รพ.เอกชัย เชื่อ คุมราคายา-เวชภัณฑ์ ไม่กระทบรพ. แนะนักลงทุนอย่าตื่นเชื่อแต่ละรพ.มีทางออก ผู้ถือหุ้นใหญ่ โรงพยาบาลทยอยเก็บหุ้น “บุญ วนาสิน” ซื้อหุ้นธนบุรีฯ 2 ล้านหุ้น “เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์” ซื้อ RJH เฉียด 6 ล้านบาท ก่อนกกร.รับยาและเวชภัณฑ์เป็นสินค้าควบคุมราคา
ราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ปรับตัวดีขึ้น มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น BDMS (กรุงเทพดุสิตเวชการ) ผู้ประกอบการโรงพยาบาลกรุงเทพ ดันราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาปิด 22.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท ขณะที่โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ ยังปรับตัวลงปิดที่ 172 บาท ลดลง 4 บาท
ก่อนหน้านี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารโรงพยาบาล ได้ทยอยซื้อหุ้นเก็บ นับตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงวันที่ 9 ม.ค. นายบุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ทยอยซื้ออย่างต่อเนื่อง รวม 13 รายการ ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 65.34 ล้านบาท ในการซื้อหุ้นจำนวน 2.02 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 32.34 บาทต่อหุ้น ถือว่าใกล้เคียงกับราคาปิดที่ 32.50 บาท สำหรับการซื้อขายภาคเช้าของวันที่ 10 ม.ค. 2562
นอกจากนี้ นายเอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ประธานกรรมการบริษัท โรงพยาบาลราชธานี (RJH) ได้ใช้เงินทั้งสิ้น 5.98 ล้านบาท ซื้อหุ้นจำนวน 317,200 หุ้น ราคาเฉลี่ย 19.29 บาท สูงกว่าราคาในปัจจุบัน ปิดที่ 18.40 บาท
นายพิพัฒน์ เศวตวิลาศ ซื้อหุ้น บริษัทโรงพยาบาล ลาดพร้าว (LPH) จำนวน 150,000 หุ้น ราคา 5.52-5.55 บาท และนายยรรยง อมรพิทักษ์กูล ซื้อหุ้นบริษัทโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) จำนวน 1 แสนหุ้น ราคา 1.86 บาทต่อหุ้น
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน มีมุมมองเชิงลบต่อมติคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพิ่มสินค้าและเวชภัณฑ์ รวมทั้งบริการทางการแพทย์เข้ามาในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม รวมทั้งตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่อหามาตรการดูแลให้มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เนื่องจากรายได้ค่ายาเฉลี่ยของกลุ่มการแพทย์มีสัดส่วนราว 20-30% และรายได้ค่า lab/เวชภัณฑ์มีสัดส่วน 10-15% ทำให้ตลาดกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากรัฐมีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับคุมราคายาและค่าบริการทางการแพทย์
ในเบื้องต้นประเมินกรณีรายได้ค่ายาลดลง -5% จะกระทบประมาณกำไรของกลุ่มประมาณ 5-10% ทั้งนี้โรงพยาบาลที่ให้บริการลูกค้าประกันสังจะมีฐานรายได้ประกันสังคมช่วยลดผลกระทบจากกลุ่มเงินสด โดยมองว่าการปรับตัวลงของกลุ่มการแพทย์เมื่อวานนี้ตอบรับเชิงลบไปพอสมควร
นายแพทย์อำนาจ เอื้ออารีมิตร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอกชัยการแพทย์ (EKH) ผู้ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชัย เปิดเผยว่า กรณี กกร.ขึ้นบัญชีควบคุมราคายา-เวชภัณฑ์ ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดออกมา เชื่อว่า นโยบายดังกล่าวไม่กระทบธุรกิจรพ.เอกชัย เนื่องจาก เป็นรพ.ชานเมือง อยู่ในเมืองจังหวัดสมุทรสาคร ไม่ได้คิดราคาสูงกว่าที่ควบคุมไว้ หรือกรณีคุมราคากลาง ๆ รพ.เอกชัย คิดราคานั้นอยู่แล้ว จึงเชื่อว่า มีผลกระทบกับรพ. น้อย
นายแพทย์อำนาจ กล่าวว่า ปกติธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน มีกำไรสุทธิประมาณ 10-15 % ของรายได้ ถือว่าไม่มาก โดยต้นทุนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูง อยู่ที่บุคลากรทางการแพทย์ เช่น หมอ ,เภสัชกร มีความเป็นไปได้ที่ต้นทุนบุคลากร จะเพิ่มขึ้นและไปเพิ่มภาระให้กับคนไข้ ชดแทนราคายา-เวชภัณฑ์ที่ถูกควบคุม ซึ่งรพ.แต่ละแห่ง มีวิธีการไม่เหมือนกัน
อ่านประกอบ
รพ.เอกชัย ชี้คุมราคายาไม่กระทบ เชื่อแต่ละรพ.มีทางออก แนะอย่าตื่นตูม