จะให้กำหนดคงที่ดังได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นผู้ที่จะซื้อตราสารหนี้ก็จะต่อรองกับผู้ขายตราสารหนี้เพื่อซื้อตราสารหนี้ในราคาที่ถูกลง เพื่อว่าเมื่อคิดจากราคาซื้อที่ถูกลง แต่ได้รับดอกเบี้ยตามที่กำหนดเหมือนเดิม ก็เท่ากับผลตอบแทนที่ได้เพิ่มขึ้น
ตัวอย่างเช่น หุ้นกู้ธนาคาร A ให้ดอกเบี้ย 5%/ปี เกิดดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มเป็น 6%/ปี ถ้ามีคนมาขายหุ้นกู้ธนาคาร A ให้เรา เราคงไม่ยอมซื้อที่ราคาหน้าตั๋วแน่ๆ เพราะเราสามารถหาผลตอบแทนได้ที่ 6%/ปี อยู่แล้ว เรื่องอะไรมาเอาดอกเบี้ยที่ 5%/ปี
ดังนั้น ถ้าเราจะซื้อหุ้นกู้ธนาคาร A เราก็จะยอมซื้อถ้าราคาหุ้นกู้ธนาคาร A ถูกลงจนอยู่ในระดับราคาที่ว่าเราได้ดอกเบี้ยจากต้นทุนที่ลดลงไม่ต่ำกว่า 6%/ปี ในทางกลับกัน หากดอกเบี้ยในตลาดลดลง ราคาตราสารหนี้ก็จะเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างเช่น หุ้นกู้ธนาคาร A ให้ดอกเบี้ย 5%/ปี เกิดดอกเบี้ยในตลาดลดลงเป็น 4%/ปี ถ้าเราไปขอซื้อหุ้นกู้ธนาคาร A คงไม่มีใครยอมขายที่ราคาหน้าตั๋วแน่ๆ เพราะหากเขาขาย เขาไปลงทุนใหม่ก็จะได้ดอกเบี้ยแค่ 4%/ปี ดังนั้นเรื่องอะไรที่เขาจะยอมเสียดอกเบี้ยที่ 5%/ปี มาเอาดอกเบี้ยที่ 4%/ปี เว้นแต่ว่าเราให้ราคาที่จะซื้อหุ้นกู้ธนาคาร A เพิ่มสูงขึ้น เขาก็จะยอมขายถ้าราคาหุ้นกู้ธนาคาร A เพิ่มสูงขึ้นจนอยู่ในระดับราคาที่ว่ากำไรที่ได้จากการขายหุ้นกู้ธนาคาร A กับดอกเบี้ยที่คาดว่าจะได้จากการลงทุนที่ใหม่ที่ 4%/ปี รวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 5%/ปี
ทีนี้ สิ่งที่สำคัญก็คือ ตอนเราซื้อ เราก็คาดหวังว่าจะได้ดอกเบี้ยให้มากที่สุด ส่วนคนออกตราสารหนี้มาขายก็คาดหวังว่าจะจ่ายดอกเบี้ยให้น้อยที่สุด ดังนั้นใครจะได้กำไรกว่ากันก็ขึ้นอยู่กับว่าใครคาดภาวะดอกเบี้ยในอนาคตได้แม่นยำกว่ากัน
แต่สิ่งที่สังเกตได้ง่ายๆ ก็คือ ถ้าคนออกตราสารหนี้คาดว่าดอกเบี้ยในอนาคตจะปรับเพิ่มขึ้น ก็จะออกตราสารหนี้ที่มีอายุยาวขึ้นเพื่อล็อคต้นทุนถูกๆเอาไว้นานๆ ดังนั้นถ้าช่วงไหนมีคนออกตราสารหนี้ระยะยาวออกมาเยอะๆ แสดงว่าคนส่วนใหญ่คิดว่าดอกเบี้ยกำลังจะขึ้น
ส่วนคนซื้อก็ต้องพิจารณาให้ดีก่อนลงทุนนะครับ ว่าดอกเบี้ยที่ได้รับเพิ่มจากการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวตอนนี้อาจดูมากกว่าดอกเบี้ยระยะสั้นที่ได้ แต่หากดอกเบี้ยในตลาดปรับเพิ่มขึ้นจริงๆ ดอกเบี้ยที่ได้รับเยอะตอนนี้จะกลายเป็นดอกเบี้ยถูกไปทันที และตอนนั้นถ้าเราไม่อยากกินดอกเบี้ยต่ำไปเรื่อยๆ ก็อาจต้องยอมขายขาดทุนก็เป็นได้ครับ
แต่สิ่งที่เป็นจริงก็คือ ไม่ค่อยมีใครคาดการณ์ภาวะดอกเบี้ยได้แม่นยำครับ ตัวอย่างเช่นตอนปีที่แล้ว ทุกคนยังคาดการณ์กันอยู่เลยว่าดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น และคาดการณ์กันต่างๆนาๆว่าธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยกี่ครั้งในปีนี้และปีหน้า มาตอนนี้กลับคาดการณ์กันว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดดอกเบี้ยแทนซะอีก แถมตอนแรกก็คาดว่าจะปรับลดเยอะ
แต่พอตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของอเมริกาในเดือนมิถุนายนออกมาดีกว่าคาด ก็เริ่มมีการปรับการคาดการณ์ (อีกล่ะ) ว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจจะไม่ปรับลดดอกเบี้ยมากอย่างที่คาดกันเอาไว้
ส่วนดอกเบี้ยในเมืองไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ และลดมากเท่าไหร่ เราคงต้องดูกันต่อไปครับ สุดท้ายแล้วดอกเบี้ยในตลาดจะขึ้นหรือจะลง คนไหนคาดการณ์แม่นก็จะได้ประโยชน์ไป
แต่หากเราเป็นคนที่ถือตราสารหนี้จนครบอายุ ก็ไม่ต้องกังวลครับ ความเสี่ยงประเภทนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนที่มีการซื้อขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนดไถ่ถอนเท่านั้น แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนที่ถือครองตราสารหนี้นั้นไว้จนครบกำหนด เนื่องจากตราสารหนี้เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนได้ มูลค่าเท่ากับราคาหน้าตั๋วครับ
อ่านประกอบ
ความจริงความคิด: รู้จักความเสี่ยงของตราสารหนี้ก่อนเลือกลงทุน