โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
ตอนนี้มีการคาดการณ์แนวโน้มว่าทิศทางดอกเบี้ยอาจปรับลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากสงครามการค้า ประกอบการเมืองไทยเองแม้จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ความมั่นคงของรัฐบาลที่ยังทำให้นักลงทุนยังไม่มั่นใจในเศรษฐกิจไทยเท่าไหร่นัก
ดังนั้น การเลือกลงทุนในหุ้น แม้จะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แต่ในระยะสั้น การลงทุนในวันนี้อาจเป็นการลงทุนที่ไม่ถูกจังหวะก็เป็นได้
เมื่อการลงทุนในหุ้นมีความน่าสนใจลดน้อยลง การลงทุนที่ดีในช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยขาลง ก็คือ การลงทุนในตราสารหนี้ จะเห็นได้ว่าหลายๆบริษัท หลายๆสถาบันการเงินต่างก็เสนอตราสารหนี้โดยเฉพาะหุ้นกู้เพื่อเป็นทางเลือกในการออมเงินให้ผู้มีเงินออมอีกทางหนึ่ง
เมื่อมีหุ้นกู้ออกมามากในช่วงนี้ คำถามคือ หุ้นกู้คืออะไร และเราจะเลือกได้อย่างไรว่าหุ้นกู้ตัวไหนเหมาะกับเรามากที่สุด (ผมไม่ใช้คำว่าดีที่สุด เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ดีที่สุดนั้นไม่มี เมื่อมีข้อดีหนึ่งอย่าง ก็จะมีข้อเสียอีกอย่างเสมอ)
มาคำถามแรกคือ หุ้นกู้ คือ อะไร หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง ซึ่ง ตราสารหนี้ คือ สัญญาการกู้ยืมเงิน โดยผู้ออกตราสารจะอยู่ในฐานะลูกหนี้ ตกลงที่จะจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดๆ และคืนเงินต้นให้แก่ผู้ซื้อตราสาร (ผู้ลงทุน) ในฐานะเจ้าหนี้ ก็เหมือนที่เราฝากธนาคารนั่นแหละ เราเป็นเจ้าหนี้ ธนาคารเป็นลูกหนี้
จะดูว่าหุ้นกู้ตัวไหนเหมาะกับเรา เราต้องเข้าใจก่อนว่า เมื่อเราซื้อตราสารหนี้เท่ากับเราเป็นเจ้าหนี้ปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ออกตราสารหนี้ซึ่งเท่ากับเป็นลูกหนี้เรา เราจึงจำเป็นต้องพิจารณาดูว่าการซื้อตราสารหนี้ครั้งนี้เสี่ยงหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน เช่น ลูกหนี้เราจะเบี้ยวหนี้เราหรือไม่ ถ้าเราต้องการเงินใช้ฉุกเฉินจะถอนตราสารหนี้เหมือนถอนเงินฝากได้หรือไม่ ฯลฯ
ดังนั้น เราจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิยามของความเสี่ยงของตราสารหนี้กันก่อน ตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงด้านเครดิต ฯลฯ
ความเสี่ยงด้านเครดิต (Default Risk หรือ Credit Risk) คือ ความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารหนี้จะเบี้ยวหนี้ คือ ผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นให้กับเจ้าหนี้ (ผู้ลงทุน) แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าหุ้นกู้ที่เราลงทุนมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน
เรื่องนี้สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งคอยคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างพวกเราจึงออกข้อบังคับให้ผู้ออกตราสารหนี้ ต้องให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเมินความเสี่ยงของตราสารหนี้ โดยการให้อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) (อันดับความน่าเชื่อถือจะเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความสามารถของผู้ออกตราสารหนี้ในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนเต็มจำนวนตรงตามเวลาที่กำหนด รวมทั้งยังบอกถึงความสามารถในการปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ของผู้ออกตราสารหนี้ได้อย่างครบถ้วน)
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ ที่ประกาศโดยสถาบันจัดอันดับเครดิตในประเทศ 2 ราย คือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเรียงตามลำดับจากอันดับเครดิตที่สูงที่สุด อย่างเช่นของทริสฯ เรียง AAA ดีสุด C เสี่ยงสุด เป็นต้น
ตามมาตรฐานสากลอันดับเครดิตตั้งแต่ BBB ขึ้นไปจนถึง AAA ถือว่าหุ้นกู้ดังกล่าวอยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment grade) ส่วนอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า BBB ลงไป มักเป็นหุ้นกู้ในระดับที่ลงทุนเพื่อเก็งกำไร (Speculative) หากผู้ออกตราสารหนี้ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้อยู่ในระดับต่ำ แสดงว่าผู้ออกตราสารหนี้นั้นมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ค่อนข้างสูง ก็จำเป็นต้องเสนอดอกเบี้ยที่สูงเพื่อดึงดูดให้ผู้ลงทุนสนใจ
แต่หากผู้ออกตราสารหนี้ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับสูง แสดงว่าบริษัทมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ก็ย่อมที่จะเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
ดังนั้นจะซื้อตราสารหนี้อย่าดูแค่ดอกเบี้ยอย่างเดียว เพราะไม่มีใครอยากจ่ายดอกเบี้ยแพงหรอกถ้าไม่จำเป็น เราต้องมองดูด้วยว่ามีความเสี่ยงที่จะเบี้ยวหนี้มากมั๊ย ไม่งั้นดอกเบี้ยที่คาดจะได้ ก็ไม่ได้ แถมเสียเงินต้นอีกเหมือนอย่างเมื่อ 2 – 3 ปีก่อน